HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Good Vibes Only

เอ็ดดี้-ญาณวุฒิ จรรยหาญ หรือ ‘พี่เอ็ด7วิ’ กับความสำเร็จในการทำคอนเทนต์สร้างเสียงหัวเราะที่เริ่มต้นจากความเหนื่อยหน่ายต่อวงการดนตรี

ร็อกสตาร์อาจเป็นอาชีพในฝันของหนุ่มสาวหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่ทศวรรษ 1950s ที่เอลวิส เพรสลีย์ ราชาร็อกแอนด์โรลล์ ได้ขยายอิทธิพลของเพลงโมเดิร์นป๊อปไปทั่วโลกผ่านเสียงร้องและการเต้นอันโดดเด่น การมีชื่อเสียงนำพาสิ่งดีๆ มาให้ชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความคลั่งไคล้ในหมู่แฟนคลับ คำชื่นชมจากนักวิจารณ์ หรือการเป็นอิสระจากงานประจำที่ซ้ำซาก แต่ก็มาพร้อมราคาที่แพงไม่น้อย ศิลปินบางคนอาจเจอผู้จัดการส่วนตัวที่ไม่จริงใจ ต้นสังกัดที่เห็นแก่ได้และเอาแต่กดขี่ การแข่งขันในวงการเพลงที่ไม่มีวันจบ และตารางทัวร์คอนเสิร์ตที่แน่นจนแทบไม่มีเวลาพัก สิ่งเหล่านี้ทำลายจิตวิญญาณอันมุ่งมั่นและกล้าแกร่งของศิลปิน

ญาณวุฒิ จรรยหาญ หรือ ‘เอ็ดดี้’ อดีตมือกลองของ Jetset’er วงป๊อปร็อกยอดนิยมแนวหน้าของไทย ก็เคยอยู่ในสภาวะเหน็ดเหนื่อยจากเส้นทางสายดนตรี ทำให้เขาตัดสินใจเบนเข็มไปทำงานสายอื่นและกลายมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ได้รับความนิยมและทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของไทยในเวลานี้

“ต้องบอกว่าการเป็นศิลปินวงดนตรีร็อกมันคือเกมของคนหนุ่มที่กำลังมีไฟ การทำวง Jetset’er เป็นประสบการณ์ที่สุดยอดมาก วงนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยที่ผมยังเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นผมไม่ค่อยสนใจเรื่องเรียนเท่าไร ใช้เวลาขลุกอยู่แต่ในชมรมดนตรีกับเพื่อน และหาอะไรทำสนุกๆ ด้วยกัน หลังจากนั้นไม่นานพวกเราก็พัฒนามาเป็นวง Jetset’er ซึ่งพาเราไปสู่ความสำเร็จมากมาย จนวันหนึ่งมันเกิดจุดเปลี่ยนในชีวิต คือทุกครั้งที่ต้องไปออกทัวร์เพื่อขึ้นแสดงบนเวที เวลาที่เราต้องยกเครื่องดนตรีและอุปกรณ์การแสดงขึ้นรถตู้เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ผมจะรู้สึกแปลกๆ รู้สึกว่างานนี้มันไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว” เอ็ดดี้เล่าเรื่องราวในอดีต

ในขณะที่ไฟฝันบนเส้นทางการเป็นศิลปินร็อกของเอ็ดดี้กำลังค่อยๆ มอดลงจากความจำเจของเนื้องาน เขากลับไม่รู้ตัวเลยว่าเขาได้บังเอิญจุดไฟแห่งความเป็นไปได้ในอีกเส้นทางอาชีพหนึ่งไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะมิตรภาพและประสบการณ์ต่างๆ ที่มีร่วมกับเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมวงดนตรี และเพื่อนศิลปินร่วมวงการดนตรีไทย มีส่วนสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จบนเส้นทางใหม่ของเอ็ดดี้ในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้ติดตามนับล้านบนโซเชียลมีเดียและแบรนด์สินค้าชั้นนำของประเทศหลายเจ้า

เพื่อนคนสำคัญที่ใช้ชีวิตและสนิทกับเอ็ดดี้มาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาในชมรมดนตรีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างแนตตี้-จิรุตถ์ ตันติวรอังกูร คัตโตะ-อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล และโค้ดดี้-อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล คือคนที่ เปิดประตูสู่โอกาสของการสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่เอ็ดดี้หลังตัดสินใจหยุดความฝันบนเส้นทางสายดนตรี

