SECTION
ABOUTTHE FAST LANE
Café Culture
มอเตอร์ไซค์ ‘cafe racers’ รุกคืบสู่ท้องถนนของกรุงเทพฯ ด้วยความสวยย้อนยุคแกมดุดัน ที่มาพร้อมเสน่ห์แห่งการแต่งรถที่ไม่ซํ้าใคร
รถคาเฟ่ เรเซอร์ดีๆ จะถูกแต่งด้วยความประณีตใส่ใจแบบที่ชวนให้นึกถึงยุคจิ๊กโก๋มอเตอร์ไซค์ครองเมือง ไม่ว่าจะเป็นเบาะหนังแบบสั่งตัด การลงสีตราประจำแก๊งด้วยมือ และความงามอันเรียบง่ายอื่นๆ ที่พร้อมสำหรับการพลิกท้องถนน ให้ลุกเป็นไฟ
ทุกๆ วันเสาร์นักบิดมอเตอร์ไซค์ราวๆ ร้อยคันจะมารวมพลกันที่ตลาดนัดรถไฟซึ่งเป็นตลาดนัดธีมวินเทจในกรุงเทพฯ นักบิดเหล่านี้ล้วนใส่กางเกงยีนส์ โพกหัวและสวมเรย์แบนส์ยุคเก่าบังหน้าเกือบมิด จนแม้ในยามที่พวกเขาถอดหมวกกันน็อคแบบเปิดคางออก เราก็แทบจะเห็นแต่เพียงผมที่จัดทรงมาอย่างดีเท่านั้น สำหรับคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ นักบิดกลุ่มนี้อาจทำให้นึกถึงแก๊งนักเลงมอเตอร์ไซค์นิสัยกร่าง อย่างเช่น กลุ่ม ‘เฮลส์ แองเจิลส์’ หรือกลุ่ม ‘บันดิโดส’ ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสมาชิกกว่า 2,500 คนใน 13 ประเทศมากกว่าอะไรทั้งหมด
โหยหาความงามวันวาน
แต่ในความเป็นจริงนักบิดกลุ่มนี้ไม่มีอะไรที่อันธพาลเลย เพราะแม้ภายนอกจะมีลุคดิบไปบ้าง แต่คนเหล่านี้มาพบกันก็เพียงเพื่อจะ ‘เนิร์ด’ เรื่องมอเตอร์ไซค์สมัยปู่ที่ผลิตออกมาเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วเท่านั้น พวกเขาจะตื่นเต้นตาลุกตาวาวไปกับงานเชื่อมโลหะเนี้ยบๆ คาร์บูเรเตอร์รุ่นหายาก หรือไม่ก็ระบบเกียร์แมน่วล ที่ตอบสนองดีๆ ข้างนอกบาร์ธีมเรโทรแถวตลาดนัดรถไฟนี้ เราจะเห็นไทรอัมพ์ ฮอนด้าและคาวาซากิ รุ่นเก่าจอดเรียงกันเป็นแถว แต่ที่มีเยอะที่สุดเห็นจะเป็น Yamaha SR400 เครื่องยนต์สูบเดียวสี่จังหวะ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากเป็นรถรุ่นที่มีอะไหล่ให้เลือกมากมาย จนนักบิดไม่ต้องกลัวว่าแต่งจักรยานยนตร์รุ่นนี้ออกมาแล้วจะมีรูปลักษณ์หรือเสียงคำรามเหมือนกับคนอื่น อันที่จริงการชุมนุมของเหล่านักบิดก็มีสาระอยู่ตรงนี้เอง คือมาดูว่าคนอื่นเขาแต่งรถกันอย่างไร
