SECTION
ABOUTADVANCE NOTICE
Tradition Reborn
เมื่อมีคนไปถามหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์แห่งซอยสวนพลู ผู้ที่หลายคนยกย่อง
ให้เป็นปัญญาชนผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในการนิยามความเป็นไทยว่า วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
จากอดีตนั้นถือเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมหรือไม่
อาจารย์คึกฤทธิ์ตอบง่ายๆ ว่า “ความจริงคนไทยโบราณก็นุ่งกางเกง มาเจอผ้านุ่งของแขกเข้า
ก็นุ่งทับกางเกงเข้าไปเรียกว่าสนับเพลา หนักเข้ามันรุงรังนัก เราก็ถอดทิ้ง ถอดกางเกงทิ้ง เหลือแต่
ผ้านุ่งผืนเดียว ในที่สุดแล้วเราก็กลับมานุ่งกางเกงกันใหม่ มันก็ไม่เห็นเสียหาย ยังเป็นไทยกันอยู่นั่นเอง”
ดูเหมือนจะชัดเจนว่า ไม่ว่ายุคไหนๆ Tradition Reborn หรือวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดตัวเองโดยการ ‘กำเนิดใหม่’ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นของยุคสมัยย่อมมีอยู่เสมอ และความจริงก็คือจำเป็นต้องมี หากสังคมอยากเติบโตพ้นวันวานของตัวเอง
Optimise ฉบับนี้จึงมีเรื่องของความงอกงามจากกิ่งก้านเก่าหลากหลายเรื่อง ตั้งแต่การใช้
วัฒนธรรมบาบ๋ามาฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูเก็ต (‘Baba Reborn’) การดัดแปลงอาหารจีน
ในกรุงเทพฯ เพื่อรับความนิยมที่หลากหลายขึ้น (‘China’s New Orders’) การใช้หัตถกรรมไทยสร้างงานฝีมือลักชัวรีในระดับสากล (‘Local Luxe’) และแน่นอนที่สุด บทสัมภาษณ์ร้อนแรง
ของพิเชษฐ กลั่นชื่น กับความพยายามในการนำเสนอ ‘โขน’ และวัฒนธรรมอื่นๆ ของเรา
ให้ร่วมสมัย (‘I am a Demon’)
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจมีคนชอบชังแตกต่างกันไป แต่นั่นเองดูเหมือนจะเป็นเป้าหมาย การเปลี่ยนแปลงมีขึ้นเพื่อให้เกิดการประเมินใหม่ แล้วการประเมินนั้นเองที่จะเติม ‘ชีวิต’ ให้กับวัฒนธรรมได้แท้จริงยิ่งกว่าการอนุรักษ์ใดๆ ดังที่อาจารย์คึกฤทธิ์สรุปไว้ว่า
“ต้องให้การศึกษาให้คนไทยดูวัฒนธรรมไทยด้วยความรู้จักในเรื่องดีเรื่องงาม ไม่ใช่มองวัฒนธรรมของไทยในทัศนะชาตินิยม คือไม่ใช่หลับตาส่งเสริมหลับตาถ่ายทอดว่าอะไรเป็นของไทยแล้วต้องกัดฟันรักษาไว้ให้ได้ ถ้ากระทำเช่นนั้นแล้ว วัฒนธรรมเห็นจะอยู่ไม่รอด”
ขอเชิญช่วยวัฒนธรรมของเราให้อยู่รอด โดยร่วมประเมินความดี ความงามในการเปลี่ยนแปลงของมันไปพร้อมกันครับ
ธนกร จ๋วงพานิช
บรรณาธิการ