HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Plant Economy

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่กับบ้าน ความนิยมไม้ประดับกลับเบ่งบานเต็มที่จากโลกอินเทอร์เน็ตและเหล่าดาราคนดังที่พร้อมใจกันโพสต์รูปไม้เขียวชุ่มชื่นใจ

เมื่อพูดถึงเงินจำนวน 1.4 ล้านบาท หลายคนอาจคิดว่าเป็นราคาของรถรุ่นใหม่ หรือค่าเทอมต่อปีการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติชั้นนำในกรุงเทพฯ หรือรายได้ต่อปีจากการทำงานหรือการลงทุนของใครสักคน

แต่ถ้าบอกว่าตัวเลข 1.4 ล้านบาท คือราคาของไม้ประดับต้นหนึ่ง คนที่ไม่ได้สนใจวงการนี้อาจไม่เชื่อหูของตัวเอง โดยไม่นานมานี้ แม่ค้าร้านต้นไม้แห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกโพสต์เรื่องผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเธอเพิ่งขายไม้ประดับพันธุ์มอนสเตอร่าด่างมินต์ ซึ่งมีฉายาในตลาดต้นไม้เมืองไทยว่า ‘ราชินีแห่งใบไม้’ ไปด้วยราคาที่สูงถึง 1.4 ล้านบาท มอนสเตอร่าสายพันธุ์ดังกล่าวคือหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของต้นมอนสเตอร่า ไม้ประดับยอดนิยมที่คนไทยมักเรียกรวมๆ ว่าต้น ‘พลูแฉก’ (Swiss cheese plant) ซึ่งสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ของโลก

โพสต์ของเธอกลายเป็นไวรัลของโลกออนไลน์ และจุดกระแสความนิยมพันธุ์ไม้นี้ในวงการต้นไม้ สำนักข่าวหลายแห่ง เช่น ช่อง 7 และข่าวสด รับลูกเอาไปรายงานต่อ ตามมาด้วยการเสนอรายงานเจาะลึกแวดวงไม้ประดับในไทยที่ชวนให้ตกตะลึงกับอีกหลายเรื่อง เช่น กล้วยด่างราคาต้นละ 10 ล้านบาท หรือมอนสเตอร่าอีกสายพันธุ์ที่มีราคาแพงถึง 2.6 ล้านบาทต่อต้น

กระแสมูลค่าของไม้ประดับได้เพิ่มจำนวนคนที่สนใจปลูกไม้ประดับอย่างจริงจังมากขึ้น ดาราคนดัง และอินฟลูเอนเซอร์หลายคนสามารถเพิ่มยอดผู้ติดตามได้ถึงหลักหมื่นหลังเริ่มโพสต์ภาพไม้ประดับที่เลี้ยงเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายพันธุ์ไม้ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกถึงหลักแสนอย่างคึกคัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความนิยมปลูกต้นไม้ในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียลที่อาจมีมากถึงหลักล้านคน กระตุ้นให้เกิดช่องทางการซื้อขายใหม่ๆ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และยกระดับตลาดต้นไม้ให้กลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงและซื้อขายเร็วดุจฟ้าแลบ

กระแสตลาดต้นไม้ที่เกิดขึ้นนับว่าประจวบเหมาะกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้คนไทยนับล้านๆ ต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน การหางานอดิเรกใหม่ๆ ทำในช่วงกักตัวคือหนทางบรรเทาความเครียดและเบื่อหน่าย และการปลูกต้นไม้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในงานอดิเรกยอดนิยม อย่างไรก็ดี ถ้าให้พูดถึงที่มาของกระแสนิยมไม้ประดับในบ้านแล้ว คงต้องย้อนกลับไปไกลกว่าปี 2563

ต้นไม้ไม่ได้ต้องการการประคบประหงมมากเท่าสัตว์เลี้ยง แต่ก็สามารถทำให้เจ้าของรู้สึกมีความสุขที่สามารถดูแลมันได้โดยเฉพาะตอนที่ต้นไม้ผลิใบใหม่ หรือง่ายๆ แค่ไม่ทำมันตาย คุณก็อยากแชร์ให้ทั้งโลกรับรู้แล้ว

ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 วิกฤตมลพิษในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทั่งการมีหมอกควันปกคลุมเมืองกลายเป็นเรื่องปกติของฤดูกาล และค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงขึ้นก็ทำให้ผู้คนอยากจะหลบอยู่แต่ในอาคารมากกว่าออกไปกลางแจ้ง ยิ่งเมื่อคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวไม่ถึงอัตราส่วน 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คนตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ปัญหามลพิษเช่นฝุ่นจึงซ้ำเติมวิกฤตของคนเมืองที่แต่เดิมก็แย่อยู่แล้วให้เลวร้ายลงอีก

