HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Serve Them Right

เมืองไทยนั้นมีชื่อเสียงด้านงานหัตกรรมมายาวนาน และนักออกแบบรุ่นใหม่ของไทยก็พร้อมก้าวไปอีกขั้นด้วยการใช้วัสดุอัพไซเคิลในการรังสรรค์งานฝีมือล้ำค่า ให้เป็นดีไซน์แห่งยุคสมัยของ ‘ความยั่งยืน’

โดยทั่วไปแล้ว เวลาผู้คนไปตามร้านอาหารต่างๆ พวกเขาย่อมมุ่งความสนใจไปยังอาหารที่พวกเขากำลังจะได้ลิ้มรส แต่สำหรับณพกมล อัครพงศ์ไพศาล และนล เนตรพรหม สิ่งที่สามีภรรยาคู่นี้สนใจในร้านอาหารกลับเป็น ‘ภาชนะ’ ที่ทางร้านใช้เสิร์ฟอาหาร ความหลงใหลในภาชนะของพวกเขา โดยเฉพาะเซรามิก ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งคู่ร่วมกันตั้ง ‘ละมุนละไม’ สตูดิโองานฝีมือที่มุ่งเน้นการทำภาชนะเซรามิก ซึ่งได้ป้อนงานฝีมือชั้นดีให้แก่ร้านอาหารและบาร์ชั้นนำของไทยมานานนับสิบปีแล้ว

ด้วยความประณีตในการออกแบบและผลิตชิ้นงาน จานชามของละมุนละไมจึงกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของร้านอาหารหลายแห่ง อย่าง 80/20 ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งบนถนนเจริญกรุงที่ไฮไลท์วัตถุดิบท้องถิ่น โดยทางร้านใช้จานแบนพื้นสีส้มที่มีรอยริ้วคลื่นประหนึ่งเนื้อและเกล็ดของปลาแซลมอนในการเสิร์ฟเมนูปลา เฉกเช่นร้านอาหารระดับสองดาวมิชลินอย่างศรณ์ ที่บรรจงวางอาหารบนจานเซรามิกที่รังสรรค์ให้มีสีสันละม้ายกุ้งมังกรเจ็ดสี และจานแบนที่วาดลวดลายเปลือกหอยกับปะการัง เพื่อเน้นความเป็นอาหารใต้ของร้านให้เด่นชัดยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีร้านรวงมากมายที่ให้ละมุนละไมช่วยออกแบบเซรามิกให้เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นแคนวาส โพทง พรุ ไทยพิโอก้า เวสเปอร์ รวมถึงร้านกาแฟแบรนด์ยอดนิยมอย่างสตาร์บัคส์ ณพกมลและนลบรรจงปั้นแต่งจานแต่ละใบด้วยมือ และใช้เทคนิคบีบกดเพื่อสร้างรูปทรงที่ไม่ซ้ำใคร ก่อนนำไปเผาแล้วเคลือบให้เงาวับจับตา ทั้งหมดนี้เพื่อให้ลูกค้าแต่ละรายได้ภาชนะที่ผลิตขึ้นเพื่อเขาเพียงหนึ่งเดียว

ลูกค้าของเราส่วนใหญ่ต้องการสื่อเรื่องความยั่งยืนในอาหาร เราเลยเห็นว่าขยะอาหารที่เหลือจากร้านเองก็สามารถนำมาเเปลงโฉมให้เป็นเซรามิกได้ เพื่อช่วยพวกเขาสื่อสารออกไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ณพกมลเล่าว่า ทันทีที่ลูกค้าติดต่อมา พวกเขาจะพยายามศึกษาและทำความเข้าใจแนวคิดของลูกค้าให้มากที่สุด เมื่อศึกษาดีแล้ว จึงเริ่มลงมือทำภาชนะที่ช่วยสะท้อนแนวความคิดของลูกค้ารายนั้นๆ และการใส่ใจที่จะเรียนรู้นี่เองที่ช่วยให้ละมุนละไมพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

และในวันนี้ การออกแบบของละมุนละไมนั้น ได้ไปไกลกว่าแค่การประดิษฐ์ประดอยภาชนะ โดยทั้งคู่เริ่มนำ ‘ขยะอาหาร’ เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการทำภาชนะเซรามิก ที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ดีจนได้รับคำชมเชยมากมายจากทั้งลูกค้า หน่วยงานภาครัฐ จนถึงบรรดาแขกของร้านอาหาร

“ในแต่ละวัน ร้านอาหารต่างๆ ได้สร้างขยะอาหารไว้จำนวนมาก พวกเราจึงคิดว่า เราก็สามารถที่จะสร้างความยั่งยืนและสะท้อนแนวคิดของร้านอาหารที่เป็นลูกค้าของพวกเราไปพร้อมๆ กันได้ผ่านงานเซรามิก” ณพกมลกล่าว