ในปีนี้ ยามาฮ่าเพิ่งปล่อยเจ้า SR400 ออกมาสู่ตลาดอีกครั้ง หากพินิจโดยละเอียดก็จะเห็นว่ามอเตอร์ไซค์รุ่นนี้ไม่ได้ดูน่าตื่นเต้นอะไร ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจสำหรับมอเตอร์ไซค์ที่เปิดตัวครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1978 แต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้มอเตอร์ไซค์รุ่นเก่าอายุเหยียบ 40 ปีนี้ถูกนำออกมาโละฝุ่นและนำกลับไปตั้งในโชว์รูมอีกครั้ง คำตอบก็คือสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม ‘café racer’ นั่นเอง "คาเฟ่ เรเซอร์" เป็นคำเรียกรถมอเตอร์ไซค์ยุโรปและญี่ปุ่นในช่วงยุค 60’s และ 70’sที่ถูกแต่งเพื่อใช้แข่ง แต่สิ่งที่แต่งนั้นกลับเพิ่มความเท่ให้กับรถอย่างบอกไม่ถูกรถคาเฟ่ เรเซอร์ดีๆ จะถูกแต่งด้วยความประณีตใส่ใจแบบที่ชวนให้นึกถึงยุคจิ๊กโก๋มอเตอร์ไซค์ครองเมือง ไม่ว่าจะเป็นเบาะหนังแบบสั่งตัด การลงสีตราประจำแก๊งด้วยมือ และความงามอันเรียบง่ายอื่นๆที่พร้อมสำหรับพลิกท้องถนนลุกเป็นไฟ
เนื่องจาก SR400 เป็นเสมือนไอคอนของรถคาเฟ่ เรเซอร์นี่เอง Half Caste Creations ผู้เชี่ยวชาญการแต่งรถคาเฟ่เรเซอร์ของกรุงเทพฯ จึงได้เลือกใช้ SR400 เป็นโครงของผลงานแต่งชื่อ Reptilia โดยเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วในงาน Le Cabinet de Curiosités de Thomas Erber ที่ห้างเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ซึ่งเป็นโอกาสที่บรรดานักสร้างสรรค์อนาคตไกลจะได้นำผลงานชนิด ‘ชิ้นเดียวในโลก’ ของตัวเองมาแสดงควบคู่กับสุดยอดงานฝีมือจากช่างแต่งชั้นเลิศของยุโรป ในงานนี้ ความลงตัวระหว่างส่วนโค้งเว้าได้จังหวะและถังแก๊ซทรงหยดนํ้าตาหุ้มหนังจระเข้แดนสยามสีดำขลับของเรปทิเลียถือเป็นเครื่องแสดงฝีมืออันสุดยอดของฮาล์ฟ คาสท์ ครีเอชั่นส์ได้เป็นอย่างดี แต่แน่นอน ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน ริชาร์ด ไคล์ ผู้ร่วมก่อตั้งได้พูดถึงความสำเร็จของฮาล์ฟคาสท์ ครีเอชั่นส์ว่า
“การที่กระแสวัฒนธรรมสตรีทเริ่มมาแรงได้ช่วยให้วัฒนธรรมมอเตอร์ไซค์ค่อยๆ กลับมาอยู่แล้ว ที่ยากคือ ในช่วงแรกๆ การพยายามขายคุณภาพจริงๆ เป็นเรื่องยากมาก แต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เดี๋ยวนี้เรามี waiting list และก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งแสดงว่าวงการมอเตอร์ไซค์เริ่มปักหลักได้แล้ว”
ขยายแก๊ง
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานอีกมากที่แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมคาเฟ่ เรเซอร์ ยังเติบโตได้อีกมหาศาล แม้ตอนนี้ริชาร์ดจะกลับอินโดนีเซียไปแล้ว แต่เดนนิส คาร์ลสัน หุ้นส่วนของริชาร์ด ยังคงทำกิจการฮาล์ฟ คาสท์ ครีเอชั่นส์ ต่อ และยังได้เปิดร้านใหม่ที่ใหญ่ขึ้นบนถนนสุโขทัย ยิ่งกว่านั้น ถึงวัฒนธรรมคาเฟ่ เรเซอร์จะเกิดจากช่างแต่งอิสระอย่างฮาล์ฟ คาสท์ ครีเอชั่นส์ แต่แบรนด์มอเตอร์ไซค์ยักษ์ใหญ่ก็ชักเริ่มสนใจตลาดนี้แล้วเช่นกัน