สำหรับบางคน ต้นไม้คือวิธีธรรมชาติที่จะช่วยฟอกอากาศในที่พักอาศัยของตัวเอง ถึงแม้ความจริงอาจไม่ช่วยให้ห้องบริสุทธิ์ขึ้นมากนัก ขณะที่อีกส่วนก็อยากประดับต้นไม้ต่างๆ ไว้ในบ้านเพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายเหมือนได้ออกนอกบ้าน

“การสร้างพื้นที่สีเขียวในบ้านเป็นหนึ่งในวิธีเพิ่มความสดชื่นให้ทั้งที่พักอาศัยและตัวเราเองโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก แถมยังได้ผลดีด้วย” ณัฐชยา มฤทธิดา จากร้านการะเกด การ์เด้นซึ่งเป็นธุรกิจในครอบครัวที่ขายต้นไม้ในย่านอ่อนนุชมาแล้วกว่า 50 ปี กล่าว

ในขณะที่บางคน เช่น กิม-นิรัช ตรัยรงคอุบล อดีตนักเขียนคอลัมน์อาหารของนิตยสาร Vogue และ Hello! ค้นพบว่าการเยียวยาสุขภาพจิตด้วยธรรมชาตินั้นมีประโยชน์อย่างคาดไม่ถึง หลายปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 กิมเลี้ยงไม้ประดับเพื่อเพิ่มสีเขียวให้ร้านอาหารของตัวเองตามหลักฮวงจุ้ย หลังจากพบว่าต้นไม้ทำให้จิตใจของเขาสงบ งานอดิเรกนี้จึงต่อยอดมาเป็นการเปิด Pluto Houseplant Studio ร่วมกับหุ้นส่วน วริศ ลิขิตอนุสรณ์ บนพื้นที่ชั้นบนของร้านอาหารตำตำ ส้มตำพัทยา ในย่านสาทร โดยเน้นขายต้นพลู ซึ่งเขาให้เหตุผลว่าเพราะมัน “โตเร็ว ขายง่าย ตายยาก” แต่เพราะผลกระทบของโควิด-19 กิมจึงต้องปรับรูปแบบมาเป็นร้านต้นไม้ออนไลน์ที่ยังให้บริการนักปลูกต้นไม้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักปลูกมือใหม่ หรือคนมือร้อนที่ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น

ชุมชนผู้ชื่นชอบไม้ประดับสร้างกระแสให้ต้นไม้ที่อยู่ในความต้องการเป็นเหมือนคอลเลกชันเฉพาะฤดูกาล เช่น เดือนนี้เป็นต้นมอนสเตอร่าบอร์สิเจียน่าอัลโบใบด่าง แต่เดือนหน้าอาจเปลี่ยนไปนิยมบอนสีแทน วงจรแบบนี้อาจนำไปสู่วิกฤตฟองสบู่ในวงการไม้ประดับได้

กิมหวนคิดถึงช่วงแรกๆ ที่ตัวเองเข้าสู่วงการนักปลูกต้นไม้ว่า “ทุกคนเคยทำต้นไม้ตายกันทั้งนั้นแหละ ผมเองก็ทำตายไปนับไม่ถ้วน”

ถึงอย่างนั้น เขาก็ย้ำถึงประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ว่า “ต้นไม้ก็มีชีวิตไม่ต่างไปจากสัตว์เลี้ยง มันช่วยบำบัดความทุกข์ของเราได้”

เมื่อมองดูสถานการณ์ในโลกที่มีความไม่แน่ไม่นอนจากหลายเรื่อง เรื่องธรรมดาๆ เช่น การปลูกต้นไม้สักต้นอาจช่วยสร้างบรรยากาศที่แตกต่างให้กับผู้คนได้ ปุ๊ย–แพรวไพลิน ศิริชัยมนัส ผู้ร่วมก่อตั้งร้านขายต้นไม้และสินค้าไลฟ์สไตล์ Garden Atlas ซึ่งมีสาขาทั้งในย่านนางลิ้นจี่และอารีย์ในกรุงเทพฯ เชื่อว่าประโยชน์ในการช่วยบำบัดจิตใจทำให้วัยรุ่นจำนวนมากหันมาสนใจการปลูกไม้ประดับ