การนำเศษกระดาษ ขยะพลาสติก และขยะอาหารมาใช้รังสรรค์งานหัตถศิลป์ ช่วยให้ละมุนละไมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานหัตถกรรมกระแสใหม่ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ที่วัสดุอัพไซเคิลได้กลายเป็นศูนย์กลางของความสนใจ อีกทั้งช่วยชูชื่อเสียงด้านงานหัตถกรรมของไทยให้เปล่งประกายยิ่งขึ้น

ณพกมลและนลได้ผุดไอเดียนี้ขึ้นมาในช่วงปี 2020 เมื่อได้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว คุณสมบัติของวัตถุดิบที่กลายเป็นขยะอาหารนั้นสามารถนำมาทำเป็นส่วนผสมของเซรามิกได้ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกไข่ที่ประกอบไปด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้เนื้อแก้วและเคลือบคงทนยิ่งขึ้นหรือกากกาแฟ ที่นำมาแปรรูปเป็นเนื้อของผลิตภัณฑ์ได้ โดยมีน้ำหนักเบา

ผมเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่รักษาไว้ซึ่งธรรมเนียมพื้นบ้านของเรา จะมีคุณค่าจนรอดพ้นจาก ‘วัฏจักรใช้แล้วทิ้ง’ ได้ ทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับงานของชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองได้อีกด้วย

“ลูกค้าของเราส่วนใหญ่ต้องการสื่อเรื่องความยั่งยืนในอาหารที่พวกเขาปรุง เราเลยเห็นว่าขยะอาหารที่เหลือจากร้านเองก็สามารถนำมาเเปลงโฉมให้เป็นเซรามิกได้ เพื่อช่วยพวกเขาสื่อสารออกไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

ผลงานของละมุนละไมนั้นได้รับการตอบรับที่ดีจนกระทั่งพวกเขาได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการส่งออก (DITP) ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงผลงานในงาน Maison & Objet ที่กรุงปารีส และ Milan Design Week ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าตกแต่งภายในที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในช่วงปี 2021 และ 2022 ที่ผ่านมา

นอกจากงานชิ้นเล็กๆ แล้ว ละมุนละไมยังได้สร้างสรรค์ของประดับชิ้นใหญ่ให้หลายบริษัท เช่น บลู เอเลเฟ่นท์ และสตาร์บัคส์ โดยเครื่องตกแต่งบนกำแพงของสตาร์บัคส์ สาขาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ก็เป็นผลงานของพวกเขา ซึ่งเป็นจานจำนวนถึง 2,093 ใบ และใช้เวลากว่า 3 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

ณพกมลกล่าวเสริมว่า “เรามองว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะเวลาที่เราทำเซรามิก จริงๆ แล้วเราต้องใช้พลังงาน ใช้ไฟ และแรงงานจำนวนมาก แต่ถ้าเรามีความคิดสร้างสรรค์กับหัตศิลป์ของเราและวัตถุดิบที่เรามี เราจะสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้กับทั้งผู้ผลิตอย่างเรา และกับผู้ใช้งานได้มากขึ้น”

วิทยา ชัยมงคล ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ 103paper ก็เป็นอีกคนในแวดวงหัตกรรมที่หลงใหลในงานออกแบบเช่นเดียวกับทีมละมุนละไม แต่ต่างกันที่วิทยาต้องใช้เวลาค้นหาตนเองอยู่ประมาณหนึ่งกว่าจะเริ่มเส้นทางสายนี้ จนเขาได้ค้นพบวัสดุที่ตรงกับใจตน ซึ่งก็คือ ‘กระดาษ’

หลังจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาได้เริ่มทำงานผลิตภาพยนตร์และสื่อโฆษณา เขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นจากผลงานการกำกับและออกแบบศิลป์ให้ภาพยนตร์ไทยขึ้นชื่อหลายเรื่อง เช่น ‘ฝนตกขึ้นฟ้า’ ‘พลอย’ และ ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ โดยตลอดเวลาที่ทำงานภาพยนตร์ วิทยาก็ได้ทดลองทำงานฝีมือด้วยการประดิษฐ์เครื่องประดับบ้านเรื่อยมา

