HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

IN THE MONEY


The Search for Value

เรื่องราวความสำเร็จของการ ‘ไอพีโอ’ ที่เป็นมากกว่าเพียงราคาหุ้นพุ่งแรง หากคือคุณค่าต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจนซวนซัดซวนเซไม่น้อย ทว่าทิศทางของตลาดหุ้นกลับไม่ได้ย่ำแย่ตามเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากพิจารณาจาก Initial Public Offering หรือการออกหุ้น ‘ไอพีโอ’ ที่เรียกได้ว่ามีความคึกคักสวนทางกับสถานการณ์โลกเลยทีเดียว เฉพาะในปี 2020 มีการออกหุ้นไอพีโอถึง 1,519 บริษัท ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 49% ตามรายงาน IPO Report 2020 ของบริษัทกฎหมายเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ หลังจากนั้น บริษัทบัญชีสัญชาติอังกฤษเอินส์ทแอนด์ยัง ประเมินว่าเพียงในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 มีบริษัทออกหุ้นไอพีโอทั่วโลกไปแล้วถึง 1,070 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 150% กล่าวได้ว่า แม้ในวิกฤตโรคระบาดพ่วงเศรษฐกิจตกต่ำนี้ ตลาดหุ้นยังคงได้รับแรงส่งจากนักลงทุนทุกประเภท และบริษัทที่มีแผนไอพีโอก็ได้รับอานิสงส์โดยทั่วกัน

ดังที่เป็นปกติของเรื่องราวของภาคการเงิน การไอพีโอ หรือ ‘การเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก’ นั้นไม่ใช่เรื่องที่สามัญเข้าใจง่ายที่สุด มองเผินๆ ไอพีโออาจเหมือนจังหวะฉลองชัยของบรรดาบริษัทที่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ก่อตั้งธุรกิจจะได้กลายเป็นเศรษฐี และตัวธุรกิจเองก็เท่ากับได้รับตราประทับรับรองจากโลกการเงินว่าเป็นกิจการอันมีอนาคตที่ดี มันคือจังหวะที่ทางบริษัทผู้ออกหุ้นจะได้รับเงินระดมทุนมหาศาลเพื่อนำไปต่อยอดความฝันให้เต็มพิกัดดังที่ได้บอกกับผู้บริโภคและนักลงทุนมาตลอดระยะเวลาการโรดโชว์ สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องภาคการเงินเท่าใดนัก อาจสรุปรวบรัดตัดความเข้าไปอีกว่า การไอพีโอคือจังหวะที่คนพากันแต่งชุดสูทมาตีระฆังและก็ร่ำรวย

สำหรับการออกหุ้นไอพีโอในประเทศไทย ตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาก็มีบริษัทหลายแห่งระดมทุนเข้าตลาดหุ้นครั้งแรกเช่นกัน แต่หนึ่งในบริษัทที่เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างดีจากสาธารณชนก็คือบริษัท เงินติดล้อ ซึ่งขายหุ้นไอพีโอเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ด้วยมูลค่าการเสนอขายกว่า 38,000 ล้านบาทในชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า TIDLOR ทำให้หุ้นไอพีโอของเงินติดล้อมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ และมีมูลค่าสูงเป็นลำดับที่ห้าเมื่อคิดจากหุ้นไอพีโอทั้งหมดที่เคยเสนอขายในตลาดตราสารทุนไทย เรียกได้ว่านักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศล้วนแล้วแต่ให้ความสนใจกับเงินติดล้อ ตั้งแต่นักลงทุนสถาบันไปจนกระทั่งนักลงทุนรายย่อย ที่แห่แหนกันจองหุ้นเป็นจำนวนมหาศาลจนทำเอาแอปพลิเคชันจองหุ้นถึงกับล่มเลยทีเดียว

มองเผินๆ เรื่องราวของเงินติดล้อดูจะเป็นเรื่องราวความสำเร็จอันแสนสามัญของการไอพีโอ คือเงินติดล้อเริ่มต้นจากธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ในจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก่อนจะขยายกิจการไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วไทย และถูกกลุ่มทุนใหญ่เข้าซื้อจากศักยภาพในการทำธุรกิจขององค์กร มันคือเรื่องราวความสำเร็จของธุรกิจสินเชื่อแห่งยุคสมัยใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่อาจยังไม่ได้รับความสนใจและการบริการมากพอ ตั้งแต่คนขับรถแท็กซี่ แรงงานก่อสร้าง ช่าง ไปกระทั่งนักลงทุนรายย่อยที่เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ตลอดจนความชาญฉลาดของการใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลคะแนนเครดิตของลูกค้า หรือการใช้บิ้กดาต้าคำนวณตลาดและเจาะกลุ่มเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจจะมีศักยภาพ แต่การไอพีโอของเงินติดล้อห่างไกลจากคำว่าเรียบง่าย อันที่จริง การตัดสินใจไอพีโอของเงินติดล้อท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 หมายถึงกระบวนการอันเข้มข้น เร่งด่วน แข่งกับเวลาและสถานการณ์ระบาด ที่ต้องเรียกว่าเป็นการไอพีโอ ‘ติดล้อ’ โดยแท้จริง