“โรคระบาดบีบคั้นให้การทำงานและวิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ ย่ำแย่ลง คนต้องหาอะไรมาช่วยชุบจิตใจตัวเองให้กลับมาชุ่มชื่นอีกครั้ง ต้นไม้กลายเป็นเพื่อนชั้นดีในยามที่ทุกคนถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน” ปุ๊ยแสดงความคิดเห็น

เธอยังเสริมต่อด้วยว่าข้อดีของต้นไม้คือง่ายต่อการดูแล “ต้นไม้ไม่ได้ต้องการการประคบประหงมมากเท่าสัตว์เลี้ยง แต่ก็สามารถทำให้เจ้าของรู้สึกมีความสุขที่สามารถดูแลมันได้ โดยเฉพาะตอนที่ต้นไม้ผลิใบใหม่ หรือง่ายๆ แค่ไม่ทำมันตาย คุณก็อยากแชร์ให้ทั้งโลกรับรู้แล้ว”

เหล่าอินฟลูเอนเซอร์เองก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้กระแสความนิยมของการปลูกไม้ประดับเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกของวิกฤตโควิด-19 นักแสดงชื่อดัง ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ สร้างความตื่นตัวในวงการต้นไม้ด้วยการโพสต์รูปภาพของเธอที่ถ่ายคู่กับต้นบอนในอินสตาแกรม ส่งผลให้ราคาของต้นไม้ที่เธอถ่ายรูปด้วยพุ่งกระฉูดในระดับที่คนในแวดวงต้นไม้ต่างคาดไม่ถึง

“คนถึงขนาดตั้งชื่อว่าต้นญาญ่า” กิมกล่าว

ปัจจุบันญาญ่าเปิดแอ็กเคานต์อินสตาแกรมสำหรับโพสต์รูปต้นไม้ร่วมกับแฟนหนุ่มของเธอโดยเฉพาะ ซึ่งมีผู้ติดตามราว 61,500 แอ็กเคานต์

ความชื่นชอบของเหล่าเซเลบริตี้ที่มีต่อต้นไม้ดึงดูดให้คนสนใจการทำสวนและการปลูกต้นไม้มากยิ่งขึ้น แพท-ธัญญารัตน์ เธียรอำนาจ หุ้นส่วนร้าน Garden Atlas ของปุ๊ย เล่าว่าสมัยเธอยังเด็ก ผู้คนรู้สึกว่าต้นไม้ต้องปลูกหรือตั้งไว้นอกบ้านเท่านั้น “เพราะมักมีเศษดินหรือแมลงติดมากับต้นไม้ แต่ปัจจุบันต้นไม้เป็นเหมือนการแสดงตัวตนของเราให้คนอื่นได้เห็น เป็นเหมือนสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ให้เจ้าของได้สะท้อนความเป็นตัวเองออกมาในที่พักอาศัยของตน”

ความสนใจปลูกต้นไม้ที่เกิดขึ้นในสังคมมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจของ Garden Atlas มาก ที่นี่ไม่ใช่แค่ร้านขายต้นไม้ แต่ยังขายอุปกรณ์ทั้งที่ลูกค้าสั่งทำและที่ทางร้านคัดสรรโดยเฉพาะ เช่น ชั้นวางต้นไม้ที่ขาตั้งทำจากไม้สักและสามารถเปลี่ยนรูปทรงได้ กระถางไฟเบอร์น้ำหนักเบา และเครื่องจักสานรูปทรงสวยงาม รวมถึงของตกแต่งที่ทำจากหวาย ซึ่งผลิตโดยช่างฝีมือทางภาคใต้ และเนื่องจากปุ๊ยและแพทเคยทำงานเป็นนักออกแบบจัดวางพร็อพสินค้ามาก่อน การตกแต่งร้านของพวกเธอจึงสะท้อนความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างสวยงาม รวมถึงตัวสินค้าเองก็ได้รับการจัดวางเหมือนกำลังเข้าฉากถ่ายทำลงคอลัมน์นิตยสาร

“เรามีความสุขกับการจัดเรียงสินค้า ยิ่งเดี๋ยวนี้มีตลาดนัดเก๋ๆ เกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น Made By Legacy หรืองานบ้านและสวนแฟร์ ที่มีเหล่าอินฟลูเอนเซอร์มาร่วมงานกันมากมาย พวกเขามักถ่ายรูปและแท็กร้านของเราในอินสตาแกรม ทำให้ธุรกิจของเราเริ่มค่อยๆ เป็นที่รู้จัก” ปุ๊ยกล่าว