หลังลองผิดลองถูกมานานนับสิบปี ในที่สุดวิทยาก็ค้นพบเส้นทางที่ตนเองเฝ้ารอ เป็นการแปลงกระดาษเหลือใช้จากกองถ่ายภาพยนตร์ให้กลายเป็น ‘ดินกระดาษ’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเปเปอร์มาเช่ เพียงแต่งานของวิทยานั้น เขาเลือกนำเนื้อเยื่อกระดาษเก่ามาใช้แทนชิ้นกระดาษฉีก ซึ่งช่วยให้ผลงานมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในเวลาต่อมา วิทยาได้เริ่มกวาดสายตามองหาแหล่งวัตถุดิบจากทุกที่ที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นกล่องกระดาษเก่าๆ เหลือทิ้งจากโรงงาน กระดาษจากสำนักงาน เศษกระดาษจากโรงพิมพ์ หรือสมุดจดนักเรียนที่ถูกทิ้ง และบางครั้งวิทยายังนึกสนุก ใช้กากกาแฟ ใบชา และดอกไม้แห้งมาผสมในชิ้นงานของเขาด้วย

ผลิตภัณฑ์ของ 103 เปเปอร์ มีตั้งแต่แจกันขนาดเล็กไปจนถึงประติมากรรมที่สามารถนำไปตั้งโชว์ในโรงแรม ร้านอาหาร หรือในบ้านก็ได้ ความพิเศษในงานฝีมือของวิทยาคือ ไม่มีของชิ้นใดที่ซ้ำกัน งานทุกชิ้นล้วนเป็นงานหัตถกรรม และมีโฉมหน้าที่ไม่เหมือนเดิม งานบางชิ้นของวิทยามีความกลมเกลี้ยงและเรียบลื่น ขณะที่งานบางชิ้นมีรูปทรงบิดแปลกตา ในแนวทาง ‘วาบิ-ซาบิ’ แบบญี่ปุ่นที่ยกย่องความงดงามในความไม่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ดี แม้วิทยาจะเลือกจำกัดรูปทรงงานฝีมือของเขาไว้เพียงไม่กี่แบบ แต่ความต่างเล็กๆ ของผลงานแต่ละชิ้นก็ส่องประกายอย่างชัดเจน จนกลายเป็นความหลากหลาย

“ผมโฟกัสที่รูปทรงเรขาคณิตง่ายๆ เพราะผมสนใจในความเรียบง่าย และผมเองก็ต้องการแสดงให้เห็นว่า วัสดุเหลือใช้และรูปทรงธรรมดาๆ นั้นมีคุณค่าได้มากกว่าที่เราคิด” วิทยาอธิบายถึงความพยายามในการสร้าง ‘ชีวิตใหม่’ ให้กับวัสดุที่โลกลืม

งานของวิทยาได้กลายเป็นที่ประจักษ์ทั้งในเชิงมูลค่าและคุณค่าต่อผู้ที่ได้พบเห็น เขาได้รับรางวัลเกียรติยศในงานประกวด Green Design Awards ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสตูดิโอ 103 เปเปอร์ ยังได้รับรางวัล DEmark Award ในปี 2019 ทั้งยังได้นำผลงานไปเฉิดฉายในงาน Maison & Objet และ Tokyo International Gift Show ในปี 2021 ตามมาด้วย Milan Design Week ปี 2022 และ Index 2022 ที่ดูไบ

ขณะที่วิทยา ณพกมล และนล ค้นพบเส้นทางสู่ความยั่งยืนระหว่างการก่อร่างสร้างแบรนด์ ธีรพจน์ ธีโรภาส ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ระดับไฮเอนด์อย่าง Kitt.Ta.Khon ได้มุ่งความสนใจไปเรื่องความยังยืนตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเมื่อเขาเปิดตัวแบรนด์ในปี 2019 เขาได้มุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนในมิติของการอนุรักษ์งานฝีมือพื้นบ้านของชุมชนและชนเผ่าต่างๆ ทั่วโลกเอาไว้

“ผมมีปณิธานและความตั้งใจที่ไม่อยากเห็นงานฝีมือเหล่านี้สูญหายไปบนโลกที่เอาแต่ผลิตจนล้น สิ่งนี้คือหัวใจของวิธีการทำงานของผม”

ฆิด-ตา-โขนส่องแสงไปยังขนบที่มักถูกมองข้าม อย่างการผลิตเก้าอี้สตูลที่มีรูปทรงคล้ายกระติบข้าวเหนียว เสริมด้วยเส้นใยคล้ายใบปาล์มที่ชาวบ้านบางท้องถิ่นนิยมมุงหลังคาให้ห้อยลงมา อีกชิ้นงานที่น่าสนใจคือ เก้าอี้ทรงจีนที่ใช้การรัดข้อต่อเก้าอี้แบบดั้งเดิมด้วยเส้นใยหรือหวาย ซึ่งต่างจากเก้าอี้ที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่มักใช้น็อตหรือตะปูในการยึดโยงโครงของเก้าอี้เข้าไว้ด้วยกัน แบรนด์ของวิทยายังมีลูกเล่นกับสีสันแปลกตา โดยการใช้ความงามของสีที่ชนเผ่านิยมใช้มาประกอบเข้ากับความเป็นสมัยใหม่ที่ปรับแต่งให้พองาม ดังที่ธีรพจน์ได้เล่าไว้ว่า “ฆิด-ตา-โขน ผสานวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการสานและถักทอสมัยใหม่ เพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบที่ร่วมสมัยพร้อมกับภาษาใหม่แห่งงานดีไซน์”

