HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Level Playing Field

ผู้ประกอบการไทย BLIX POP กับความพยายามเป็น 'ตัวต่อ' ส่งเสริมพัฒนาการและโอกาสการเรียนรู้สำหรับเด็กทุกคน

บ่ายอันร้อนระอุวันหนึ่งของเดือนกันยายน ณัชชา โรจน์วิโรจน์กำลังนั่งอยู่ในคาเฟ่บรรยากาศสงบเงียบติดแอร์เย็นฉ่ำ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากรถไฟฟ้าบางจาก แล็ปท็อปของเธอกำลังเล่นวิดีโอสั้นๆ จากงานระดมทุนและโครงการเพื่อสังคม (CSR) ที่เธอและทีมงานของเธอได้จัดขึ้น เธอเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ในวิดีโอ ซึ่งแสดงภาพเด็กชายคนหนึ่งนอนแผ่อยู่บนของเล่นตัวต่อสีสันสดใส เขายืดแขนออกไปสุดเอื้อมและใช้มือยึดอยู่กับขอบตัวต่อแน่น ก่อนจะดึงตัวเองไปข้างหน้าอย่างช้าๆ แต่มุ่งมั่น ร่างของเด็กน้อยค่อยๆ เขยิบไปบนพื้นผิวเรียบของตัวต่อทีละคืบ ใบหน้าของเขาปรากฏรอยยิ้มเจิดจ้า “เด็กคนนี้มีความพิการทางสมอง เขายืนไม่ได้ แต่ยังสามารถคลานไปรอบๆ คอยสัมผัสกับสิ่งต่างๆ และฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อได้ มันยังทำให้เขาสามารถพัฒนาสมรรถภาพร่างกายผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ ด้วย” ณัชชาอธิบาย

บรรดาคลิปวิดิโอบนแล็ปท็อปของณัชชานั้นเต็มไปด้วยเด็กๆ ใบหน้าเปื้อนยิ้มที่กำลังวิ่งและกระโดดโลดเต้นไปมารอบๆ ชุดสนามเด็กเล่นดังกล่าว ซึ่งสร้างขึ้นจากตัวต่อหลากสีขนาดยักษ์ ในอีกคลิปหนึ่ง เด็กหญิงตัวจ้อยกำลังเดินย่องไปบนตัวต่อทรงสี่เหลี่ยมสีเขียวและเหลือง ระหว่างที่เด็กเล็กคนอื่นๆ จดจ่ออยู่กับการจัดเรียงตัวต่อแต่ละชิ้นเพื่อสร้างสนามเด็กเล่นในรูปแบบใหม่ เด็กบางคนคลานลอดอุโมงค์ไปมา ขณะที่เด็กหญิงอีกคนกำลังเพลิดเพลินกับการเล่นเรือโยกเยกที่สร้างจากตัวต่อ เด็กวัยอนุบาลสองคนเอาฝ่ามือลูบพื้นผิวของตัวต่ออย่างลังเล ก่อนจะเปล่งยิ้มออกมาด้วยความประหลาดใจถึงผิวสัมผัสที่ต่างกัน เด็กๆ ในกลุ่มนี้มีทั้งเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นหรือความผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ และเด็กปกติทั่วไปปะปนอยู่ด้วย และทุกคนก็กำลังหัวเราะร่าพลางเล่นกันอย่างสนุกสนาน

ภาพดังกล่าวมีความหมายลึกซึ้งกว่าสิ่งที่หลายคนอาจคิดในแวบแรก ตามสถิติขององค์กร ADD International เด็ก 59 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้รับการศึกษา และในจำนวนนี้มักมีความพิการไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เด็กพิการเหล่านี้มักต้องเผชิญประสบการณ์ตรงอันขมขื่นเกี่ยวกับความล้มเหลวของระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติเชิงลบจากบุคคลรอบข้าง การขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก หรือการขาดความเข้าใจจากผู้ปกครองและโรงเรียน ในระบบการศึกษาไทยเองก็มีอุปสรรคสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ของบุคลากร ประเทศไทยนั้นมีครูสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษเพียงราว 350 คนจากทะเบียนรายชื่อครูทั้งประเทศ สวนทางกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังหลายคน อาทิ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งหลายครั้งเกิดการเลือกปฏิบัติต่อเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้หรือทางกายภาพ โดยเด็กกลุ่มนี้มักประสบความยากลำบากในการเข้าสังคมและมีปัญหาด้านพัฒนาการในอัตราที่สูงกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุหลักๆ นั้นมาจากการขาดแคลนระบบที่เหมาะสมในการดูแลพวกเขาในสถานศึกษา

