SECTION
ABOUTTHE LAST WORD
The Last Word
31 สิงหาคม 2567
คำว่า Optimise นั้นคือหนึ่งคำที่ยากจะหาคำแปลได้เทียบเท่าในภาษาไทย แต่ในโลกที่มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน กล่าวได้ว่า Optimise น่าจะเป็นหนึ่งคำที่สามารถเป็นหัวใจของทุกการกระทำของมนุษย์ ผู้ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางข้อจำกัด
ไม่ว่าจะในภาพใหญ่ของสังคมหรือภาพย่อยของปัจเจก
เพราะโดยสารัตถะ คำว่า Optimise บ่งบอกถึงความพยายามจัดสรรทรัพยากรที่แต่ละคน แต่ละหน่วย แต่องค์กร แต่ละประเทศมีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา เงินตรา หรือพลังงานใดๆ มาใช้สร้างผลลัพธ์อันเป็นเป้า ประสงค์ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จะเห็นได้ว่า สำหรับธุรกิจ การ ‘ออพติไมส์’ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เข้าเป้า ควบคุมต้นทุนปฏิบัติการให้ไม่รั่วไหล บริหารห่วงโซ่อุปทาน และกลยุทธ์การตลาดให้มีประสิทธิภาพ ย่อมนำไปสู่คุณค่าที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้บริโภค โดยยังให้ผลกำไรแก่ธุรกิจ
ทำนองเดียวกัน สำหรับปัจเจก การตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัว ครอบครัว และการงานให้ได้สมดุล จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยการบริหารตารางเวลา และจัดสรรความสำคัญของเรื่องราวให้เป็นไปอย่าง ‘ออพติไมส์’ เพราะหากทำได้ ความรู้สึกอิ่มเอมและพึงพอใจในชีวิตก็จะบังเกิด
กล่าวถึงที่สุด กระทั่งเรื่องใหญ่ของสังคมอย่างปัญหาสภาพภูมิอากาศ การศึกษา สาธารณสุข หรือการบ้านการเมืองในทุกมิติ จะแก้ไขได้โดยยั่งยืนก็ต่อเมื่อมีการ ‘ออพติไมส์’ จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องไปกับบริบทเท่านั้น
ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ ในฐานะองค์กรทางการเงินที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดสรรทรัพยากรให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จึงได้เลือกคำว่า Optimise ขึ้นมาเป็นชื่อนิตยสาร เพื่อนำเสนอข้อมูลและเรื่องราวที่เชื่อว่าจะมีส่วนสร้างความเป็นไปที่ดีกว่า สำหรับลูกค้า ผู้อ่าน และสังคม ครอบคลุมแทบทุกหัวข้อสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ ศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ฯลฯ
เพราะในที่สุดแล้ว การจัดสรรทรัพยากรหรือ Optimise ไม่ว่าสำหรับเรื่องใดๆ จะเป็นไปได้ดีเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้อมูลและความคิดอันเป็นจุดเริ่ม โดยได้ให้ความสำคัญกับการร้อยเรียงประเด็นเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์ และอรรถรสสูงสุดแก่ผู้อ่าน ตั้งแต่เรื่องราวการกิน-ดื่ม-เที่ยวร่วมสมัย บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ-การลงทุน และแน่นอน บทสัมภาษณ์จากปก ที่เราเชื่อว่าบรรจุ ‘คุณค่า’ อันเพาะบ่มมาจากประสบการณ์ที่ยากจะพบผ่าน
ในวันนี้ที่ Optimise ได้ทำหน้าที่นั้นมาครบ 9 ปีแล้ว ปรัชญาที่ก่อกำเนิดนิตยสารได้ชี้นำให้เห็นว่าการนำเสนอคุณค่าให้กับลูกค้า ผู้อ่านและสังคมยังอาจทำได้หลากหลายกว่าเพียงการตีพิมพ์หนังสือกระดาษ การเดินทางของ Optimise จึงมาถึงจุดสิ้นสุดลง
เราจึงขอส่งท้ายความรำลึกด้วยเรื่องราวจาก 9 ปีแห่ง Optimise
ไม่ใช่เพียงในฐานะหนังสือ แต่ในฐานะ ‘แนวคิด’ และ ‘คุณค่า’ ที่เรายังอยากให้คงอยู่สืบไปยาวนานแม้หลังจากวันนี้
บรรยง พงษ์พานิช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
