HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Measure of Intelligence

ความก้าวหน้าในแวดวงปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยนั้นก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากกว่าที่หลายคนอาจคาดคิด

พนักงานออฟฟิศวัย 32 ปี สั่งข้าวผัดกะเพราเนื้อกับชาเย็นหนึ่งแก้วจากร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่ออาหารถูกนำมาเสิร์ฟที่โต๊ะ เขารีบสวาปามด้วยความหิว แม้รสชาติจะเหมือนผัดกะเพราทั่วไป แต่มันเผ็ดเกินไปสำหรับเขา ชายคนดังกล่าวขมวดคิ้วเล็กน้อย เขารู้สึกได้ถึงเม็ดเหงื่อที่ผุดขึ้นบริเวณหน้าผาก ริมฝีปากเขาแสบร้อน เขารีบคว้าชาเย็นข้างตัวมาดื่ม แต่ชารสชาติหวานเจี๊ยบกลับทำให้ทุกอย่างแย่ลง เขาใช้หลอดคน 2-3 ครั้งและรอให้น้ำแข็งละลาย ไม่นานหลังจากนั้น เขาเรียกเก็บเงินและเดินออกจากร้านไป

หลายครั้ง ลูกค้าร้านอาหารที่ไม่พอใจเพียงแค่ลุกออกจากร้านไปเงียบๆ เมื่อจ่ายเงินเสร็จและไม่กลับมาอีก ในกรณีของชายคนดังกล่าว เขาไม่ได้บอกร้านอาหารว่าข้าวผัดกะเพรานั้นเผ็ดเกินไปหรือชาเย็นนั้นหวานเชื่อม แต่ปัจจุบัน ขณะที่เขาก้าวออกจากร้าน ด้วยอุปกรณ์อย่างเซ็นเซอร์ กล้อง และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) พนักงานในร้านเริ่มสามารถบอกได้ว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น อุปกรณ์เหล่านี้สามารถตรวจจับอารมณ์จากสีหน้าท่าทางของลูกค้า และเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และจัดเก็บเป็นแฟ้มประวัติของแต่ละบุคคล ร้านอาหารจะทราบถึงความพึงพอใจของลูกค้าและสามารถป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจฟังดูเหมือนฉากหนึ่งจากนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ แต่จะชอบหรือไม่ก็ตามที นี่อาจเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย เพราะเหตุการณ์ข้างต้นนั้นใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในคาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านวงเวียนใหญ่ ซึ่งความจริงแล้วคือสตาร์ทอัพด้านเอไอสัญชาติไทยที่ชื่อ Eatlab

ดร.ชนิกานต์ ว่องวิริยะวงศ์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology คือซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านอาหารแห่งนี้ คาเฟ่ของอี๊ตแล็บนั้นอาบด้วยแสงธรรมชาติซึ่งลอดผ่านกระจกบานสูงจรดเพดานเข้ามา ภายในร้านนั้นตกแต่งด้วยโต๊ะไม้ โคมไฟห้อยเพดาน และหญ้าเทียม ทำให้คนทั่วไปอาจไม่สามารถบอกได้ทันทีว่าคาเฟ่แห่งนี้คือสตาร์ทอัพด้านเอไอ อันที่จริงแล้ว ภายในโคมไฟดีไซน์เก๋นั้นเป็นที่ซ่อนของกล้อง ขณะที่ใต้โต๊ะรับประทานอาหารแต่ละตัวจะมีเซ็นเซอร์ติดอยู่ “เราเก็บข้อมูลผ่านกล้องตรวจจับความร้อนและเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหว เพื่อดูปฏิกิริยาและพฤติกรรมของแขกในร้านขณะกินอาหาร รวมถึงสีหน้าและท่าทาง ดูว่าเขาจิบเครื่องดื่มหรือยกแก้วขึ้น มากี่ครั้ง อย่างตอนนี้ เราก็กำลังเก็บข้อมูลอยู่” ซีอีโอหน้าตาสะสวยกล่าวพลางยิ้ม

อี๊ตแล็บนั้นมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในปี 2557 จากหนึ่งในโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เนื่องจากตัวเลขและการวัดระดับความสุขเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ดร.ชนิกานต์ให้ความสนใจมาโดยตลอด เธอจึงเลือกทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและเริ่มเก็บข้อมูล เมื่อระยะเวลาการ ทำวิจัยใกล้สิ้นสุดลง เธอพยายามมองหา ช่องทางเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยต่อไปได้ และเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารนั้นเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย เธอจึงได้ร่วมก่อตั้งอี๊ตแล็บขึ้น ปัจจุบัน สตาร์ทอัพแห่งนี้มีพนักงานทั้งหมด 13 คน และหมายมั่นจะใช้เทคโนโลยีเอไอเพื่อช่วย ผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดและร้านอาหารรายย่อยสร้างข้อได้เปรียบเพื่อแข่งขันในตลาด