คลิปวิดิโอบนคอมพิวเตอร์ของณัชชาอาจบอกใบ้ถึงความก้าวหน้าไปอีกขั้นในประเด็นดังกล่าว บริษัท BLIX POP ของเธอมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการออกแบบและพัฒนาของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการเรียนรู้ ด้วยประสบการณ์ และท้าทายข้อจำกัดของการศึกษาในปัจจุบัน (ในเด็กเล็ก) โดยการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

เดิมทีบริษัทบลิกซ์ พ็อพนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของณัชชา โดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่รายนี้สำเร็จการศึกษาในสาขาการออกแบบอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัย Academy of Art University ในซาน ฟรานซิสโก ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นของเธอเลือกออกแบบเฟอร์นิเจอร์หรือของใช้ในบ้านอย่างอื่นส่งเป็นโปรเจกต์จบการศึกษา ณัชชากลับนำเอาแรงบันดาลใจที่เธอได้รับจากการทำหน้าที่อาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ​ มาใช้ในงานออกแบบของตัวเอง “คุณแม่ของเรามีโอกาสเดินทางไปบริจาคเงินกับทางโรงเรียน และตอนที่อยู่ที่นั่นเราก็สังเกตเห็นป้ายประกาศรับอาสาสมัครสอนการบ้านและเล่นกับเด็กๆ ตรงนั้นเองคือจุดเริ่มต้นของเรา สำหรับโปรเจ็กต์วิทยานิพนธ์ ตอนนั้นเรารู้แค่ว่าจะทำผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่างสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา แต่ไม่ได้เจาะจงว่าจะทำของเล่น เราแค่สนใจเรื่องความท้าทายต่างๆ ที่เด็กกลุ่มนี้ต้องเผชิญ” ณัชชาในวัย 31 ปีเล่าย้อนไป

ณัชชาเดินทางกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อเริ่มทำวิจัยเบื้องต้น ก่อนจะกลับมาพำนักในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 1 ปีเพื่อศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัว “สิ่งที่เราสังเกตเห็นตอนไปเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอด คือเด็กๆ ไม่มีโอกาสออกไปเล่นข้างนอกบ่อยนัก แนวคิดในวิทยานิพนธ์ของเราจึงเป็นการยกเอาสนามเด็กเล่นที่ปกติจะอยู่กลางแจ้งมาไว้ในที่ร่ม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและผ่อนคลายกว่า” ณัชชาเล่า

ตามสถิติขององค์กร ADD International เด็ก 59 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้รับการศึกษา และในจำนวนนี้มักมีความพิการไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

และเธอก็ทำเช่นนั้นจริงๆ ชุดของเล่นของบลิกซ์ พ็อพนั้นผลิตจากโฟม EVA ปลอดสารพิษ และประกอบด้วยบล็อกสี่เหลี่ยมจตุรัส (ขนาด 30 x 30 ซม.) 40 ชิ้น โดยตัวต่อนั้นแบ่งออกเป็น 4 แบบ และมีชื่อเรียกกับสีที่ต่างกันออกไป ตัวต่อสีฟ้านั้นทำหน้าที่เป็นฐานของชุดสนามเด็กเล่น แต่ละด้านของตัวต่อนั้นประกอบด้วยปุ่มนูนและร่องกลม และมีแม่เหล็ก 2 แผ่นฝังอยู่ตรงส่วนมุม ทำให้ผู้เล่นสามารถนำตัวต่อแต่ละชิ้นมาเรียงต่อกันอย่างง่ายดาย “มันเป็นลูกเล่นที่สนุก และยังเหมาะกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เพราะเขาสามารถเรียนรู้จากการสัมผัสและค่อยๆ ประกอบตัวต่อแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน” ณัชชากล่าว

ตัวต่อสีเหลืองนั้นใช้เพื่อปรับระดับความสูง ลักษณะพื้นผิว และรูปทรงของสนามเด็กเล่น ขณะที่ตัวต่อสีเขียวนั้นเลียนแบบสีและผิวสัมผัสของพื้นหญ้า จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับพื้นผิวหลากรูปแบบ อีกทั้งยังเสริมสร้างพัฒนาการด้านประสาทสัมผัส ในขณะที่ตัวต่อไม้สีแดงทรงมนนั้นสามารถนำมาปรับเปลี่ยนเป็นทางเดินขอนไม้ เพื่อช่วยให้เด็กๆ พัฒนาทักษะการเดินและการทรงตัว