“วงการมอเตอร์ไซค์ตอนนี้มันเหมือนผ้าใบที่ขึงรออยู่แล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนจะวาดอะไรใหม่ๆ ลงไป อย่างพวกบริษัทใหญ่ๆ เขาก็เริ่มเห็นหมดแล้ว เขาทุ่มกับตลาดรถคาเฟ่เรโทรมาก จนเดี๋ยวนี้ดูเหมือนเขาเป็นคนนำกระแส ไม่ใช่ร้านเล็กร้านน้อยอย่างพวกเราแล้ว” ริชาร์ดบอก
อันที่จริง ไม่ใช่มีแต่ยามาฮ่าแบรนด์เดียวที่ปล่อยรถยุค 70s ออกมาวางจำหน่ายอีกครั้ง บีเอ็มดับเบิลยู ได้เปิดตัวรถรุ่น R nineT และไทรอัมพ์ก็ได้นำ Thruxton กลับมา ซึ่งพวกนี้ล้วนแต่เป็นรถรุ่นลายครามทั้งนั้น ยิ่งกว่านั้นในเมืองไทยตอนนี้ ดูคาติซึ่งปกติจะเป็นที่รู้จักกันแต่ในเรื่องสร้างมอเตอร์ไซค์สายแข่งนํ้าหนักเบาที่เน้นสมรรถภาพและความเร็ว ก็กำลังผลิตรถรุ่น Scrambler อันเป็นมอเตอร์ไซค์สำหรับคนเพิ่งเริ่มเล่นที่ตั้งใจเลียนแบบมอเตอร์ไซค์รุ่นเก่าของบริษัทช่วงท้ายยุค 60s ต่อยุค 70s อันเป็นยุคทองของวัฒนธรรมมอเตอร์ไซค์ในอิตาลีอีกด้วย
ปรากฏว่าพอ สแครมเบลอร์ วางจำหน่ายแล้ว ในกรุงเทพฯ ก็มีร้านขายเสื้อผ้าสำหรับคนขี่สแครมเบลอร์ผุดขึ้นมาเต็มไปหมด เช่น เสื้อแจ็คเก็ตหนังทำเก่า และแว่นตากันลม ซึ่งรวมกันเป็นสไตล์ที่ดูคาติเองตั้งชื่อให้ว่าเก่าจนใหม่หรือ ‘post-heritage’ แสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์รายใหญ่เริ่มสร้างตลาดของสาวกขึ้นมาได้เหมือนกับที่พวกคาเฟ่ เรเซอร์เคยทำ และก็กำลังหาเงินได้มากมายจากตลาดนี้ ซึ่งเป็นตลาดของไลฟ์สไตล์ไปแล้ว
ความรักครั้งใหม่ของคนไทยกับวัฒนธรรมคาเฟ่ เรเซอร์นี้ดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากออสเตรเลียซึ่งมีวัฒนธรรมคาเฟ่ เรเซอร์มายาวนาน ดังจะเห็นได้จาก Deus Ex Machina แบรนด์ไลฟ์สไตล์ของผู้ชื่นชอบการโต้คลื่นและมอเตอร์ไซค์ (ซึ่งได้สร้างชื่อประดับวงการในฐานะผู้สร้างรถคาเฟ่ เรเซอร์ดีไซน์ดุที่สุดในโลก และก็ขยายร้านไปตามเมืองใหญ่อย่าง บาหลี โตเกียว ลอสแองเจลิส และมิลานมาแล้ว) กำลังมีเป้าที่จะมากรุงเทพฯ ทั้งนี้ แม้ร้าน The Deus Garage and Gallery จะยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ แต่ระยะหลังนี่ เดอุส เอ็กส์ มาคีนาก็ได้สร้างกระแสในกรุงเทพฯ มาโดยตลอด โดยล่าสุดได้นำรถคาเฟ่ เรเซอร์ของตนไปตั้งโชว์ที่ตลาดนัดสินค้าวินเทจ Made By Legacy และร้านเสื้อผ้า American Rag Cie ในโซนกรู๊ฟที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชายยุทธ ยุทธวรเดชกุล ตัวแทนแบรนด์ที่กำลังมาแรงแบรนด์นี้ เห็นว่าตอนนี้เป็นเวลาที่สุกงอมที่สุดสำหรับแนะนำคนกรุงเทพฯ ให้รู้จักกับวิถีของเดอุส เอ็กส์ มาคีนา