“ทุนนิยมยอมรับว่ามนุษย์เห็นแก่ตัว ดังนั้นจึงปล่อยให้คนทำมากได้มาก แล้วหันไปสร้างกฎเกณฑ์ที่จะควบคุมไม่ให้การทำมากได้มากนั้นมันถึงขั้นทำลายตัวเอง แถมทำให้ความเห็นแก่ตัวกลับมารวมกันเกิดพลังที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อีก แน่นอนมันยังไม่สมบูรณ์ แต่ระบบทุนนิยมมันก็ยังไม่ตายตัว ทุกวันนี้มันยังอยู่ในระหว่างแก้ไขตัวเองตลอดเวลา คนส่วนใหญ่มักจะยกข้อบกพร่องของทุนนิยมขึ้นมาแล้วก็ยี้ มันทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผมเห็นว่านี่แหละคือกระบวนการปรับตัวของมัน มันวิกฤตเพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุง”
ถกลเกียรติ วีรวรรณ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)
“อย่างเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่คนบอกว่าเป็นธีมของละครผมหลายเรื่อง ก็เพราะผมเห็นว่านี่คือความดีงามที่ทำให้สังคมมันดีขึ้น อยากให้คนตระหนักถึงสิ่งที่เป็นเสาหลักของบ้านเมือง สิ่งที่คํ้าจุนเรามา สิ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ คือเราจะไปข้างหน้าได้เราต้องมีภูมิหลัง ไม่อย่างนั้น เวลาเราเดินไปข้างหน้า มันจะเหมือนเริ่มใหม่ไปเรื่อยๆ หาอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งผมว่ามันทำให้ หนึ่ง ประสบการณ์จากอดีตเสียประโยชน์สูญเปล่า และสอง ทำให้เราเดินไปอย่างไม่มีจุดหมาย”
อธิไกร, กรณ์ และ อนุตร
สามพี่น้องแห่งตระกูลจาติกวณิช
อธิไกร : “คำว่า rich เป็นตัวเลข เอาหลักทรัพย์ทุกอย่างมารวมกันก็จะเป็น rich แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่คือคำว่า wealthy คือ การมีสมดุลในชีวิต มีอิสระที่จะทำในสิ่งที่อยากทำ ใช้ชีวิตกับครอบครัวในแบบที่อยากใช้ ใช้ชีวิตกับเพื่อนในแบบที่ต้องการ นี่คือ wealth ซึ่งผมว่าเราสามคนไม่แพ้ใครในเรื่องนี้ ในเรื่อง rich เราอาจจะห่างไกลกับคนอื่นเยอะ แต่ความ wealthy ของชีวิต ไม่น่าจะมีได้ดีกว่านี้อีก เรามีเพื่อนที่สุดยอด มีพี่น้องที่ไม่ต้องทะเลาะกัน และเจอกันโดยสมัครใจแม้ไม่ได้มีกงสี”
อนุตร: “อีกอันคือ เราไม่เป็นหนี้บุญคุณใคร มีอิสระ เราอยากทำอะไรทำ ไม่ใช่ทำเพราะเป็นหนี้บุญคุณเขา”
กรณ์: “เราไม่ได้มีเยอะ แต่รู้สึกว่าไม่ขาดอะไร”
อธิไกร: “แต่คนอื่นอาจจะคิด มึงมีแค่นี้ก็พอแล้วเหรอ (หัวเราะ)”
กรณ์: “และต้องมีคนคิดว่า ก็พวกมึงมีเยอะอย่างนี้ แล้วยังจะต้องอยากได้อะไรอีก”
พิเชษฐ กลั่นชื่น
ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง
“ในสังคมที่เปลี่ยน ทุกคนต้องแอคทีฟ ทุกคนต้องเรียนรู้ ไม่มีใครอยู่นิ่งได้ ถ้าเมื่อไหร่เรายอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลง มันจะทำให้เรามีสิ่งที่เป็นความรู้มากขึ้น มีอะไรให้เรียนรู้มากขึ้น ทำให้สังคมเราพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ทุกคนจะไปดูงานศิลปะ จะไปดูการแสดง ทุกคนจะอ่านหนังสือ ทุกคนจะยอมรับนักคิด นักเขียนมากขึ้น แต่ประเทศเรามหัศจรรย์มาก แทนที่เราจะตัดสิ่งที่ทำให้เรานิ่งเฉยออกไป เรากลับตัดนักคิดนักเขียนทิ้ง คนที่เป็นปัจเจกทิ้ง คนที่มีความชัดเจนทิ้ง คนพวกนี้อยู่ประเทศนี้ไม่ได้เลย เพราะจะทำให้ คนส่วนใหญ่ที่ไม่แอคทีฟอยู่ไม่ได้”
ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
“ความสงบเป็นความสำคัญลำดับแรก เหมือนนั่งเรือไปแล้วเจอพายุ รัฐบาลก็เอาสมอทะเลโยนลงไป เรือมันก็วิ่งช้า แต่มันก็นิ่งกว่าแยะ คนก็ถามทำไมไม่พยายามวิ่งไปกับ growth ให้สุดไปเลย ก็มี 2 คำตอบ หนึ่งคือเขาคิดว่าวิ่งเลย แต่ข้างล่างมัน unstable เขาก็พังก่อน กับสอง ต่อให้ต้องการวิ่งเลย ใครจะวิ่ง ในฐานะผู้นำ คุณก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไง ใส่สมอเรือไว้นานๆ เรือมันก็ไปไหนช้า ดีไม่ดีมันก็ล่มเหมือนกันนั่นแหละ เพราะมันอยู่ในพายุนานขึ้น”
ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
‘เภสัชกรยิปซี’ เจ้าของรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะ
“ทำงานไม่ต้องไปคิดว่ามันจะสำเร็จ จริงๆ ความสำเร็จนี่ ถ้าเราไปแบ่งเป็นตอนๆ ก็สำเร็จทุกวัน อย่างสัญญาว่าจะมาให้สัมภาษณ์ วันนี้ก็ทำสำเร็จแล้ว พรุ่งนี้ก็ค่อยว่ากันใหม่ พรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะถึงก่อนกันยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นก็ทำไปเรื่อยๆ เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น รอให้พร้อม ไม่มีหรอกชาตินี้ ถ้าเราพร้อม ไม่มีอะไร เราก็พร้อมได้ ดัดแปลงได้ทั้งนั้น เรามีสมองอยู่ อย่าไปตันตรงนี้ ถ้าคิดว่าตรงนี้ไม่มี ก็ไม่เอา คิดอะไรไม่ออกแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี”
พระพรหมพัชรญาณมุนี (ฌอน ชยสาโร)
“ความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของ self-interest ถ้าคนคิดคับแคบ งมงาย หรือขาดความเข้าใจตามความเป็นจริง ก็จะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด เวลาคิดว่าทำเพื่อตน ผลออกมาอาจเป็นการทำสิ่งที่ทำลายตนได้
ความจริง อาตมาว่าในบทสวดมนต์ที่เราคุ้นกันดีได้ให้หลักการที่ชัดเจน เวลาเราทำพิธีทางศาสนา เราจะกล่าวว่าทำไป ‘เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน’ อันนี้ชัดมาก คือทำเพื่อ ‘ประโยชน์’ หนึ่ง เพื่อ ‘สุข’ หนึ่ง เพื่อ ‘ข้าพเจ้าทั้งหลาย’ ไม่ใช่แค่ข้าพเจ้า ‘ตลอดกาลนาน’ คือระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้น เป้าหมายพระพุทธศาสนาอยู่ในนี้”
อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ‘ตูน บอดี้สแลม’
นักร้อง นักแต่งเพลง
“ทั้งหมดก็คือก้าวเล็กๆ เหมือนเดิม เราไม่เคยตั้งว่าจากซีดีแผ่นแรก อีก 5 ปีเราต้องไปอยู่แกรมมี่ อีก 5 ปี เราต้องโด่งดัง อีก 5 ปีเราจะต้องมีคอนเสิร์ตในฮอลล์นั้น ในสเตเดียมนี้ มีคนดูเป็นพันเป็นหมื่น มันไม่ได้ถูกวางแผนระยะยาวแบบนั้นเลย สิ่งที่ถูกวางแผนไว้คือโคตรสั้น แผนเอาตัวรอดไปวันๆ ด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ก้าวขึ้นมาได้คือความสุขที่จะทำแต่ละวัน ได้ร้องเพลงของเรา แต่งเพลงของเรา ได้ออกอัลบั้มดีๆ ในแต่ละปีสองปีให้เราภูมิใจ ความสุขทำให้เราก้าวขึ้นบันไดมาเรื่อยๆ จนเวลา 3-4 ปีผ่านไป เราไม่เคยมองย้อนกลับหลังไปเลยว่าเราเดินมาแค่ไหน”
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและอดีตเลขาธิการอาเซียน
“หลักสำคัญคือความใจกว้าง พร้อมจะรับรู้ความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ ฝรั่งเรียกว่า ‘philosophical humility’ คือความรู้สึกถ่อมตนในทางวิชาความรู้ เหมือนกับที่โสเครตีสบอกว่า ‘I know that I know nothing’ เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นเราจึงอยากถามมากขึ้น อยากฟังมากขึ้น อยากเรียนมากขึ้น ถ้าไม่มีทัศนคตินี้ มันจะนำไปสู่สิ่งที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า ‘ตัวกูของกู’ ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ยอมรับว่าคนอื่นอาจจะมีอะไรที่เราน่าจะเรียนรู้ได้ แต่ส่วนตัวโชคดีที่สังคม 2 วัฒนธรรมในวัยเด็กช่วยให้เราเห็นมาแล้วว่าความจริงมันมีมากกว่า 1 ดังนั้นมันทำให้เราพร้อมที่จะถามว่าอะไรคือความจริงในมิติที่ 3 ในมิติที่ 4 ต่อไปอีก”
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
“พระเจ้าอยู่หัวทรงบอกว่าพวกเรา ‘ติดอยู่แค่เปลือกไม่ลงถึงแก่น’ คนไทยประชุมเป็นชั่วโมงๆ บางทีไม่มีข้อสรุป ค้างเติ่งเอาไว้คุยคราวหน้าต่อ เสร็จแล้วก็ตั้งอนุกรรมการ ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 5 ชุด ถ้าคุยกันด้วยแก่นไม่ต้องประชุมกันนานหรอก แต่นี่เราถนัดแต่เรื่องรูปฟอร์ม ชอบรำมวย มีศาสนาพุทธก็รู้แต่กราบพระต้องเบญจางคประดิษฐ์ ฟังพระสวดต้องพนมมือ งานอย่างนี้ต้องพระ 5 องค์ ถ้า 4 องค์สวดศพ แต่ธรรมะมีอะไรบ้าง ไม่รู้ไม่ใส่ใจ กว่าจะลงถึงแก่นสารได้ก็วกวน ปิงวังยมน่าน กันอยู่นั่น”
อานันท์ ปันยารชุน
อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18