ในขณะที่ไฟฝันบนเส้นทางการเป็นศิลปินร็อกของเอ็ดดี้กำลังมอดลงจากความจำเจของเนื้องาน เขากลับไม่รู้ตัวเลยว่าได้บังเอิญจุดไฟแห่งความเป็นไปได้ในอีกเส้นทางเพราะมิตรภาพกับเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย

หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนตตี้และคัตโตะเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จในวงการดนตรีไทยเช่นเดียวกับเอ็ดดี้ คัตโตะเป็นนักร้องนำวง Lipta ส่วนแนตตี้เป็นหนึ่งในสมาชิกของ No One Else วงดนตรีแนวโซลอาร์แอนด์บี ทั้งสามคนรวมไปถึงโค้ดดี้ สร้างช่องยูทูบที่มีชื่อว่า ‘เสือร้องไห้’ เพื่อทำคลิปวิดีโอแนวล้อเลียนตลกขบขัน ซึ่งเป็นกระแสโด่งดังและได้รับการตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม โดยเอ็ดดี้เล่าว่าไอเดียต่างๆ ในการทำคอนเทนต์ช่องเสือร้องไห้มาจากโค้ดดี้ ผู้เป็น ‘มันสมอง’ ของกลุ่ม เชี่ยวชาญด้านการทำวิดีโอโปรดักชั่น อีกทั้งยังมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลไปถึงเทรนด์ที่น่าจะเป็นกระแสในอนาคต

SignalFire กลุ่มธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) ในสหรัฐอเมริกา อธิบายความหมายของคำว่า ระบบเศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ (creator economy) ว่าเป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นจากกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักคัดสรรคอนเทนต์ (content curator) และผู้สร้างชุมชนออนไลน์อิสระที่มีจำนวนถึง 50 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งประกอบไปด้วยอินฟลูเอนเซอร์ในโลกโซเชียลมีเดีย บล็อกเกอร์ นักเขียน ช่างภาพ นักดนตรี และช่างภาพวิดีโอ รวมไปถึงระบบซอฟต์แวร์และตัวช่วยทางการเงินที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเติบโตและการสร้างรายได้ของอาชีพเหล่านี้ โดยช่วงที่เสือร้องไห้กำลังเริ่มต้นนั้น อาจถือเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ช่วงตั้งไข่ ซึ่งมาถึงวันนี้ได้สร้างเม็ดเงินมหาศาล นิตยสารฟอร์บส์คาดการณ์ว่ามูลค่าของวงการนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 104.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022

เมื่อ 10 ปีที่แล้วโค้ดดี้ถือเป็นหนึ่งในคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เล็งเห็นและตระหนักถึงกระแสการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาจึงเสนอไอเดียให้เพื่อนๆ ในกลุ่มเสือร้องไห้สร้างคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนและโดดเด่นของช่องขึ้นมาเพื่อสร้างภาพจำให้แต่ละคอนเทนต์ที่ผลิตออกไป

ช่วงเวลานั้น PSY แรปเปอร์จากเกาหลีใต้กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลกจากเพลงฮิตและมิวสิควิดีโอที่คนพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง Gangnam Style โค้ดดี้และเอ็ดดี้จึงรีบคว้าโอกาสด้วยการทำวิดีโอล้อเลียนแปลงเพลงกังนัมสไตล์ขึ้นมา โดยใช้ฉากหลังเป็นสถานที่ต่างๆ ในไทยทั้งตลาดสด สวนสนุก แทรกไปกับบรรยากาศบนรถตุ๊กๆ รถทัวร์ และเครื่องบินของสายการบินนกแอร์ ความตลกสุดกวนผ่านการแกล้งกันไปมาระหว่างสมาชิกเสือร้องไห้และคนอื่นที่มาร่วมแสดง รวมถึงเสื้อผ้าโดดเด่นติดตาทั้งกางเกงเลและเสื้อสงกรานต์สีสันสดใส สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมได้ทันทีที่รับชม

เรามองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ เราพยายามสร้างมุมมองด้านบวกให้ผู้ติดตามของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ พวกเขารู้ว่าเมื่อดูคอนเทนต์ของเราแล้ว ก็จะได้รับความสนุก ได้เห็นเคมีดีๆ ในแบบฉบับของเสือร้องไห้