“ลัทธิแต่งรถกำลังมาแรง และแบรนด์เดอุสฯ ก็เหมาะมากกับคัลท์อย่างนี้ เรามีคนที่สนใจไลฟ์สไตล์แบบเดอุสฯ อยู่เยอะ ตั้งแต่ศิลปะ ดนตรี ไปจนการแต่งรถ มอเตอร์ไซค์น่าจะขายดีอยู่แล้ว แต่ด้านแฟชั่นของแบรนด์น่าจะยิ่งดีเข้าไปอีก”
รถคาเฟ่ เรเซอร์นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการกบฏ แต่ก็เช่นเดียวกับวัฒนธรรมสวนกระแสอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกางเกงยีนส์หรือย่านศิลป์ในสลัม ในที่สุด สิ่งที่สวนกระแสก็จะต้องกลายเป็นกระแสหลักเข้าสักวัน
ของเล่นหัวขบถ
ชัยวัฒน์ สิงหะ รู้นานแล้วว่าเทรนด์คาเฟ่ เรเซอร์กำลังจะมา ก่อนที่แบรนด์ใหญ่จะเริ่มผลิตรถและเครื่องแต่งกายแนวคาเฟ่ เรเซอร์เสียอีก ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง 8080 Caféในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมากจนมีสาขาในเชียงใหม่ เชียงรายและภูเก็ต ชัยวัฒน์บอกว่าเทรนด์นี้เริ่มมาตั้งแต่ยุค 80’s เมื่อรถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นอย่างพวก SR400 และ Honda GB500 Clubman เข้ามาตีตลาดไทย เพราะพวกเหล่านักบิดที่อยากมีลุคเหมือนร็อคเกอร์โหดๆ ของอังกฤษก็ต้องพยายามเลียนแบบสไตล์คาเฟ่ เรเซอร์ไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม คาเฟ่ เรเซอร์เพิ่งจะมาฮิตในคนหมู่มากก็ตอนนี้เอง “คนไทยอยากให้รถตัวเองดูโดดเด่นกว่ารถคันอื่น ให้รถมันช่วยแสดงตัวตนออกมาโดยเจ้าของไม่ต้องพูด รูปลักษณ์ของรถจึงต้องพูดให้แทน”
แต่แม้มีผู้ผลิตรายใหญ่ผลิตรถคาเฟ่ เรเซอร์ออกมาในตลาดมากมาย ถนนสำหรับนักบิดคาเฟ่ เรเซอร์ก็ไม่ได้ราบเรียบเสมอไป หัวใจสำคัญของวัฒนธรรมคาเฟ่ เรเซอร์ คือ การหารถมาแต่งให้แสดงความเป็นตัวเองให้ถึงที่สุด แต่โชคร้ายที่มอเตอร์ไซค์รุ่นที่นิยมนำมาแต่งเช่น SR400 หรือ W650 ของคาวาซากิมักเป็นรถที่ถูกนำเข้ามาเมืองไทยแบบไม่โปร่งใสนัก ทำให้ไม่สามารถนำมาขับขี่บนถนนอย่างถูกกฎหมาย ต้องอย่าลืมว่า แม้ชาวคาเฟ่ เรเซอร์จะดูกบฏอย่างไร แต่สุดท้ายก็ไม่อยู่เหนือกฎหมาย นรินทร์นักบิดรุ่นเก๋าในวงการคาเฟ่เรเซอร์เล่าว่า นักบิดบางคนวางมือจากวงการไปเลยก็เพราะเรื่องนี้ “คนซื้อรถมาแล้วก็เอามาขี่บ้าง แต่พอโดนใบสั่งตำรวจเข้าไปหลายทีก็เซ็งแล้วก็ขายรถทิ้งไปเลย บางทีนะ ขนาดซื้อรถจากร้านอย่างถูกกฎหมายยังโดนใบสั่งเลย หาว่าท่อไอเสียเสียงดังไป ทั้งๆ ที่มันก็มาจากโรงงานแบบนี้ตั้งแต่แรก”