“ในอนาคต อี๊ตแล็บอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตึกนี้ อี๊ตแล็บอาจจะอยู่ทุกที่ ผู้บริโภคแต่ละคนจะพกข้อมูลไปกับเขาด้วยทุกแห่ง ไม่ว่าจะบนฟิตเนส แทรกเกอร์หรือสมาร์ทโฟน และข้อมูลเหล่านั้นจะถูกแชร์กับร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเรา ซึ่งข้อมูลที่แชร์นั้นไม่ใช่ข้อมูลส่วนตัวอย่างที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์ แต่เป็นข้อมูลที่จะบอกว่า คนนี้ชอบกินหรือไม่กินอะไร แพ้อาหารชนิดไหน เมื่อลูกค้าเดินเข้าไปในร้านอาหาร พนักงานจะรู้ได้ทันทีว่าลูกค้าคนไหนแพ้กระเทียม หรือชอบกินผัดซีอิ๊วรสชาติหวาน แต่เราก็อยากให้เทคโนโลยีของเราคำนึงเรื่องสุขภาพด้วย เช่นถึงลูกค้าจะชอบกินหวาน แต่ถ้าหวานเกินไปมันก็ไม่ดี ฉะนั้นอาหารที่กินควรจะเป็นสิ่งที่เขาทั้งชอบและดีต่อตัวเขา” ดร.ชนิกานต์อธิบาย

บางคนอาจคิดว่าอนาคตที่ดร.ชนิกานต์วาดฝันไว้นั้นฟังดูเหมือนฉากหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเสียมากกว่า แต่ภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมาปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ซึ่งเป็นคอนเซปต์กว้างๆ ของ machine learning หรือการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ด้วยตัวเองโดยการป้อนชุดข้อมูลต่างๆ เข้าไปนั้น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายๆ ด้าน เอไอถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตโฆษณา และกระทั่งการบริการ แม้แต่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลชุดปัจจุบันเอง ก็เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี เอไอเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

ในเดือนกรกฎาคมนี้ อี๊ตแล็บจะเปิดให้บริการร้านอาหารเต็มตัว เพื่อเพิ่มพื้นที่วิจัยสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหาร และช่วยให้พวกเขาสามารถปรับปรุงสูตรอาหารและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล อันเป็นงานที่หากมอบหมายให้มนุษย์ทำอาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่เป็นเรื่องง่ายดายสำหรับ เอไอที่ได้รับการตั้งโปรแกรมอย่างถูกต้อง

โดยทั่วไป เอไอจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ Strong AI ซึ่งหมายถึงปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบ และ Narrow AI หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงแคบ ซึ่งเป็นเอไอที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน และถูกใช้เพื่อการทำงานหรือแก้ปัญหาเฉพาะด้าน เหมือนในกรณีของผู้ช่วยเสมือนจริงบนอุปกรณ์ของ Apple อย่าง Siri โดยเราไม่สามารถนำปัญญาประดิษฐ์เชิงแคบที่ถูกสอนให้เล่นหมากฮอสไปแข่งหมากรุกได้ ในทางกลับกัน ปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบนั้นจะมีสติปัญญาใกล้เคียงหรือเทียบเท่ามนุษย์ และไม่ได้ฉลาดเฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น เอไอประเภทดังกล่าวจะสามารถสอนให้ตัวเองเล่นทั้งหมากฮอสและหมากรุกได้ดีเท่าๆ กัน

สิ่งนี้เองสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีหลายๆ คน ถึงผลกระทบของเอไอต่ออนาคตของมวลมนุษยชาติหากเอไอเริ่มมีสติปัญญาฉลาดกว่ามนุษย์ ปัจจุบัน เทคโนโลยีการประมวลผลนั้นมีทักษะเหนือมนุษย์แล้วในหลายๆ ด้าน เช่น ในด้านการคำนวณ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยแซม แฮริส นักประสาทวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันกล่าวว่า หากนำปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบซึ่งสามารถเข้าถึงคลังความรู้ทั้งหมดบนอินเทอร์เน็ต มาติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลได้อย่างทรงพลังมากพอ ปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวจะสามารถเรียนรู้จนมีสติปัญญาเทียบเท่ากับวิวัฒนาการ 20,000 ปีของมนุษย์ภายในหนึ่งสัปดาห์ และหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง เป็นไปได้ว่าเอไออาจปฏิบัติต่อมนุษย์เหมือนที่มนุษย์ปฏิบัติต่อมด กล่าวคือ ถึงเราจะไม่ได้ออกล่ามด แต่หากมันรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น มีฝูงมดขึ้นอาหารในครัว เป็นไปได้สูงว่าฝูงมดดังกล่าวจะโดนมนุษย์กำจัดภายในเวลาไม่กี่วินาที

ปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบนั้นจะมีสติปัญญาใกล้เคียงหรือเทียบเท่ามนุษย์ และไม่ได้ฉลาดเฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แม้นี่จะเป็นสิ่งที่ปรากฏในพล็อตเรื่องของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอย่าง The Terminator หรือ Ex Machina แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าการสร้างและนำปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบมาใช้งานอย่างแพร่หลายนั้นคงต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ “เราเชื่อว่ามนุษย์กับเครื่องจักรจะอยู่ร่วมกันได้ เอไอควรเข้ามาเพื่อช่วยไม่ใช่แทนที่มนุษย์ แต่ถ้าเรามัวสนใจแต่เรื่องผลประโยชน์และธุรกิจ เอไอที่เราสร้างขึ้นก็อาจลงเอยด้วยการให้โทษมากกว่าคุณดังที่หลายๆ คนหวาดกลัว ไม่ต่างจากเวลาเราสอนเด็กคนหนึ่ง มันเป็นคำถามเชิงศีลธรรมที่คนรุ่นปัจจุบันต้องตอบ” ดร.ชนิกานต์กล่าว

ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แรงงานบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร เหมือนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและพนักงานประจำสาขาธนาคาร ซึ่งดร.ชนิกานต์มองว่าวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคลผ่านการฝึกอบรมเพื่อสร้างทักษะที่จำเป็น รวมทั้งการศึกษานอกห้องเรียนในรูปแบบต่างๆ เธอเชื่อว่างานบางประเภทควรสงวนไว้สำหรับมนุษย์ ขณะที่งานที่ต้องเสี่ยงอันตรายหรือมีลักษณะเป็นกิจวัตรสามารถมอบหมายให้เครื่องจักรทำได้ “สุดท้ายแล้ว มันขึ้นอยู่กับผู้นำแต่ละองค์กร ว่าเขาจะดูแลพนักงานของเขาหรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนสูง ผู้บริหารต้องคิดว่าจะสร้างทักษะใหม่ๆ ให้พวกเขาได้อย่างไร เช่น สอนเรื่องทักษะการบริหารจัดการหรือทักษะด้านมนุษย์” เธอกล่าว

วสุพล ธารกกาญจน์ ผู้จัดการอาวุโสกลุ่มคลาวด์และธุรกิจองค์กรแห่ง Microsoft ประเทศไทยนั้นรับผิดชอบดูแลโครงการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทหลายโครงการ แม้ไมโครซอฟท์จะลงทุนทำวิจัยในโครงการใหญ่ๆ อย่างคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมด้วย แต่วสุพลกล่าวว่า บริษัทนั้นมุ่งเน้นไปที่การใช้เอไอเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากกว่า โดยยกตัวอย่างโครงการ อาทิ ‘น้องฟ้า’ ซึ่งเป็นแชทบอท (chatbot) ที่ไมโครซอฟท์ออกแบบให้สำหรับการบินไทย เพื่อโต้ตอบและพูดคุยกับผู้ใช้ในการตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเที่ยวบินและโปรโมชันต่างๆ

ด้วยความที่ไมโครซอฟท์นั้นเชี่ยวชาญในเรื่อง image processing หรือการประมวลผลภาพด้วยเอไอ ทางบริษัทจึงได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลเพื่อสร้างแอปพลิเคชันชี้จุดน้ำท่วมสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งแนะนำเส้นทางอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงโดยใช้ข้อมูลจากกล้อง CCTV ซึ่งติดอยู่ทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งยังออกแบบและติดตั้งแชทบอทบนแพล็ตฟอร์มให้บริการส่งข้อความ (อย่าง Facebook Messenger หรือ Line) เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคของพืชในขั้นต้นผ่านภาพถ่ายที่เกษตรกรส่งเข้ามายังระบบ

“เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ของไมโครซอฟท์เป็นบริษัท เทคโนโลยีเอไอของเราจึงปรากฏในหลายๆ แพล็ตฟอร์ม มันอาจไปอยู่บนไลน์หรือเฟสบุ๊ก เมสเซนเจอร์ แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังก็คือซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ การทำแบบนี้ช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีเหล่านี้ได้” วสุพลอธิบาย

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย ประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) นั้นดำรงตำแหน่งเป็นอุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 300 คน ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และนักวิจัย และมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งการจัดสัมมนา และการทำวิจัยในหัวข้อต่างๆ อาทิ การประมวลผลทางภาษา และศีลธรรมกับปัญญาประดิษฐ์

เราต้องถามตัวเองด้วยว่า ทำไมเราถึงอยากให้เอไอ เข้ามาทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แทนมนุษย์ ขณะที่เรายังสนุกกับมัน