ด้านกิมตั้งข้อสังเกตว่าอิทธิพลของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์คนดังต่อตลาดการซื้อขายต้นไม้นี้ทำให้เกิดโอกาสในการจำหน่ายและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก โอกาสที่ว่าไม่ใช่การสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว แต่หมายถึงความหวังที่จะสร้างชุมชนของผู้หลงใหลการปลูกไม้ประดับให้เติบโตยิ่งขึ้นผ่านอีเวนต์ต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนต้นไม้ระหว่างกันหรือการจัดเวิร์กชอปปลูกต้นไม้สำหรับคนเมือง กิมเชื่อว่าโครงสร้างธุรกิจที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายนี้จะช่วยเพิ่มและรักษาความสนใจของผู้คนที่มีต่อวงการนี้ให้คงอยู่ต่อไป อีกทั้งยังช่วยให้ทุกคนเข้าถึงไม้ประดับได้อย่างเท่าเทียมกันด้วย

“ถ้าต้นไม้สามารถบำบัดจิตใจของเราได้ มันก็ไม่ควรเป็นอะไรที่แพงเกินไป” กิมกล่าว

อย่างไรก็ตามหลายคนยอมรับว่าความสนใจในไม้ประดับของเหล่าคนดังมีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป ข้อหนึ่งที่น่ากังวลก็คือทุนทางสังคมที่ได้เปรียบของคนดังจะทำให้ธุรกิจค้าไม้ประดับมีความผันผวนมากขึ้น อีกทั้งแบรนด์แฟชั่นและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองก็ใช้ไม้ประดับในกลยุทธ์ทางการตลาดของตัวเองเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้คนทั่วไปจำนวนมากไม่มีโอกาสซื้อไม้ประดับบางชนิดได้เลย กิมยกตัวอย่างต้นบอนสีที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดจนทำให้ราคาพุ่งสูงไปถึง 10,000 บาทแล้ว

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม้ประดับมีราคาสูงคือผู้ซื้อต้องการและยินดีจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้ต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษที่หาได้ยาก จิมมี่ เหวียน (Jimmy Nguyen) อินฟลูเอนเซอร์ด้านไม้ประดับในสหรัฐอเมริกากล่าวว่าไม้ประดับราคาสูงนั้นไม่ต่างอะไรจากสุนัขหรือม้าสายพันธุ์แท้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คืออัตราราคาสะท้อนชนิดของต้นไม้นั้นๆ นั่นเอง อย่างไรก็ตามระยะเวลาและการดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดจนเจริญเติบโตก็มีผลต่อราคาด้วยเช่นกัน

“กิ่งหรือหน่อที่คุณใช้ในการเพาะชำนั้นมาจากแม่พันธุ์ เพราะฉะนั้น คุณต้องดูแลมันด้วยความทะนุถนอม เพราะอาจมีโอกาสขายได้แค่ 1 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น” จิมมี่กล่าว

ขณะเดียวกัน ชุมชนของผู้ชื่นชอบไม้ประดับก็สร้างกระแสให้ต้นไม้ที่อยู่ในความต้องการเป็นเหมือนคอลเลกชันเฉพาะช่วงเวลาหรือฤดูกาล เช่น เดือนนี้เป็นต้นมอนสเตอร่าบอร์สิเจียน่าอัลโบใบด่าง (Monstera Borsigiana Albo) ที่กำลังมาแรง แต่เดือนหน้าอาจเปลี่ยนไปนิยมบอนสีแทน วงจรแบบนี้อาจนำไปสู่วิกฤตฟองสบู่ในวงการไม้ประดับได้

“มันคือภาวะอุปสงค์เทียม ที่คนจำนวนมากซื้อต้นไม้เพื่อนำมาถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดียหลังจากนั้นก็ไม่สนใจอีก นอกจากนี้ไม้ประดับยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอายุขัย ไม่เหมือนสินทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนชนิดอื่นๆ เช่น นาฬิกา บ้าน หรือรถยนต์” กิมกล่าว

กระนั้นไม่ได้หมายความว่าทุกกระแสความนิยมจะมาเร็วไปเร็วเสมอไป คู่รักคนดังอย่างเคนภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค และเอสเธอร์ สุปรีย์ลีลา เริ่มแชร์คลิปต้นไม้ของพวกเขาในเดือนพฤษภาคม 2563 ไม่นานนักความคลั่งไคล้ของทั้งคู่ก็นำไปสู่การเปิดโรงเพาะชำไม้ประดับเป็นของตัวเองที่มีชื่อว่า We Plant Studio ซึ่งขยายพันธุ์ไม้ประดับราคาสูง เช่น มอนสเตอร่ามินต์ใบด่างเหลือง และฟิโลเดนดรอนไวโอลิน ต้นไม้เหล่านี้สร้างรายได้ให้คู่รักคู่นี้ถึงหลายแสนบาท เมื่อประกอบกับชื่อและความโด่งดังของเคนและเอสเธอร์ ก็ยิ่งทำให้ต้นไม้เหล่านี้เป็นที่ต้องการมากขึ้นไปอีก