แน่นอน โค้ดดี้ไม่ได้ทำวิดีโอพาโรดี้ชิ้นนี้ออกมาเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่ตั้งใจใช้เป็นตัวอย่างผลงานสำหรับขายลูกค้าในการทำคอนเทนต์วิดีโอครั้งต่อๆ ไปของช่อง ซึ่งการมองการณ์ไกลของเขาในครั้งนั้นทำให้เสือร้องไห้สามารถสร้างรายได้มากมาย ตั้งแต่โพสต์บนยูทูบในเดือนสิงหาคม ปี 2012 คลิปนี้มียอดเข้าชมแล้ว 40 ล้านครั้งและจำนวนกดชื่นชอบสูงถึง 156,000 ครั้ง ความนิยมอันท่วมท้นนี้ ส่งผลให้เส้นทางสู่ความสำเร็จของช่องเสือร้องไห้ในอนาคตหลังจากนั้นราบรื่น

ปัจจุบัน ช่องเสือร้องไห้มียอดผู้ติดตามบนยูทูบจำนวน 2.33 ล้านแอ็กเคานต์ และเป็นที่น่าเชื่อถือในหมู่แบรนด์ชั้นนำของไทยในการผลิตคอนเทนต์เพื่อนำเสนอสินค้าและเนื้อหาสำคัญต่างๆ ที่แบรนด์ต้องการจะสื่อแก่ลูกค้า ในรูปแบบที่พลิกความคาดหมายและโดนใจผู้ชม เนื้อหาวิดีโอคอนเทนต์ของช่องมีตั้งแต่รีวิวร้านอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงการแปลงหรือล้อเลียนบทละครหรือคลิปดังๆ ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนั้นๆ ส่วนลูกค้าที่มาร่วมงานกับช่องก็มีทั้งโรงพยาบาลระดับแนวหน้าอย่างโรงพยาบาลกรุงเทพ ผลิตภัณฑ์นมชื่อดังอย่างดัชมิลล์ แบรนด์เครื่องสำอาง เช่น Skinsista แบรนด์อาหารกึ่งสำเร็จรูปอย่างยำยำ หรือแม้แต่บริษัทชั้นนำของไทยอย่างปตท.

เอ็ดดี้กล่าวว่าการตลาดของช่องเสือร้องไห้มีรูปแบบเหมือนสายการบินราคาประหยัด คือเป็นผู้ให้บริการที่มีหน้าที่พาผู้ชมวิดีโอไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการโดยไม่มีบริการเสริมพิเศษอื่นใดเพิ่มเติม เพราะวิดีโอคอนเทนต์ของช่องเสือร้องไห้นั้นใช้ทุนต่ำหากเทียบกับบริษัทหรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์รายใหญ่อื่นๆ ที่ทำคอนเทนต์ส่งเสริมการตลาดในรูปแบบเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ที่แบรนด์ได้รับนั้นเกินคุ้มแถมยังสร้างความพอใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แน่นอนว่าเพื่อนทั้งสี่ผู้ทำช่องเสือร้องไห้ไม่ได้หยุดความสำเร็จของพวกเขาไว้เท่านี้ พวกเขาต่อยอดความสำเร็จด้วยการย้ายมาอยู่ใต้ชายคา ‘กู๊ด ดีล เอ็นเตอร์เทนเมนท์’ (Good Deal Entertainment) บริษัทที่เปรียบได้กับอาณาจักรแห่งคอนเทนต์คุณภาพ ร่วมกับช่องใหม่ๆ ที่ผลิตและเผยแพร่วิดีโอคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาน่าสนใจต่างกันไป โดยมีโค้ดดี้เป็นคนกุมบังเหียนหลัก GoodDayOfficial เป็นหนึ่งในช่องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังก่อตั้งบริษัทกู๊ด ดีล เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เพื่อผลิตคอนเทนต์หรือรายการที่มีคนดังในวงการบันเทิงเป็นพิธีกร เช่น ‘ล้างตู้เย็น’ รายการทำและรีวิวอาหารโดยนักร้องชื่อดัง เบน-ชลาทิศ ตันติวุฒิ และ ‘ถ้าโลกนี้ไม่มี GPS’ ดำเนินรายการโดยดีเจเผือก พงศธร จงวิลาส ในขณะที่ผู้ก่อตั้งช่องเสือร้องไห้ทั้งสี่ต่างแยกย้ายกันไปรับผิดชอบช่องใหม่ของตัวเองที่สร้างเพิ่มขึ้นมา เช่น เอ็ดดี้ที่ได้สร้างความนิยมและดึงดูดใจผู้ชมผ่านมุกตลกแหวกแนวในแบบเดียวกับช่องเสือร้องไห้ผ่านเพจชื่อ ‘พี่เอ็ด7วิ’ จนมียอดซับสไครบ์ในยูทูบถึง 171,000 แอ็กเคานต์