ด้วยมูลค่าการเสนอขายกว่า 38,000 ล้านบาท ในชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า TIDLOR หุ้นไอพีโอของ เงินติดล้อมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์

โดยทั่วไปแล้ว การยื่นขอเสนอขายไอพีโอของบริษัทเอกชนในไทยต้องว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (financial advisor) และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriter) เพื่อจัดการรายละเอียดสารพัดของการทำไอพีโอ ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมเอกสาร การรวบรวมข้อมูลทางการเงินให้ผู้กำกับดูแลตรวจสอบ การกำหนดระยะเวลาและราคาที่จะเสนอขาย ไปจนกระทั่งการรับความเสี่ยงในกรณีที่ไอพีโอไม่สำเร็จ เรียกว่าต้องผสมผสานบทบาทของการเป็นทั้งทนายความ นายหน้า นักการตลาด หรือตัวแทนของบริษัทไปพร้อมๆ กัน

ที่ปรึกษาทางการเงินหรือวาณิชธนากรจะร่วมกับบริษัทที่จะไอพีโอเตรียมการอย่างทรหดอยู่หลายเดือนเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถกำหนดราคาเสนอขายที่เหมาะสม ซึ่งหมายความว่าผู้ถือหุ้นเดิมได้ราคาที่ดี ในขณะที่ผู้เข้ามาใหม่ได้รับคุณค่าที่คุ้มค่ากับเงินลงทุน โดยปกติแล้ว มักมีการจ้างบริษัทหลักทรัพย์หรือสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อช่วยดูเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน แต่ในกรณีของเงินติดล้อ บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) คือบริษัทหลักทรัพย์ไทยเพียงแห่งเดียวที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ตลอดกระบวนการ

การดำเนินการธุรกรรมไอพีโอโดยลำพังมีนัยยะมากกว่าความท้าทายเรื่องความเสี่ยงทางการเงิน แต่หมายถึงการต้องบริหารผลประโยชน์ที่แข่งขันกัน (Competing Interests) ของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายให้ลงตัวมากที่สุด เช่น ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่ไอพีโออาจอยากให้ราคาหุ้นไอพีโอขึ้นสูงตอบแทนการลงทุนมาอย่างยาวนาน ในขณะที่บริษัทที่ไอพีโอจำเป็นต้องพยายามให้ราคาหุ้นอยู่ในเกณฑ์สมดุล คือไม่แพงหรือถูกเกินไปเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการดึงดูดเงินลงทุนในอนาคต และแน่นอน ถ้ามองในมุมของนักลงทุนทั่วไป ราคาหุ้นไอพีโอยิ่งถูกเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนเท่านั้น ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความท้าทายของการที่ผู้ถือหุ้นคนสำคัญของเงินติดล้อคือสถาบันการเงินชั้นนำอย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา และบริษัทสยาม เอเชีย เครดิต แอคเซสอีกด้วย

“ทีมงานของเราต้องทำงานกันหนักกว่าปกติสามถึงสี่เท่า เพราะลูกค้าไม่ใช่บริษัททั่วไป แต่เป็นบริษัทการเงินที่เก่งมาก เข้าใจธุรกิจทะลุปรุโปร่ง และเป็นผู้บริหารกองทุนระดับโลก เราต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกกรณี ไม่ใช่แค่ในระดับสัปดาห์ แต่ต้องวางแผนล่วงหน้าหลายเดือน” อนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการหัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร เล่าถึงความกดดันพิเศษของการทำไอพีโอรายการนี้

ความท้าทายในการทำงานดูจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีเมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดระลอกแรกในประเทศ กระทบต่อตารางเวลาออกไอพีโอที่เดิมกำหนดไว้ในครึ่งหลังของปี 2020 จริงอยู่ว่าในระดับโลกนั้นการยื่นไอพีโอเริ่มคึกคักขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 แต่สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลตัดสินใจล็อกดาวน์ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างหยุดชะงัก ตลาดหลักทรัพย์ตกรูดไปอยู่จุดต่ำสุดในรอบเกือบทศวรรษ และทำให้การยื่นเสนอขายไอพีโอของเงินติดล้อต้องถูกเลื่อนออกไปด้วย