ในเดือนมิถุนายน 2564 เคนและแฟนสาวสร้างแคมเปญออนไลน์ขึ้นมาด้วยการเปิดประมูลไม้ประดับจำนวน 8 ต้นและระดมเงินเพิ่มเติมจากเพื่อนของตัวเองได้ทั้งสิ้น 1 ล้านบาทเพื่อนำไปบริจาคให้โรงพยาบาลปัตตานี

นอกจากคนดังอย่างเคนและญาญ่าแล้ว คอนเทนต์ครีเอเตอร์อีกหลายคนก็ต้องการดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนผ่านต้นไม้ ยูทูบเบอร์เช่น ดาว บ้านนา Villager หรือ Mikihome สร้างฐานแฟนคลับได้จากการตอบคำถามหรือข้อสงสัยพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกไม้ประดับ

ดาวให้เคล็ดลับการเลี้ยงไม้ประดับให้โตอย่างแข็งแรงและสวยงามด้วยอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ในชีวิตประจำวันแก่แฟนคลับของเธอหลายวิธี เช่น การทำกระถางแขวนปลูกต้นไม้จากถาดพลาสติกวางสบู่ การใส่ปุ๋ยต้นไม้ และ การทำเสาไม้หลักเลื้อยให้พลูด่างจากถุงเท้าและขวดพลาสติก ส่งผลให้ยูทูบของเธอมียอดผู้ติดตามกว่า 560,000 แอ็กเคานต์ที่เข้ามาดูเคล็ดลับดีๆ แต่ทำง่ายจากคลิปวิดีโอของดาวอยู่เสมอ ขณะที่ Mikihome ก็เข้าถึงจริตและวิถีชีวิตของคนกรุง ด้วยการแบ่งปันข้อมูลและคำแนะนำสำหรับคนที่ปลูกต้นไม้ในเมืองเพื่อสร้างรายได้จากงานอดิเรกยามว่าง

เคล็ดลับการปลูกต้นไม้ฉบับทำเองเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่คู่กับคนทำงานเบื้องหลังการเติบโตของชุมชนคนเลี้ยงต้นไม้มาตลอด เช่น ปุ๊ยและแพทที่เปิดร้าน Garden Atlas สาขาแรกในปี 2560 ผ่านการลองผิดลองถูก ทั้งคู่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นทาสีตกแต่งร้าน ทำการตลาด กำหนดและควบคุมรายการสินค้าต่างๆ และสร้างฐานลูกค้า พอถึงปัจจุบันพวกเขาได้เปลี่ยนทิศทางธุรกิจตามโลกยุคใหม่ที่ผู้คนนิยมซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์

ในขณะที่กิมยอมรับว่าเขาต้องหมั่นติดต่อลูกค้าอยู่เสมอหลังซื้อต้นไม้ไปแล้วไม่ว่าจะเป็นสัปดาห์หรือหลายเดือนเพื่อตอบคำถามหรือข้อสงสัยต่างๆ ของลูกค้า ส่วนการะเกด การ์เด้น หนึ่งในร้านขายต้นไม้ที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานในกรุงเทพฯ ก็ต้องพัฒนาระบบออนไลน์ของร้านให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคง อีกทั้งเพื่อให้การซื้อขายสินค้าของร้านที่มีลูกค้าจากทั่วประเทศเป็นไปอย่างสะดวก

กระแสไม้ประดับนี้จะอยู่ไปนานแค่ไหนคือคำถามที่ไม่มีใครรู้คำตอบ แต่อย่างน้อย การทุ่มเททำงานของคนในวงการและความนิยมในการปลูกต้นไม้ที่เพิ่มขึ้นก็อาจเป็นสัญญาณว่าสังคมไทยกำลังเบนเข้าหากระแสความยั่งยืน ซึ่งอาจเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อกระแสต้นไม้ทางโซเชียลมีเดียเริ่มจาง และราคาไม้ประดับส่วนใหญ่กลับสู่ภาวะปกติที่คนทั่วไปหาซื้อได้ไม่ยาก เมื่อถึงวันนั้นคงได้แต่หวังว่าตลาดและชุมชนคนรักต้นไม้จะผลิบานต่อไปโดยคนที่มีใจรักในต้นไม้อย่างแท้จริง