“เราไม่พร้อมที่จะคุยกันในเรื่องความแตกต่างทางความเห็น ทุกสิ่งอย่างจะเป็นขาวเป็นดำ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก มีฉันกับเขา มันก็ไม่ทำให้เกิดบรรยากาศของการพูดคุยแบบติดต่อให้เป็น dialogue อาจจะมีข้อยุติหรือไม่ต้องมีข้อยุติก็ได้ มันเป็น on-going process มันไม่ได้มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหา แต่มันมีขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจ ก่อให้เกิดความรู้ที่ดีขึ้น ทีนี้ถามว่าเราสนใจความจริงแค่ไหน เราสนใจความรู้สึกของคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ถ้าเผื่อสุดท้ายทุกอย่างมันยังหยุดอยู่ที่ I, me and myself มันก็ลำบาก”
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
นักเขียนและเจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks
“เรามักจะบ่นเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ มีหลายเรื่องในชีวิตที่ไม่ว่าใครถูกใครผิด ชีวิตก็ไม่เปลี่ยน แล้วคุณเสียเวลาไปถกในเรื่องเหล่านี้เพื่ออะไร พลังงานส่วนใหญ่ที่คุณมี ที่จะใช้เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนเมือง เปลี่ยนอนาคตประเทศ ทำไมคุณไม่ใช้ ในทุกวันนี้ เราเสียเวลาใช้พลังงานไปกับเรื่องที่มันไม่เปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่ว่าใครถูก-ใครผิดเยอะมากๆ ไม่ใช่แค่ระดับปัจเจกนะ แต่รวมถึงสื่อมวลชน สังคมทั้งหมด ถ้าคุณยังใช้พลังงาน และเวลาอันมีจำกัดของชีวิตไปกับเรื่องที่มันไม่เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณและผู้อื่น มันเป็นการสูญเปล่าอย่างไร้ประโยชน์”
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
“ปกติแบงก์ชาติไม่ว่าของประเทศไหน ก็ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพและการเจริญเติบโตประกอบกันในระดับที่เหมาะ คือถ้าเสถียรภาพนิ่งอยู่ระดับต่ำจนเกินไป คนก็ไม่มีความสุข เสถียรภาพมีทั้งที่เป็นจุดต่ำกับจุดสูง เราอยากได้เสถียรภาพที่จุดสูง ไม่ใช่เสถียรภาพที่จุดต่ำ ถ้าเปรียบเทียบอย่างสุดขั้ว คนที่เสียชีวิตก็คือไม่เคลื่อนไหว ไม่แปรปรวน ไม่ผันผวน แต่ก็เสียชีวิต เพราะตาย อย่างนักกอล์ฟโมรียา จะเล่นสม่ำเสมอ ผันผวนน้อย นี่คือที่เราชอบ ถ้าเอาโมรียามาเปรียบเทียบกับผม ผมก็ตีคะแนนไม่ค่อยผันผวน แต่ว่าตีแย่มาก เราอยากได้อย่างโมรียามากกว่าผม คือเสถียรภาพที่จุดสูง”
จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม (ทัศนศิลป์)
“โดยทางสายกลางของพระพุทธศาสนา หรือวิชาใดในโลกนี้ ไม่มีการเรียนลัด ของอะไรที่ได้มาง่ายๆ ย่อมไม่มีความประณีต เมื่อไม่ขึ้นจากโคนจะไปถึงปลายได้อย่างไร ท่านอาจารย์สมชายเคยเอ่ยกับเราว่า ‘เวลาอาจารย์เขียนรูปเป็นใหม่ๆ ขายรูปได้ใหม่ๆ มันดีอกดีใจเหลือเกิน ดีใจว่าทำอย่างนั้นได้ อย่างนี้ได้ เห็นอะไรก็อยากเขียน แต่พอเดี๋ยวนี้ พอชำนิชำนาญขึ้น พอแก่ตัวขึ้น เราจะรู้สึกว่าไม่ได้มีความสนุกสนานเพลิดเพลินในการเขียนเหมือนอย่างแต่ก่อน ไม่ดีใจที่ทำได้ เพราะมันทำได้แล้วเป็นแล้ว แต่เราจะมาดูว่า ดีหรือยัง ถูกหรือยัง อาตมาทุกวันนี้ ก็ทำอยู่อย่างนี้’”
ดร.เสนาะ อูนากูล
อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
“การเมืองก็คือการเมือง เขาทำงานโดยคิดระยะสั้น เราต้องคิดระยะยาว เรื่องความต่อเนื่อง เรื่องความยั่งยืน มันก็มีธรรมชาติที่จะขัดแย้งกันอยู่ในตัว โจทย์จึงเป็นว่าจะทำงานอย่างไรในภาวะแบบนี้ นี่คือโจทย์ ไม่ใช่มัวแต่ท้อแท้ว่าทำไม่ได้ เพราะมันมีทางทำได้ อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ให้โอกาสคุณป๋วย มันก็เริ่มจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่พอเขายื้อ เราก็ต้องรู้จักใช้วิธีผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่อย่างนั้น เทคโนแครต โดนเหยียบตาย สู้ไม่ได้ จุดเริ่มต้นของเมืองไทยในระยะแรกก็ไม่ใช่ง่าย”
ภาณุ อิงคะวัต
ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Greyhound
“คุณรู้ไหมว่าอาร์ตเวิร์กหนึ่งชิ้นแปลว่าแบรนด์ คุณเลือกแว่นนี้ คุณใส่เสื้อตัวนี้ ใช้น้ำหอมกลิ่นนี้ มันเป็นตัวตนของคุณ เพราะฉะนั้น ตัวตนคุณไม่ใช่แปลว่าอะไรก็ได้ คุณจะใช้ไหม น้ำหอมที่ใครก็ไม่รู้มายัดเยียดให้คุณ หอมหวานหรือฉุนกึกไป คุณก็ไม่เอา นี่แหละแบรนด์ แบรนด์ไม่ใช่ว่าถูกๆ โปรโมชั่นๆ แต่มันคือ belief ที่ทำให้ผมหลงเป็นสาวกไปด้วย ต้องใช้อะไรถึงทำให้ผมรู้สึกแบบนั้นได้ นั่นคือโจทย์ที่ทุกคนต้องพยายามเข้าใจ”
ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักคิด นักเขียน และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์
“อุดมการณ์เสรีนิยมจริงๆ เขาเน้นเสรีภาพส่วนบุคคล ก็เพราะเขาเชื่อว่าการปล่อยให้คนมีเสรีภาพ มันจะทำให้คนนั้นสามารถคิด สามารถสร้างเงิน สามารถสร้างความดีให้แก่คนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องถูกขัดขวาง ความสำเร็จในการพัฒนามันมาโดยอัตโนมัติทันทีโดยคนที่เสรี คุณอยากได้เงิน ผมอยากได้เงิน ทุกคนอยากได้เงินหมด ต่างคนต่างหาช่องทางว่าจะได้เงินโดยไม่ผิดกฎหมายยังไง ในที่สุดคนหนึ่งในพวกเราคิดวิธีออกอันหนึ่ง แล้วประสบความสำเร็จ บางคนคิดออกแล้วประสบความล้มเหลวก็มี แต่คนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่คนอื่นเขาจะทำตาม การพัฒนาเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น”
จุลจักร จักรพงษ์ หรือ ‘ฮิวโก้’
นักร้อง นักแต่งเพลง
“มูซาชิเป็นนักดาบที่เก่งที่สุดในทั้งญี่ปุ่น เพราะว่าเขาเข้าใจโลก เขาเข้าใจเรื่องอื่น คนอื่นมัวแต่ไปหมกมุ่นกับการเป็นนักดาบ การเป็นซามูไร การเป็นเจ้า การเป็นอะไร แต่มูซาชิไม่ได้มีโอกาสที่จะคิดแบบนั้น เขาเป็นคนที่เริ่มใช้ดาบสั้น ซึ่งก็ไม่เคยมีใครคิดจะใช้ เพราะมันผิดมารยาท เขาสร้างสไตล์การต่อสู้ขึ้นมาใหม่ แต่เรื่องการต่อสู้มันไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือใจ เขาเข้าใจและยอมรับ และไม่ติดอยู่กับ ideology ของดาบเลย เขาถึงใช้ไม้พายเรือได้ แล้วที่สำคัญมันสอนว่าการเป็นนักดาบที่ดีคือการเป็นคนที่มีเมตตา ไม่ใช่คนที่ฆ่าคน ใครๆ ก็ฆ่าคนได้”
พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ)
หรือ ‘พุทธทาสภิกขุ’
“เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยสนใจที่จะมีเกียรติ ไม่สนใจจะบรรลุถึงนิพพานหรือไม่ เป็นพระอรหันต์หรือไม่ รู้แต่ว่าอยู่อย่างไม่มีทุกข์เรื่อยๆ ไปก็พอแล้ว ทําประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดด้วย ตัวเองก็สบายดีด้วย ทําผู้อื่นให้ได้รับประโยชน์อย่างที่เราได้รับด้วยเรื่อยๆ ไป แค่นี้พอแล้ว จะเป็นอะไรสักแค่ไร ไม่สนใจเรื่องความบัญญัติว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้ เป็นโสดา สกทาคา อรหันต์เดี๋ยวนี้ไม่อยู่ในความสนใจ ไม่อยู่ในความรู้สึก คือความเป็นมันอยู่ในลักษณะที่ว่างจากภพ จนกว่ามันจะดับลงไป เหมือนกับว่าตะเกียงหมดน้ำมัน ไม่ต้องถามว่าไปไหน จบกันแค่นั้นนี้แหละ”
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง
‘กุนซือเศรษฐกิจ 7 รัฐบาล’
“คนในกรุงเทพฯ ถูกปลุกปั่นให้เกลียดชังนักการเมือง นักการเมืองบางคนมีพฤติกรรมที่น่ารังเกียจอย่างนั้นจริง แต่ในระยะยาวเขาจะต้องเปลี่ยน ระบอบจะต้องดำเนินไปในประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่รัฐบาลต้องมาจากความเห็นชอบของประชาชน ส่วนระบอบเผด็จการไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน และไม่ถูกตรวจสอบโดยประชาชน ซึ่งเป็นระบอบที่ไม่มีทางจีรังยั่งยืนตลอดกาล ในที่สุดก็ต้องย้อนกลับมาที่ประชาธิปไตย ดังนั้น มันก็จะทำให้เสียเวลา ไม่ได้ไปไหน ก็อยู่อย่างนี้ เพราะว่าจะเป็นเผด็จการ อย่างทุกวันนี้ตลอดกาล เป็นไปไม่ได้”
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