การประกอบตัวต่อเข้าออกและปรับเปลี่ยนชุดสนามเด็กเล่นในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อุโมงค์ สไลเดอร์ ไปจนถึงป้อมปราการ และเรือโยกเยก ช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ พร้อมทั้งกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไปในตัว “นอกจากนี้ เรายังสามารถส่งเสริมเรื่องการเข้าสังคม การเล่นเป็นกลุ่ม และทักษะด้านมิติสัมพันธ์ด้วย เราทำอุโมงค์หลายๆ อันต่อกันให้เด็กลอดผ่าน เพราะโดยปกติแล้วเด็กที่มีความต้องการพิเศษมักจะกลัวการลอดผ่านพื้นที่แคบๆ เราสามารถค่อยๆ ฝึกและให้กำลังใจเขา หรือไม่ก็สอนทักษะการใช้ร่างกายอย่างการก้มและการคลาน” ณัชชาเสริม

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะสำคัญที่ควรเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก “การฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การพัฒนาทักษะทางภาษา และการเข้าสังคมนั้นเป็น 4 เสาหลักของพัฒนาการเด็ก เราควรให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด เพราะในช่วงปีแรกๆ ของชีวิต สมองจะสร้างการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทใหม่ๆ เป็นล้านครั้งในแต่ละวินาที” นพ.บดินทร์ เวชวิทยาขลัง กุมารแพทย์แห่งโรงพยาบาลนครปฐม อธิบาย

การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทเหล่านี้เองเป็นรากฐานสำคัญที่กำหนดทักษะการเรียนรู้ ความสมบูรณ์ของสุขภาพร่างกาย และพฤติกรรมของเด็กในอนาคต ซึ่งประสบการณ์ชีวิตในช่วงปฐมวัยและสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตขึ้นมานั้นมีผลอย่างมาก นพ.บดินทร์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการฝึกปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีของเด็ก พร้อมทั้งเสริมว่า “ของเล่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการดังกล่าว เพราะเด็กเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการผ่านการเล่น”

“ช่วงอายุ 1 ถึง 3 ขวบ เด็กจะพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อ แต่ส่วนมากเด็กจะเล่นตามลำพังโดยปราศจากการพูดคุยหรือปฏิสัมพันธ์กับใคร เมื่อเข้าสู่ช่วงก่อนวัยเรียน เด็กจะสามารถเชื่อมโยงพัฒนาการทั้ง 4 ด้านเข้าด้วยกัน กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่จะเริ่มทำงานได้อย่างสอดคล้องกัน และการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทจะเพิ่มความซับซ้อนยิ่งขึ้น เด็กๆ จะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ ผ่านการเล่น การแบ่งปันสิ่งต่างๆ และการสื่อสาร ทำให้เด็กในวัยนี้ต้องการของเล่นที่มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม เพื่อเรียนรู้วิธีการเล่นและทำงานร่วมกัน” นพ.บดินทร์กล่าว

เด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นต้องเผชิญกับความท้าทายเฉพาะตัวในการเรียนรู้ทักษะต่างๆ ภายใต้ 4 เสาหลักแห่งพัฒนาการเด็กนี้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและระดับความรุนแรงของอาการ “แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้” ดร.ขวัญ รอสส์ นักจิตวิทยาคลินิกและนักการศึกษาปฐมวัย อธิบาย

ดร.ขวัญสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จาก Graduate School of Education มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และปริญญาเอกจาก California School of Professional Psychology ขณะนี้เธอดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการงานคลินิกแห่งศูนย์พัฒนาการเด็ก Little Sprouts ในกรุงเทพฯ และผู้อำนวยการโครงการเตรียมอนุบาล Little Explorers

การฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การพัฒนาทักษะทางภาษาและการเข้าสังคมนั้นเป็น 4 เสาหลักของพัฒนาการเด็ก

ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญจากหลากสาขาวิชา ซึ่งประกอบด้วยนักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักบำบัดการพูด และนักให้คำปรึกษา ศูนย์พัฒนาการเด็กลิตเติล สเปราทส์นั้นได้ออกแบบโปรแกรมที่บูรณาการความต้องการหลากหลายเข้าด้วยกันและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็กแต่ละคน โดยครอบคลุมตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่ม การฝึกทักษะการเข้าสังคม กิจกรรมบำบัด ไปจนถึงการให้คำปรึกษาครอบครัว และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “เรามีการเตรียมความพร้อมในหลายรูปแบบ โดยจะมุ่งเน้นไปในด้านพฤติกรรมและพัฒนาการ ซึ่งส่วนมากคือการให้ความช่วยเหลือเด็กโดยตรงและสอนให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจ” เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มนั้นสำคัญยิ่ง การให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ดร.ขวัญเน้นย้ำ เพราะจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถสังเกตถึงสัญญาณผิดปกติและพาเด็กเข้ารับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ

จริงอยู่ที่ของเล่นนั้นมีประโยชน์ในการกระตุุ้นความสนใจเด็กและฝึกกระบวนการคิด ความสร้างสรรค์ และการลองผิดลองถูก แต่ดร.ขวัญก็เสริมว่าทักษะทางสังคมนั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะแท้จริงแล้วของเล่นที่ดีที่สุดก็คือเด็กคนอื่นๆ สมาชิกในครอบครัว และคนรอบข้าง