กล่าวได้ว่าทีมเสือร้องไห้เดินทางมาไกลมากนับตั้งแต่ขวบปีแรกๆ ที่พวกเขารวมกลุ่มกันใช้เวลาส่วนใหญ่นอกห้องเรียนเพื่อเล่นเกม แต่งเพลงและเล่นดนตรีในชมรมดนตรี ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้เอ็ดดี้ตัดสินใจยุติบทบาทมือกลองประจำวง Jetset’er และหันมาจริงจังกับงานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ การดูแลครอบครัว และล่าสุดกับการเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นเป้าหมายใหม่อย่างเต็มที่

“การเป็นนักดนตรีอาชีพบังคับให้เราต้องทำสิ่งต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ ทั้งออกทัวร์คอนเสิร์ตหรือผลิตผลงานต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อสัญญา แต่พอมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เราสามารถเลือกโปรเจกต์และลงมือทำในเวลาไหนก็ได้ที่ต้องการ” เอ็ดดี้กล่าว

อุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยมีแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสูง ส่งผลให้เหล่ายูทูบเบอร์ที่ต้องการสร้างรายได้จากวิดีโอคอนเทนต์ของตัวเองพยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้ช่องของตัวเองกลายเป็นที่จดจำและอยู่ในระดับแนวหน้าของวงการ จึงไม่แปลกที่การแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำในตลาดนี้จะเข้มข้นและหนักหน่วง แม้ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนถึงตัวเลขที่แสดงขนาดและมูลค่าของระบบเศรษฐกิจนักสร้างสรรค์ไทยในปัจจุบัน แต่ด้วยการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาโลกดิจิทัลสูงมากของคนไทย คนธรรมดาทั่วไปที่ต้องการหารายได้จากคอนเทนต์ออนไลน์จึงได้โอกาสสร้างตัวตนในวงการนี้โดยไม่ต้องใช้งบลงทุนสูงๆ จากรายงานการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลออนไลน์ฉบับล่าสุดของ DataReportal ระบุว่ามีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในไทยสูงถึงราว 56.8 ล้านคน หรือ 81.2% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 6 นาทีต่อวัน โดย 96.2% ของจำนวนดังกล่าวใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 28 นาทีต่อวัน ด้วยจำนวนและประเภทของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่หลากหลายในประเทศไทย คอนเทนต์ครีเอเตอร์จึงมีช่องทางเหลือเฟือในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ของตัวเองทั้งยูทูบ อินสตาแกรม ติ๊กต็อก สแนปแชต และเฟซบุ๊ก คือตัวอย่างเครื่องมือที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถใช้ในการหารายได้และเผยแพร่ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง

ช่องเสือร้องไห้เป็นช่องที่อยู่ในจุดได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ ในวงการนี้ ข้อได้เปรียบหนึ่งก็คือการที่พวกเขาเป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงและฐานแฟนคลับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเอ็ดดี้ คัตโตะ หรือแนตตี้ อีกหนึ่งข้อได้เปรียบคือการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้มาก่อนกาลและสั่งสมประสบการณ์ด้านการสร้างสรรค์วิดีโอคอนเทนต์มายาวนานกว่า 10 ปี นอกจากนี้พวกเขาทั้งสี่ยังมองว่าความง่ายๆ เป็นกันเองระหว่างกัน และวิธีการนำเสนอคอนเทนต์ที่เสพง่ายแฝงความตลกขบขัน ก็ช่วยให้ช่องของพวกเขาโดดเด่นท่ามกลางกระแสคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่กำลังมาแรง