“ถ้าเป็นนโยบายที่เป็น Win-Win ง่ายๆ ไม่ต้องการนักการเมืองหรอก ข้าราชการประจำเขาทำไปตั้งนานแล้ว แต่เพราะมันเป็นนโยบายที่มีคนได้คนเสีย ถึงต้องให้นักการเมืองตัดสินใจ ผมไม่เคยคิดเรื่องเปลืองตัว ถ้าจะทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันก็ต้องทำ คำว่าเปลืองตัวเป็นคำที่เกลียดที่สุด ตอนที่ทำงานสภาพัฒน์ใหม่ๆ วันหนึ่งทำงานอยู่ที่บ้าน แล้วก็มีเพื่อนบ้านผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นข้าราชการคนหนึ่งมาพูดว่าทำไปทำไม เปลืองตัวเปล่าๆ ให้เขาหลอกใช้น่ะสิ แต่สำหรับเรา การที่ต้องทำงานในวันเสาร์อาทิตย์เพื่อให้งานเสร็จ ถือว่าเป็นการหลอกใช้เหรอ ทำไปแล้วมันเปลืองตัวตรงไหน”
กชกร วรอาคม
ภูมิสถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Landprocess
“เราถึงได้ตั้งชื่อบริษัทว่า Landprocess ไม่ใช่ Landproduct เพราะกระบวนการสำคัญที่สุด การเดินทางสำคัญที่สุด ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง มันอาจจะทุกข์มากเลยกว่าจะได้ในสิ่งที่อยู่จุดหมายปลายทาง แต่ถ้าระหว่างทางหรือระหว่างกระบวนการมันมีอะไร มันอาจจะคุ้มก็ได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว product ดูจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ก็อย่าให้บทสนทนามันไปถึงจุดที่ไม่ประนีประนอม หรือจุดที่ต้องเอาแบบนี้แล้ว ดีไซน์ต้องเป็นแบบนี้แล้ว”
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
นักเขียนและปัญญาชนสาธารณะ
“คุณอนุรักษ์จนหลับหูหลับตา อันตราย ต้นมะม่วงเราต้องรักษาเอาไว้ ถ้าตัดเสียพรุ่งนี้มันก็ตายแล้ว ต้นมะม่วงหน้าบ้านผม อายุเกือบ 70 ปีแล้ว แต่แน่นอนมันต้องมีกาฝาก มีเปลือกกระพี้มันเสีย ก็ต้องแก้ไขรักษาแก่นเอาไว้ คอนเซอเวทีฟเหมือนกัน ศาสนาพุทธ conserve รักษามาตั้ง 2500 ปี จากพระพุทธเจ้า แต่ไม่ radical ตอนนี้ปนกับพวกทุนนิยม บริโภคนิยมกับไสยศาสตร์ ปนกับศักดินา พระตื่นเต้นสมณศักดิ์ เราต้อง conserve เราต้องอนุรักษ์แต่อนุรักษ์แบบมีสติปัญญา อะไรที่สมควรจะรักษาเป็นแก่นก็รักษาไว้ อะไรที่เป็นเปลือกกระพี้ที่จะเสียได้ก็ต้องเสียไป”
ชวน หลีกภัย
อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 20
“ความซื่อสัตย์สุจริตที่มีอยู่ มันเป็นข้อยกเว้นไหม ไม่ใช่ นี่เป็นพฤติกรรมคนทั่วไป บังเอิญเราอาจจะมองไม่เห็น สายการเมืองอะไรนิดหน่อยมันก็เป็นข่าว มันมีข่าวคนประเภทที่เป็นข้อยกเว้นมากกว่า คนที่ซื่อสัตย์มันไม่มีข่าวเลย บางคนอาจไม่มั่นคงพอ มีแรงผลประโยชน์เข้ามาก็ทำให้หวั่นไหวว่อกแว่ก อันนี้ก็ต้องอาศัยการปลูกฝังหรือให้ค่านิยมพื้นฐานที่เข้มแข็ง ผมเล่นการเมืองไม่ใช่เพราะว่าไม่มีงานทำ แต่ผมตั้งใจเป็นนักการเมือง สมัยนั้นผู้ใหญ่ที่หวังดียังทักว่าทำไมชวนคิดสั้น ใครที่เล่นการเมืองไม่มีอนาคต แต่ผมคิดว่าบ้านเมืองมันต้องเป็นประชาธิปไตยสักวันหนึ่ง ระบบทหารมันก็ชั่วคราว”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 21
“การถกเถียงเรื่องนโยบายตามที่ต่างๆ เขาบอกว่าคนมักจะโฟกัสในสิ่งที่เห็น แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือสิ่งที่เราไม่เห็น ตัวอย่างคือ มีเจ้าของร้านคนหนึ่งกระจกหน้าร้านแตก ต้องจ่ายสตางค์เพื่อซ่อมกระจก คนบอกว่าดี เพราะจะได้สร้างงานให้คนติดกระจก นี่เป็นสิ่งที่เห็น แต่สิ่งที่มองไม่เห็นคือ ถ้าเจ้าของร้านไม่ต้องเสียสตางค์มาสร้างกระจก เขาอาจจะเอาเงินไปซื้ออย่างอื่น เช่น รองเท้าและเสื้อ ถ้าบอกว่าประโยชน์จากนโยบายคือคนติดกระจกจะได้เงิน แต่คิดหรือเปล่าถึงสิ่งที่มองไม่เห็นคือคนที่ขายรองเท้าและเสื้อที่ไม่ได้เงิน ดังนั้น การคิดนโยบายต้องดูทั้งของที่เห็นและไม่เห็น”
ประวัติ วะโฮรัมย์
นักกีฬาเหรียญทองพาราลิมปิค 7 เหรียญทอง