ความท้าทายสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้น ประกอบด้วย 2 ประการหลักๆ กล่าวคือ การเปิดใจยอมรับและการเข้าถึงความช่วยเหลือ สำหรับดร.ขวัญ “การช่วยให้ผู้ปกครองเปิดใจยอมรับคำวินิจฉัย” นั้นเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ ซึ่งในจุดนี้นพ.บดินทร์มีความเห็นพ้องกัน พร้อมยังเสริมว่าการให้ความเยียวยาด้านจิตใจแก่ผู้ปกครองก็เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของกระบวนการบำบัด ขณะที่อุปสรรคอีกประการนั้นคือเรื่องทุนทรัพย์ เพราะการบำบัดตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based therapy) อันได้จากการสังเกตการณ์และทดลองนั้น มักมีค่าใช้จ่ายสูงและกินระยะเวลา จึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะเข้าถึงได้

เมื่อวิทยาพนธ์ระดับปริญญาโทของณัชชาสิ้นสุดลง บริษัทบลิกซ์ พ็อพก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้ผลิตของเล่นรายนี้ได้จับมือกับพันธมิตรและผู้สนับสนุนหลายราย ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลกรุงเทพฯ สยามพิวรรธน์ และเอสแอนด์พี ในการจัดงานระดมทุนและกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง เพื่อช่วยให้เด็กทั่วประเทศมีโอกาสเข้าถึงของเล่นชุดนี้มากขึ้น “ตอนเรียนจบ เรามีต้นแบบแค่ชุดเดียว เราเลยเริ่มโครงการระดมทุน ‘ไม่เห็น ก็เล่นได้’ เพื่อผลิตชุดของเล่นของเราและนำไปมอบให้โรงเรียนสอนคนตาบอด 16 แห่งทั่วประเทศ” ณัชชาเล่า นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดตัวโครงการเพื่อสังคม ‘รอยยิ้ม ของขวัญ แบ่งปัน ความสุข’ เพื่อให้การสนับสนุนศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่งทั่วประเทศ ภายหลังจบโครงการแรกอีกด้วย

ทุกวันนี้ชุดของเล่น ‘สนามจินตนาการ’ ของบลิกซ์ พ็อพ นั้นปรากฏอยู่ตามโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม โรงพยาบาล ศูนย์บำบัดต่างๆ สนามเด็กเล่น และศูนย์การศึกษาทั่วประเทศ โดยยังมีชุดของเล่นขนาดเล็กสำหรับครอบครัววางจำหน่ายอีกด้วย และในช่วงสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา บลิกซ์ พ็อพได้จัดการแข่งขัน Olympic Blixpop 2018 เป็นครั้งแรก โดยได้ชักชวนเด็กจากโรงเรียนและองค์กรต่างๆ มากกว่า 100 แห่งทั่วทั้งประเทศ มาร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเฉพาะตัวในการประกอบชุดสนามเด็กเล่นในแบบของตัวเอง

นอกจากกระแสตอบรับที่ดีภายในประเทศแล้ว บลิกซ์ พ็อพยังได้ออกไปสร้างชื่อเสียงบนเวทีโลกด้วย โดยทางบริษัทได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น รวมทั้งได้คว้ารางวัลชนะเลิศจากหลายเวที อาทิ รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีหรือ Design Excellence Award ประจำปี 2561 จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และรางวัลเหรียญทองจากงาน Salon International Des Inventions ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา

บริษัทบลิกซ์ พ็อพนั้นยังคงเดินหน้าออกแบบและสร้างสรรค์ของเล่นใหม่ๆ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และมีแผนจะขยายธุรกิจไปยังประเทศญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้

แม้ชุดของเล่นนี้จะไม่อาจทดแทนแพทย์หรือการเข้ารับการบำบัดอย่างจริงจังได้ แต่การหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กอย่างทันท่วงทีและการเสริมสร้างความตระหนักรู้ของคนรอบข้างนั้น ถือเป็นการช่วยปูทางไปสู่โอกาสในการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในประเทศไทย สำหรับณัชชาแล้ว สิ่งที่ฉุดรั้งเด็กๆ กลุ่มนี้ไว้หาใช่ปัญหาเรื่องความบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่คือการขาดแคลนโอกาส ซึ่งช่องว่างดังกล่าวนั้นอาจลดลงได้ทีละนิด ผ่านการต่อตัวต่อทีละชิ้นของเธอนั่นเอง

Essentials


BLIX POP

6 ซอยพึ่งมี 7 ถนนสุขุมวิท 93
โทร. 088-520-2616
fb.com/blixpop