“ถ้าจะให้แตกออกมาว่าองค์ประกอบอะไรที่สำคัญต่อความสำเร็จของพวกเรา คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ‘ความสนุก’ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยชื่นชอบ คนดูวิดีโอคอนเทนต์ของเราสามารถสัมผัสได้เลยว่าทีมของพวกเราสนุกกับการทำงาน ทุกอย่างเริ่มต้นและไปต่อได้ด้วยการทำคอนเทนต์ที่คนรู้สึกสนุก รู้สึกได้รับการแบ่งปัน และเข้าถึงสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ ทุกอย่างสร้างสรรค์จากมุกตลกที่เกิดขึ้นในหัวของเราและเราก็อยากให้ผู้ชมมาร่วมสนุกผ่านวิธีการเล่าคอนเทนต์ในแบบที่พวกเราสนใจ” โค้ดดี้กล่าว

อย่างไรก็ดี วงการครีเอเตอร์ก็ไม่ต่างจากวงการบันเทิงที่มีวันขึ้นก็ย่อมมีวันลง โดยเฉพาะเมื่อคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ทำกันซ้ำๆ ตามกระแส แต่สำหรับช่องเสือร้องไห้ เคมีที่เข้ากันของชาวช่องและเหล่าทีมงานคือพลังสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาเป็นที่จดจำ นอกจากนั้น เอ็ดดี้ขยายความว่าช่วงอายุของทีมงานเสือร้องไห้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนยุคเก่าและยุคใหม่เองก็ช่วยดึงดูดความสนใจทั้งลูกค้าแบรนด์ต่างๆ และผู้ติดตามในทุกช่วงวัย

“ทีมงานของพวกเราไม่ได้เด็กและไม่ได้แก่จนเกินไป ทำให้คอนเทนต์ที่ผลิตออกมามีความกลมกล่อมพอดีและครอบคลุมคนหลายรูปแบบ คอนเทนต์ครีเอเตอร์เด็กๆ มักใช้คำสบถหรือคำสแลงตามกระแส ซึ่งช่วยดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้ชมในวัยเดียวกัน แต่กลับเข้าไม่ถึงกลุ่มผู้ชมที่อยู่ในช่วงอายุที่มาก อีกทั้งอาจสร้างภาพจำบางอย่างแก่ครีเอเตอร์คนนั้นๆ ด้วย เรามีลูก 2 คน เราเลยพยายามไม่สร้างตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเราเห็นในคลิป ดังนั้นคอนเทนต์ที่ออกมาจึงเหมาะสำหรับครอบครัว และสร้างความสนใจให้แก่แบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการดึงดูดผู้ชมทุกรูปแบบให้มาร่วมงานกับเรา” เอ็ดดี้กล่าว

นอกจากนี้เอ็ดดี้ยังเชื่อด้วยว่าการทำงานด้วยแนวคิด ‘พลังงานบวก’ หรือ positive vibes only เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสร้างผลตอบรับที่ดีให้แก่ทีมงาน

“เรามองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับความคิดเห็นแย่ๆ ถ้าเราไม่ชอบอะไร เราก็ไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาใช้ในการทำงาน เราพยายามสร้างมุมมองด้านบวกให้แก่ผู้ติดตามของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ พวกเขารู้ว่าเมื่อดูคอนเทนต์ของเราแล้ว ก็จะได้รับความสนุก ได้เห็นเคมีดีๆ ในแบบฉบับของเสือร้องไห้ที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้โดยไม่ต้องมีคำหยาบ” เอ็ดดี้กล่าว

แม้งานดนตรีจะกลายเป็นเพียงความหลังที่ไว้หวนระลึกยามคิดถึงของเอ็ดดี้ แต่กับเสือร้องไห้ พี่เอ็ด7วิ รวมถึงงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ตามช่องทางต่างๆ คือปัจจุบันสมัยที่เขาต้องดูแลเอาใจใส่และให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ และด้วยผลตอบรับในแง่บวกจากผู้ติดตามที่นิยมชมชอบเขามานาน ความสำเร็จในฐานะคอนเทนต์ครีเอเตอร์นาม ‘พี่เอ็ด7วิ’ ย่อมจะสร้างความสุขให้แก่ผู้ติดตามบนโลกออนไลน์ไปได้อีกยาวนานไม่แพ้จำนวนเลข 55555 ที่เขาได้สร้างขึ้นในช่องคอมเมนต์ของผู้ชม