เมื่อสภาวะโรคระบาดคลี่คลายในช่วงปลายปี ทางทีมไอพีโอจึงกลับมาทำงานอย่างแข็งขันอีกครั้ง แต่เหมือนโชคร้ายจะยังไม่หมดสิ้น เพราะต้นปี 2021 การระบาดระลอกใหม่ก็ปะทุขึ้น ซ้ำสถานการณ์ยังดูหนักหนากว่าเดิม คณะทำงานเริ่มกังวลว่าความผันผวนของตลาดอาจส่งผลต่อหุ้นไอพีโอ พวกเขาจึงต้องปรับกลยุทธ์ โดยแทนที่จะรอให้พ้นพายุ พวกเขาตัดสินใจเร่งเครื่องเต็มลูกสูบเพื่อให้การไอพีโอเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุดก่อนที่พายุจะเกิด ในเบื้องต้นพวกเขาส่งเรื่องไปสู่คณะกรรมการกำกับดูแล ทั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้สามารถพิจารณาอนุมัติได้สำเร็จ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือพวกเขาต้องทำโรดโชว์เพื่อเสนอขายหุ้นไอพีโอให้แก่นักลงทุนคนสำคัญทั้งในและต่างประเทศในกรอบเวลาที่สั้นเป็นประวัติการณ์

การโรดโชว์หุ้นคือช่วงเวลาสำคัญที่จะซื้อใจนักลงทุน เพราะเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนจะได้เจอกับทีมผู้บริหารเบื้องหลังธุรกิจที่พวกเขาสนใจ ทีมงานไอพีโอต้องนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ของบริษัท ผลประกอบการทางการเงิน หรือโอกาสความสำเร็จของบริษัทในอนาคต ขณะเดียวกัน ก็เริ่มเก็บข้อมูลและประเมินความสนใจของนักลงทุน (Book-building Process) เพื่อกำหนดราคาหุ้นที่เหมาะสม แน่นอน นี่หมายความว่าผู้บริหารของเงินติดล้อต้องมาร่วมหัวจมท้ายไปกับที่ปรึกษาทางการเงินบนเส้นทางอันแสนทรหดของการแสดงวิสัยทัศน์ของธุรกิจและตอบข้อซักถามเฉียบคมจากนักลงทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับรวมเป็นการประชุมนับร้อยครั้ง

สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การมองหาความแตกต่างระหว่างเงินติดล้อกับบริษัทอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดให้ได้ และความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เงินติดล้อไม่ได้เป็นแค่บริษัทการเงิน แต่พวกเขายังถือเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีไปในคราวเดียวด้วย

“ทุกอย่างต้องทำแบบออนไลน์หมด เราไม่มีโอกาสได้เจอนักลงทุนตัวเป็นๆ ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศ แม้แต่การพูดคุยกับสื่อก็ต้องเป็นแบบออนไลน์ซึ่งเราไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อนเลย” อนุวัฒน์เล่าถึงช่วงทำโรดโชว์

ใช่ว่าการโรดโชว์ออนไลน์จะมีแต่ข้อเสีย เพราะข้อดีก็คือทางทีมงานไม่ต้องเตรียมเดินทางไกล พวกเขาสามารถเซ็ทอุปกรณ์เพื่อวิดีโอคอลกับนักลงทุนได้จากสำนักงาน และสามารถพูดคุยแบบต่อเนื่องได้ตลอดวันไปจนค่ำมืด เรียกว่าทีมเสนอขายหุ้นใช้เวลาที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าจนวินาทีสุดท้าย แต่เรื่องท้าทายจริงๆ ที่พวกเขาต้องเอาให้อยู่ก็คือการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้สนใจลงทุนในหุ้นของเงินติดล้อซึ่งอยู่ในตลาดไทยให้ได้ หากจะสรุปโดยสังเขป ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างถูกครอบงำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานและการเงินอยู่แล้ว ดังนั้น สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ อะไรคือเหตุผลที่จะต้องมาลงทุนเพิ่มในหุ้นกลุ่มการเงินอย่างเงินติดล้อเพิ่มอีกตัวหนึ่ง โดยเฉพาะในเมื่อโดยรวมตลาดหุ้นของไทยน่าจะได้รับผลกระทบในทางลบจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะที่ตลาดอย่างอเมริกา หรือยุโรป มีแนวโน้มฟื้นตัวและทำกำไรได้ดีกว่า หนทางเดียวของทีมไอพีโอคือการโน้มน้าวนักลงทุนด้วยเรื่องราวที่ไม่ธรรมดา

“สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การมองหาความแตกต่างระหว่างเงินติดล้อกับบริษัทอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาดให้ได้ และความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ เงินติดล้อไม่ได้เป็นแค่บริษัทการเงิน แต่พวกเขายังถือเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีไปในคราวเดียวด้วย” อนุวัฒน์ชี้ให้เห็นจุดเด่นของเงินติดล้อ

ความโดดเด่นเหนือใครในตลาดสินเชื่อของเงินติดล้อก็คือ พวกเขาใช้การวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เก็บได้จากลูกค้าและตลาดมาประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำเรื่องกู้ยืมเงินเพื่อนำไปลงทุนขยายกิจการ การจัดการพอร์ตลงทุน การเก็บข้อมูลหนี้และบริหารจัดการหนี้สินของลูกค้า หรือกระทั่งการนำข้อมูลมาวิเคราะห์การเปิดสาขาใหม่ และด้วยการนำบิ้กดาต้ามาใช้ประโยชน์ ผลลัพธ์ที่ได้คือบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจโดยเน้นการบริหารต้นทุนจากการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดสินเชื่อ

“ทั้งหมดที่ว่ามาช่วยให้ผู้จัดการกองทุนที่ลงทุนไปกับเงินติดล้อสามารถนอนพักผ่อนได้อย่างสบายใจ เพราะพวกเขารู้ว่ามืออาชีพกำลังบริหารจัดการเงินของพวกเขา และธุรกิจของเงินติดล้อยังช่วยตอบสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศมองหาจากตลาดไทยมานาน คือบริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันอาจมีไม่ถึง 1% ของทั้งตลาด ความสำเร็จของการเพิ่มบริษัทเทคฯ เข้าไปในตลาดอีกหนึ่งบริษัทถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ” อนุวัฒน์กล่าวเสริม

ในที่สุด การเสนอขายไอพีโอของเงินติดล้อก็ประสบความสำเร็จ นักลงทุนจำนวนมากเทเงินซื้อหุ้นไอพีโอของบริษัทเป็นสถิติของตลาด ยิ่งกว่านั้น ทางบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร ยังสามารถเคาะราคาหุ้นได้ที่ 36.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นมูลค่าการระดมทุนลำดับต้นๆ ของไอพีโอที่เคยมีมา และมีมูลค่าอ้างอิงจากอัตราส่วน Price to earnings สูงกว่าคู่แข่งของเงินติดล้อโดยเฉลี่ยในตลาดถึงกว่า 15% ช่วยเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความเชื่อมั่นที่มีต่อหุ้นในตลาดทุนไทยของนักลงทุนต่างชาติยังสามารถกู้คืนกลับมาได้เสมอถ้าพวกเขามองเห็นโอกาส

สำหรับทีมทำงานเอง ในวินาทีของการไอพีโอ ไม่มีสิ่งใดน่ายินดีไปกว่าการคาดคำนวณถึงความต้องการของนักลงทุนทั้งปัจจุบันและอนาคตได้อย่างพอเหมาะนี้ ในขณะที่หลายคนอาจอยากให้หุ้นระเบิดราคาพุ่งไปสุดเพดานหลังขายไอพีโอ แต่สำหรับที่ปรึกษาทางการเงินนั่นอาจไม่ใช่ภาพที่น่าดูเท่าใดนัก

“สมมุติว่าราคาหุ้นตัวหนึ่งพุ่งไปเกิน 100% หลังเปิดขายเเค่วันแรก แน่นอนว่านักลงทุนต้องชอบอยู่แล้ว แต่แบบนี้ก็หมายความว่าบริษัทขายหุ้นถูกกว่าราคาที่ควรถึง 100% ด้วยเช่นกัน หรือก็คือบริษัทนั้นๆ สูญเงินที่ควรจะได้ไปมหาศาลเลย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน การเคาะราคาหุ้นต้องหาสมดุลราคาที่เหมาะสมไม่ให้ถูกหรือแพงเกินไป” อนุวัฒน์กล่าว

ปัจจุบัน ราคาหุ้นของเงินติดล้อเพิ่มขึ้นจากราคาไอพีโอราว 10-15% และยังคงทรงตัวอยู่แนวนี้ซึ่งกล่าวได้ว่าไม่น่าเกลียดเมื่อคำนึงถึงความผันผวนต่อเนื่องของตลาดจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 และสำหรับอนุวัฒน์กับทีมงาน การทำงานที่ตรากตรำอดหลับอดนอนมาหลายเดือนก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าตลอดหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมากับการเตรียมไอพีโอหุ้นตัวนี้สามารถชนะใจนักลงทุนต่างชาติให้กลับมาสู่ตลาดหุ้นไทยได้อีกครั้ง

“ถ้าทุกคนมีความสุข พวกเราก็ย่อมมีความสุขครับ” อนุวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี