HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ADVANCE NOTICE


Beyond The Surface




     ผ้าที่ปรากฏบนปกของ Optimise เล่มนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในผ้าที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุด เพราะเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา หนึ่งในสามสถาบันหลักของชาติ

     แต่พ้นจากการรู้ชื่อเรียกว่า ‘จีวร’ แล้ว อาจมีเพียงน้อยคนทราบว่าผ้าสะอาดสะอ้าน
ที่คนกราบไหว้นี้ แท้จริงถูกตั้งใจออกแบบมาให้ 'เศร้าหมอง' (damaged) กล่าวคือมี
พระวินัยกำหนดให้เย็บเป็นผืนขึ้นเฉพาะจากผ้าที่ตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมูลค่าต่ำ เพื่อให้เหมาะกับการเป็นเครื่องนุ่งห่มของสมณะผู้มักน้อยสันโดษ และคงมีคนน้อยไปกว่านั้นที่จะตระหนักว่าลายตารางที่เห็นบนผ้า ได้เค้ามาจากแปลงนาแคว้นมคธที่พระพุทธเจ้ามีพุทธบัญชาให้พระอานนท์ถอดแบบออกมาเป็นลายจีวร และคงยิ่งน้อยเข้าไปอีกที่จะรู้ว่าแต่ละชิ้นผ้าที่ประกอบเข้าเป็นตาราง ล้วนมีตำแหน่งการเย็บที่จำเพาะเจาะจง และมีชื่อทางเทคนิคทั้งสิ้น เช่น กุสิ อัฑฒกุสิ มณฑล วิวัฏฏะ พาหันตะ ฯลฯ จีวรนับเป็นวัตถุที่แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า สิ่งที่เห็นจนเจนตาอาจมีเนื้อหามากกว่าที่ทุกคนรู้จัก

     และด้วยเหตุนั้น การนำจีวรมาขึ้นปกจึงมีความลงตัวกับ Optimise ฉบับนี้เป็นอย่างยิ่ง

     ประการแรก เพราะเรื่องเด่นฉบับนี้คือการสัมภาษณ์อาจารย์ชยสาโร ผู้โดยสมณสารูปและปฏิปทาขอให้เรางดเว้นจากการใช้รูปของท่านขึ้นปก แต่เนื่องจากผ้ากาสาวพัสตร์คือเครื่องหมายของผู้สงบระงับ การได้เห็นจีวรย่อมไม่ต่างจากการได้เห็นอาจารย์ชยสาโรเอง

     แต่เหนือไปกว่านั้น เรื่องราวรายละเอียดของจีวรที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเรียบง่าย ย่อมอาจสื่อถึงการดำดิ่งไปพ้นพื้นผิวเพื่อทำความรู้จักกับสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมเราอยู่ให้มากขึ้นอันเป็นเนื้อหาของ Optimise ฉบับ Beyond the Surface นี้ เริ่มตั้งแต่บทสัมภาษณ์
คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของปตท. 
ที่บอกเล่าแง่มุมเกี่ยวกับบริษัทไทยระดับโลกแห่งนี้ที่อาจถูกมองข้ามไปภายใต้ความ
ขัดแย้งเรื่องพลังงาน (‘National Treasure’) กำเนิดและความหมายที่แท้จริงของอาหารชาววังที่ทุกคนกล่าวขาน (‘Royal Touch’) และแน่นอนที่สุด บทสัมภาษณ์อาจารย์
ชยสาโรที่เปี่ยมไปด้วยข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับพุทธศาสนา สังคมไทย และชีวิตภายในของมนุษย์ทุกคน (‘Unveiling Buddhism’)

     ในขณะที่โลกทุกวันนี้อาจแผ่ขยายทางกว้างอย่างรวดเร็วโดยอิทธิพลการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี เราเชื่อว่าความรู้ความเข้าใจในทางลึกยังทรงคุณค่า และแท้จริงอาจยิ่งทวีความจำเป็น ดั่งที่จอห์น ดรายเดน Poet Laureate คนแรกของอังกฤษประพันธ์ไว้เป็นที่จดจำว่า “หากอยู่แค่ผิวน้ำ ย่อมพบเพียงสวะฟาง แสวงเม็ดมุกดาสว่าง ต้องดำสมุทรจึงเอื้อมถึง (Errors, like straws, upon the surface flow; He who would search for pearls, must dive below.)”

     สวัสดีปีใหม่ครับ

ธนกร จ๋วงพานิช
บรรณาธิการ