ธีรพจน์เชื่อว่า งานฝีมือเป็นเหมือนด้ายที่ร้อยเรียงทุกชีวิตให้ผูกโยงเข้าด้วยกัน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเชื่อมพรมแดนต่างๆ และหลอมรวมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านชิ้นงานที่รังสรรค์ด้วยสองมือของเราเอง อย่างในคอลเล็กชัน Chino อันล่าสุดของทางสตูดิโอ มองเผินๆ แล้วเหมือนมีเพียงกลิ่นอายสไตล์จีน แต่ถ้าได้เดินเข้าไปพินิจใกล้ๆ เราจะได้เห็นรูปแบบการถักทอและรายละเอียดงานซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมโมร็อกโกและยุโรป โดยธีรพจน์ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงปรัชญาการทำงานของเขา ที่ไม่ได้ช่วยสร้างมูลค่าให้เพียงแค่ชิ้นงานที่เขาสร้างขึ้น

“ผมมองว่าเรามีหน้าที่ปูทางให้กับอุตสาหกรรมงานฝีมือในประเทศไทยด้วยการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของพวกเรามีมาสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบและข้าวของใหม่ๆ และผมเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่รักษาไว้ซึ่งธรรมเนียมพื้นบ้านของเรา จะมีคุณค่าจนรอดพ้นจาก ‘วัฏจักรใช้แล้วทิ้ง’ ได้ ทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับงานของชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองได้อีกด้วย”

ฆิด-ตา-โขนยังได้ขยายขอบเขตพันธกิจของตนออกจากเรื่องการรักษ์ขนบธรรมเนียมไปสู่เรื่องวัสดุ จึงหยิบจับวัสดุหลากหลายขึ้นมาใช้งาน ตั้งแต่ผักตบชวา ไม้ไผ่ จนถึงแผ่นพลาสติกรีไซเคิลมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ อย่างกากกาแฟก็ถูกนำมาใช้สร้างสีสันให้กับชิ้นงานต่างๆ รวมไปถึง เก้าอี้มุกมุก ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อนำแสดงในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) ของปีนี้

ธีรพจน์เชื่อว่า งานหัตถกรรมช่วยส่งเสริมกระแสความยั่งยืนได้ด้วยตัวของมันเอง อย่างการผลิตงานของฆิด-ตา-โขน ที่ทำขึ้นตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ก็ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการผลิตสเกลใหญ่ได้ นอกจากนี้ การเสริมส่งหัตถกรรมพื้นบ้านยังช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ช่างฝีมือในท้องถิ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญให้ธีรพจน์มุ่งมั่นทำงานของเขาต่อไป

ธีรพจน์ยังกล่าวเสริมอีกว่า ผลงานหลายชิ้นของฆิด-ตา-โขน ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ ATT 19 แกลเลอรีบนถนนเจริญกรุง ช่วยให้ลูกค้าที่มาเยี่ยมชมผลงานได้เรียนรู้เรื่องวัสดุและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชวนเชิญให้ผู้คนมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา พร้อมสร้างสังคมที่ผู้คนเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ทำไมเราถึงจำเป็นต้องรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้

ธีรพจน์อาจตั้งใจขีดเส้นมาตรฐานที่สูงส่งให้กับเพียงตัวเขาเอง แต่ความชัดเจนในจุดยืนของเขาก็ได้บันดาลใจและท้าทายนักออกแบบไทยคนอื่นๆ ให้พยายามยกระดับมาตรฐานงานของพวกเขาขึ้นไปอีกด้วย

แน่นอนว่า เหล่านักออกแบบที่สร้างผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ อาจจะช่วยยกระดับประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางงานหัตถกรรมได้ในที่สุด แต่ไม่ว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ อย่างน้อยที่สุด ฆิด-ตา-โขน ละมุนละไม 103 เปเปอร์ และแบรนด์อื่นๆ ที่มีแนวทางคล้ายกัน ก็ได้แสดงให้เห็นว่า เราสามารถสร้างสรรค์ศิลปะที่ทรงคุณค่าไปพร้อมๆ กับ ‘ลงมือทำ’ อันเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความยั่งยืน หัวใจสำคัญของยุคสมัยนี้