หากรถที่ขายในร้านยังสามารถโดนใบสั่งได้ ป่วยการที่จะพูดถึงรถคาเฟ่ เรเซอร์ซึ่งล้วนแล้วแต่แต่งกันอย่างจัดเต็ม
ถึงจะมีบ่นบ้าง แต่นักบิดที่มีใจรักจริงๆ อย่างนรินทร์ก็ไม่ยอมให้ค่าปรับมาเป็นอุปสรรค พวกเขายังคงนำคาเฟ่ เรเซอร์แต่งเองออกมาซิ่งอยู่ทุกวัน ดูเหมือนการขับเครื่องยนต์สองล้อจะสามารถให้อิสระไร้ขอบเขตซึ่งคุ้มค่ากับความอึดอัดจากใบสั่ง
เช่นเดียวกับกลุ่มก๊วนคนชอบอะไรเฉพาะทางทั่วไป ชุมชนนักบิดใช้โซเชียล มีเดียในการนัดแนะการชุมนุมและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับด่านตรวจและย่านที่ตำรวจใจดี นับเป็นความพยายามของชุมชนนี้ที่จะหาทางอยู่รอดและเติบโตต่อไปในแบบของตน ในอีกทางหนึ่ง บริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ก็พยายามตอบโจทย์คนชอบรถคาเฟ่ เรเซอร์ ด้วยการต้อนรับนักบิดหน้าใหม่สู่ตลาด และเสนอขายรถที่ขับขี่บนถนนได้อย่างถูกกฎหมายแทน
รถคาเฟ่ เรเซอร์นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการกบฏ แต่ก็เช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมการสวนกระแสอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกางเกงยีนส์ หรือย่านศิลป์ในสลัม ในที่สุดสิ่งสวนกระแส ก็จะต้องกลายมาเป็นกระแสหลักเข้าวันหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะอย่างน้อยๆ ความเป็นกระแสหลักก็ได้ทำให้มีรถเลือกมากกว่าแต่ก่อน จนเหมาะอย่างยิ่งที่ผู้สนใจจะรีบหาคาเฟ่ เรเซอร์มาจับจองเสียในตอนนี้ ไม่ว่าคาเฟ่ เรเซอร์ที่ว่านั้นจะเป็น SR400 รุ่นเก๋ากึ๊กหรือดูคาติใหม่แกะกล่องก็ตาม ■
Essentials
■
ตลาดรถไฟ
ถนนรัชดาภิเษก (หลังเอสพลานาด) กรุงเทพฯ
โทร. 081-827-5885, 086-126-7787, 081-732-8778
www.fb.com/taradrodfi
■
8080 Café
RCA ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ
โทร. 02-203-0725
www.goo.gl/EYnkES
■
American Rag Cie
เซ็นทรัลเวิลด์ โซนกรู๊ฟ ชั้น 1 ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ
โทร. 02-251-6880
www.fb.com/americanragbkk
■
Deus Ex Machina
โทร. 086-989-5541
www.deuscustoms.com
■
Half Caste Creations
396 สุโขทัยแมนชั่น ถนนสุโขทัย กรุงเทพฯ
โทร. 087-654-9141, 087-044-2886,
www.halfcastecreations.com