SECTION
ABOUTADVANCE NOTICE
Embracing Openness
เป็นไปได้ว่าหากใครได้ลองพลิกอ่าน Optimise ฉบับนี้เพียง 2 บทความแรก กล่าวคือ ‘รถไฟฟ้าไร้คนขับจะพลิกโฉมการขนส่งภายใน 15 ปี?’ ของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ และ ‘เทคโนโลยีกับการลงทุน’ ของดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ก็อาจนำมาสู่ความรู้สึกว่าโลกใบนี้ไม่ใช่โลกที่เคยรู้จักอีกต่อไป สุดยอดนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เมื่อก่อนเป็นเพียงความน่าตื่นเต้นในห้องแล็บอันห่างไกล ปัจจุบันได้มีราคาถูกลง และแพร่ไปในอุตสาหกรรมกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ จนในอนาคตอันใกล้ รถไร้คนขับและปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีของหนัง sci-fi หากเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบแสนสามัญในชีวิตคน
กระนั้น ในระหว่างที่ประเทศไทยยังต้องวุ่นอยู่กับเรื่องภายใน เช่น การปฏิรูปที่ต้องเกิดก่อน-เกิดหลังการเลือกตั้ง เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ราคาข้าว ราคายาง หรือแม้กระทั่งเรื่องน้ำท่วมถนนอยู่อย่างทุกวันนี้ นับเป็นเรื่องยากที่เราจะได้มีเวลาคิดเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ห้อมล้อมเราอยู่ได้อย่างตกผลึก เพราะปัญหาภายในแต่ละเรื่องที่กล่าวมา ถึงจะไม่ใช่เรื่องระดับโลก ก็ล้วนต้องสิ้นเปลืองกำลังเงิน กำลังความคิด หรือกำลังทางการเมืองเข้าจัดการจนแทบไม่มีเวลาพอไปคิดทำอย่างอื่นทั้งสิ้น
น่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่ได้มีทางเลือก บทสัมภาษณ์ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน (‘Higher Purpose’) บ่งบอกให้เรารู้ว่าพลังความเปลี่ยนแปลงของโลกโลกาภิวัตน์ไม่ได้หยุดรอความพร้อมของประเทศไหนๆ ระหว่างที่เราคิดแก้ปัญหารถชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ Google กำลังทดสอบระบบรถไร้คนขับบนถนนจริงในแคลิฟอร์เนีย ระหว่างที่เราพยายามควบคุมการแสดงความเห็นบนโลกโซเชียล IBM Amazon Facebook และอีกหลากหลายบริษัทกำลังสร้างโมเดลธุรกิจที่จะเปลี่ยนโลกจากข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้คน ในขณะที่เรากังวลเรื่องการเลือกตั้งของเรา การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศได้เกิดขึ้นแล้วและล้วนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ทั้งหมด ฯลฯ
ประเทศไทยจะปฏิรูปสิ่งต่างๆ เสร็จแล้วหรือไม่ก็ตาม หากไม่อยากถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โลกบังคับให้เราอยู่ในภาวะที่ต้องสร้างเครื่องบินพร้อมๆ กับบินไปให้ได้
ความน่ากังวลมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น บทเรียนจากโลกและประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่จะ ‘บิน’ ไปบนกระแสโลกาภิวัตน์ได้อย่างสง่าผ่าเผยนั้น ยากที่จะปฏิเสธชิ้นส่วนสำคัญอย่างการมีส่วนร่วม ประชาธิปไตย และกลไกของตลาดได้ ดังนั้น หากแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยไม่ได้เป็นไปโดยให้ความสำคัญกับองค์ประกอบเหล่านี้ดังเช่นที่นักคิด นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกต ก็เท่ากับเรากำลังพยายามสร้าง ‘เครื่องบิน’ ในแบบที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน
ถ้าสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ไปเลย ก็อาจเป็นว่า ณ ขณะที่เรากำลังต้องยกเครื่องประเทศเพื่อจะบินนี้ เรากลับถอดปีกและใบพัดทิ้งไปเพราะไม่เชื่อว่ามันสำคัญ
ธนกร จ๋วงพานิช
บรรณาธิการ