“เวลาแข่ง เราไม่ได้สักแต่ว่าแข่งอย่างเดียว เราต้องดูด้วย อะไรที่โค้ชสอนเราเก็บหมด อะไรที่มันผิดพลาดกับตัวเอง หรือที่จะต้องเสริมเข้าไป เราก็จะต้องเก็บมาเป็นข้อมูล เราไปแพ้เขามา แพ้จากอะไร เหมือนเป็นเกม ที่ต่อสู้หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง เราอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงการซ้อมจังหวะเดิมๆ ไม่ได้ ต้องแก้ไข บางทีเราเหมือนรถเสีย เสียก็ต้องซ่อมให้มันดีขึ้น บางทีเหมือนรถซิ่ง ก็ต้องโมให้มันแรงขึ้นอีก ก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล
“ผมจำได้เลยว่าเข้าสภาไปเป็นกรรมาธิการ ขึ้นบัลลังก์ใหญ่ครั้งแรก ข้างๆ เป็นส.ส.พรรคอื่นอยู่มา 30-40 ปี ผมก็ถามเขาว่า insight ของพี่คืออะไรครับ เขาบอก ‘อดทนน้อง’ ก็รู้แล้วว่าระดับความอดทนต้องใหญ่และกว้าง อะไรที่ไม่ยุติธรรมก็ต้องยอมรับ อะไรที่ยังไม่ใช่พื้นที่และเวลาของเรา เราก็ต้องอดทนรอ ความอดทนทำให้ไม่ลุกลี้ลุกลน ใครเอาอะไรมาล่อก็จะไม่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้าสู่อำนาจ กระเหี้ยนกระหือรืออย่างเดียวคือทำให้เกิดผลลัพธ์ได้จริงๆ”
ดร.สุรเกียรติ์ และดร.สันติธาร เสถียรไทย
ดร.สุรเกียรติ์: “การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นอารยธรรมเก่าแก่ แต่ทันสมัยเพราะมันอยู่กับกิเลสของมนุษย์ตลอด ผมก็ไม่รู้ว่ายี่สิบปีข้างหน้า กิเลสหรือความสามารถของมนุษย์จะมีอะไรที่ยิ่งไปกว่า เทคโนโลยี Metaverse จะทำให้เกิดอะไรขึ้น VR จะทำให้เกิดอะไรขึ้น Quantum Computing จะทำให้เกิดอะไรขึ้น แต่มันก็จะยังเป็น การเมืองระหว่างประเทศว่า ใครจะอยู่แนวหน้าในเรื่องพวกนั้น ขัดแย้งกันยังไง แล้วประเทศเล็กๆ อย่างเราจะอยู่ตรงไหน มีผลกระทบต่อปากท้องของเราอย่างไร”
ดร.สันติธาร: “‘ดิสรัปชัน’ มันไม่ใช่อยู่ดีๆ เกิดขึ้นมาเหมือนฟ้าผ่าแล้วโลกมันก็เปลี่ยน ไม่ใช่ มันมีเมฆครึ้ม เมฆดำก่อตัวมานานแล้ว คนที่เป็นตำแหน่งผู้นำรุ่นก่อนอาจไม่ค่อยเห็น เพราะโฟกัสอยู่กับเรื่องการจัดการภารกิจรายวันต่างๆ แต่ในขณะที่เราอาจจะไม่ทันได้ดู มันจะมีคนที่อยู่ใกล้เมฆเหล่านั้นที่มองเห็นและพูดส่งเสียงออกมาอยู่เสมอ ปัญหาคือถ้าเราเป็นผู้นำ เราเลือกที่จะฟังคนพวกนี้ หรือตัดบทบอกว่าเป็น noise (เสียงรบกวน)”
ยืนยง โอภากุล หรือ ‘แอ๊ด คาราบาว’
นักร้อง นักแต่งเพลง
“สมัยก่อนผมยังเด็กอยู่ ไม่ประสีประสากับเรื่องพวกนี้ ผมก็มีความคิดแบบเด็กๆ สมัยนี้ เห็นอะไรไม่เข้าท่าก็ อยากจะโค่น อยากจะล้ม แต่วันนี้ผมอายุมากแล้ว ผมก็เห็นว่าถ้าเรามีเหตุผลมานั่งคุยกัน มันดีกว่ามาเอาชนะคะคาน เพราะถ้าเป็นสงคราม มันไม่มีถูกไม่มีผิดแล้ว มันจะมีแต่ใครชนะ ใครแพ้ แล้วคนชนะก็จะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ สู้เรามาคุยกันดีๆ ดี กว่า”
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
“ผมเรียนรู้จากต่างประเทศว่า intellectual property เป็นจุดกำเนิดของธุรกิจเพลง คนแต่งเพลงสมัยก่อนต้องเอาเพลงมาขายขาดให้กับห้างเพลง แต่ผมไม่---คุณเอามาขายผม ผมก็จ่ายเงินให้คุณเท่ากับพวกที่ซื้อขาด แต่ในขณะเดียวกันผมทำสัญญากับคุณว่าจะแบ่งลิขสิทธิ์ในเพลงนี้ให้ถึงลูกถึงหลานของคุณ นักร้องผมก็อธิบายว่าเขาไม่ได้แค่ค่าร้องเฉยๆ แต่มีลิขสิทธิ์เพลงไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน ดังนั้น เมื่อมีเงื่อนไขนี้ ผมย่อมที่จะหาคนแต่งเพลงที่เก่ง นักร้องที่ดีมาอยู่กับผมได้ โดยที่ผมยังไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเราแบ่งปัน”
พระไพศาล วิสาโล
พระนักเผยแผ่แห่งวัดป่าสุคะโต
“ความต่างคือความสุขจากสิ่งเร้ามันไปสนองกิเลส ทำให้กิเลสเฟื่องฟู ได้แล้วอยากได้อีก ได้สิบอยากได้ร้อย ได้ร้อยอยากได้พัน ได้พันอยากได้หมื่น ไม่รู้จักพอสักที มันถึงไม่มีความสุข สุขชั่วคราว แต่สุดท้ายก็อยากได้อีก แต่ความสุขจากความอิ่มเอม ความสุขจากความสงบ ความสุขจากความภาคภูมิใจ ซึ่งเข้าถึงได้ด้วยการทำความดีหรือทำสิ่งยากๆ ให้สำเร็จ ทำให้รู้จักพอได้ง่าย ความสงบที่เกิดจากสติ ความสงบที่เกิดจากจิตที่โปร่งโล่งเบาสบาย ความสุขที่เกิดจากการปล่อยการวาง มันไม่หวือหวา แต่มันมีคุณค่า เหมือนกับน้ำจืด ไม่มีรสชาติเท่ากับน้ำอัดลม แต่เรากินได้ทั้งวัน”
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล
“ถ้าคุณตระหนัก คุณก็จะพยายามช่วยลดโลกร้อน เพราะคุณรู้ว่าต่อให้คุณมาอยู่ที่พร้อมพงษ์ น้ำก็จะท่วมรถปอร์เช่ของคุณที่มันจอดอยู่เบสเมนต์ ผมรณรงค์ให้คนสงสารธรรมชาติมาสี่สิบปีแล้ว มันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รณรงค์ให้สงสารตัวเองและลูกตัวเองดีกว่าว่า กูจะส่งมึงไปอินเตอร์ทำไม ในเมื่อโลกร้อนเหมือนกัน อันนั้นแหละคือการรณรงค์ที่ดีที่สุด กลับมาที่คำพูดเดิม เมื่อจุดที่เจ็บปวดที่สุดของคุณกำลังโดนชก คุณก็จะต้องตั้งการ์ด แล้วก็ต้องยกมือไหว้ขอโทษกับสิ่งที่คุณเคยทำเอาไว้”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur)
“ทั้งหมดเป็นเรื่องอำนาจ รัฐที่ฐานอำนาจเป็นแนวดิ่งจะสอนแต่ประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ ผมเลยชอบอ่าน alternative history อ่านประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ที่หลากหลายก่อนเชื่อ และในฐานะที่เป็นบุคคลที่ช่วยเรื่องการพัฒนา ผมก็พยายามสร้างคานสมดุลอำนาจ การช่วยเป็นครู การช่วยยูเอ็น ช่วยชาวบ้าน ช่วยเอ็นจีโอ ข้อความที่เขียน จะช่วยทำหน้าที่เป็น คาน check and balance ของอำนาจ ส่วนจะทำในรูปแบบไหน อย่างไรคือศิลปะ”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา และเจ้าของนามปากกา ‘หมอดื้อ’
“สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีโรคเกิดขึ้นแล้ว โรงพยาบาลต้องสร้างเตียงมากขึ้น สร้างโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น 1,500 เตียง 3,000 เตียง มีศูนย์หัวใจ ศูนย์ล้างไตเกิดขึ้นเต็มไปหมด มันปลายทางแล้ว ตัวชี้วัดสำคัญของระบบสาธารณสุขตอนนี้คือมีคนไข้เข้ารับบริการเยอะแค่ไหน แต่ตัวชี้วัดที่เราต้องการคือ ถ้าโรงพยาบาลจังหวัดไหนพบว่า ICU ร้าง OPD มีคนนั่งหร็อมแหร็ม ศูนย์หัวใจ ศูนย์ล้างไตเจ๊ง พินาศหมด เจ้าหน้าที่ต้องมากวักมือให้เข้าไปใช้ ICU นั่นแหละคือ KPI”
นิธิ สถาปิตานนท์
ศิลปินแห่งชาติ ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิก A49
“หนังสือยังเป็น tool ของการทำงานของสถาปนิกในโลกนี้ ยังไม่หมดจากโลก ผมยังเคยปรารภเสมอว่าสถาปนิกที่ดังๆ ในประเทศไทยไม่มีใครทำหนังสือเลย ตายไปแล้วไม่มีหนังสือสักเล่ม สิ่งที่ทำมาทั้งชีวิตไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร น่าเสียดาย ผมจึงบอกให้ทุกบริษัทในเครือทำหนังสือหมด ใครอยากได้ความรู้ก็มาซื้ออ่าน อาจจะเอาไปทำได้ดีกว่าเรา เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมมีความรู้สึกว่า คนมาทีหลังก็ต้องทำดีกว่าคนก่อน ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็ทำได้อีก ทำให้ดีขึ้นไปอีกได้ สมัยก่อนสถาปนิกยุคเก่าหวงวิชา วิชาชีพก็เลยไม่พัฒนา สู้ประเทศอื่นไม่ได้ สู้สิงคโปร์ สู้มาเลเซียไม่ได้ เพราะพวกเขาสะสมความรู้กัน”
ทิชา ณ นคร
ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก
“จริงๆ สำหรับเด็กอายุสิบปีขึ้นไป พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายฟังให้มาก บ้านกาญจนาภิเษก รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะเราฟังเขามากกว่าที่จะอบรมสั่งสอน แน่นอน สิ่งที่เขาพูดไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่มันทำให้เรารู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ แล้วเราก็ค่อยๆ หาเครื่องมือที่ประณีตในการเข้าไปจัดการ แต่ถ้าเราไม่ฟัง เราก็จะไม่รู้ แล้วเราก็จะหาแต่เครื่องหยาบๆ ไปใช้ คำนี้ป้าใช้สอนตัวเองตลอด ‘เยาว์วัยมีไว้ให้ผิดพลาดและการเยียวยาที่ประณีต’”