“เราใช้เอไออยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราอาจจะไม่รู้ตัว อย่างเทคโนโลยีสแกนใบหน้าบนโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชันทายอายุบนเฟสบุ๊ก หรือรายชื่อสินค้าที่เราอาจสนใจซึ่งปรากฏขึ้นยามเราสั่งสินค้าผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์อย่างแอมะซอน คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่แล้วในระดับหนึ่ง” ดร.เทพชัยกล่าว ก่อนจะพูดถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์เชิงแคบอย่างแชทบอทว่า “ผมมองว่ามันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเอไอมากกว่า แทนที่พนักงานคอลเซ็นเตอร์จะใช้ 8 ชั่วโมงตอบคำถามเดิมซ้ำๆ เราสามารถใช้เอไอเพื่อช่วยตอบคำถามง่ายๆ แทน มนุษย์จะได้มีเวลาไปจัดการกับปัญหาอื่นๆ ที่ซับซ้อนกว่า คุณภาพชีวิตของเขาก็ดีขึ้นด้วย”

ปัจจุบัน ยังเป็นที่ถกเถียงว่าปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบจะนำไปสู่จุดสิ้นสุดของมนุษยชาติหรือไม่ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ช่วยเสมือนจริงที่ Google พัฒนาขึ้นสามารถโทรศัพท์เพื่อจองคิวร้านอาหารโดยที่คู่สนทนาไม่แม้แต่จะสงสัยว่าปลายสายที่กำลังพูดอยู่นั้นไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งได้นำไปสู่การถกเถียงอย่างร้อนแรงในเรื่องศีลธรรมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ กระนั้น อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถควบคุมเอไอได้ “เราต้องถามตัวเองด้วยว่า ทำไมเราถึงอยากให้เอไอเข้ามาทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แทนมนุษย์ขณะที่เรายังสนุกกับมัน เอไอควรถูกเอามาแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันมากกว่า นอกจากนี้ ปัญหาส่วนใหญ่ที่เราอยากให้เอไอแก้นั้นไม่ได้ต้องการเอไอที่มีความรู้สึกอย่างมนุษย์ ถ้าคิดดีๆปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เกี่ยวกับเอไอส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มาจากเครื่องจักร เอไออาจจะบอกเราให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับเรา” วสุพลกล่าว

นอกจากแซม แฮริสแล้ว ยังมีนักวิชาการอีกหลายคนที่แสดงความหวาดกลัวชัดเจนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ กระนั้น คนจำนวนหนึ่งที่ทำงานสายเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นวสุพล ดร.เทพชัย หรือกระทั่งดร.ชนิกานต์เอง ก็เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นผ้าขาว สิ่งที่มนุษย์ป้อนเข้าไปต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์ และในยามที่มนุษย์กับเครื่องจักรหันมาทำงานร่วมกันมากขึ้น มนุษย์ก็ต้องเปิดใจเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับโลกการทำงานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการบริหารจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ หรือกระทั่งการเขียนโปรแกรมง่ายๆ

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถเทียบเคียงกับระดับสติปัญญาของมนุษย์ได้ แต่เราต้องตระหนักเสมอว่า แม้พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์หลายครั้งอาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง เทคโนโลยีดังกล่าวก็แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในเกือบทุกแง่มุม และหลายครั้งก็เป็นไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น เอไอที่ช่วยเราหาเส้นทางเลี่ยงการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ หรือเอไอที่ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ตู้เย็น และหลอดไฟอัจฉริยะ หรือในกรณีของอี๊ตแล็บ เอไอที่อาจเข้ามาเปลี่ยนวิธีการผลิตและบริโภคอาหารของเราไปตลอดกาล

ดร.ชนิกานต์ยังต้องอาศัยเวลาและเงินทุนอีกจำนวนมาก กว่าจะสามารถทำให้เทคโนโลยีของเธอใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ประกอบการอย่างเธอเลือกใช้เอไอเป็นแก่นของธุรกิจนั้น บ่งบอกชัดถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทั้งในและนอกประเทศ ถึงขนาดที่ว่าพัฒนาการของเอไออาจเป็นความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบเชิงลึกที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนบอกเป็นนัยว่า เอไอจะทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อเราไม่รู้ว่ามันทำงานอยู่ และปล่อยให้อัลกอริทึ่มในเงามืดทั้งหลายเฝ้านับผล ประมวลผล และจำลองผลในความเร็วที่มนุษย์ไม่มีวันทำได้

โลกทั้งใบกำลังเปลี่ยนไปเบื้องหน้าเรา แต่เป็นไปได้มากว่า เราจะไม่แม้แต่รู้ตัว

Essentials


Eatlab

110/1 อาคารเคเอกซ์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถนนกรุงธนบุรี
โทร. 087-337- 1808
www.eatlab.space