SECTION
ABOUTCOMMON PURPOSE
Net Gains
แนวคิดของ Net Free Seas กลายเป็นกุญแจหลักที่ช่วยรักษาระบบนิเวศทางทะเลและชุมชนประมงไทย ผ่านการรีไซเคิลพลาสติกจากเครื่องมือประมงและอวนจับปลา
30 มิถุนายน 2566
เมื่อดวงอาทิตย์ลอยสูง แสงสีส้มอ่อนก็ทาบทับบนทรายสีขาวของชายหาดจังหวัดตราด นกนางนวลตัวใหญ่ร่อนขึ้นลงเพื่อจับปลาบนผิวน้ำทะเล บนชายหาดเรียงรายไปด้วยเก้าอี้ผ้าใบพร้อมร่มขนาดใหญ่ไว้บริการคนที่มองหาที่หย่อนใจ ธรรมชาติโดยรอบของหาดแห่งนี้ทั้งสงบและสะอาดในแบบของทะเลที่ยังไม่ใช่หมุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยว
ทว่าภูมิทัศน์ที่ไกลออกมากลับแตกต่างโดยสิ้นเชิง หน้าบ้านหลังกะทัดรัดของชาวประมงในพื้นที่มีอวนจับปลาและซากสัตว์สุมเป็นกองพะเนิน อวนซึ่งครั้งหนึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินชิ้นสำคัญถูกทิ้งระเกะระกะเมื่อหมดสภาพ เช่นเดียวกับขวดน้ำพลาสติก ซากอุปกรณ์ตกปลา และกล่องพลาสติกที่ลอยเท้งเต้งในทะเล ตอกย้ำปัญหามลพิษทางทะเลที่นับวันจะยิ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่
จากข้อมูลของ WWF ร้อยละสิบของขยะในมหาสมุทรคืออวนใช้แล้ว ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำและทำลายแนวปะการัง และเมื่อมองการณ์ไกลกว่านั้น สิ่งแวดล้อมทางที่เสื่อมถอยก็มีผลต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย
ภาพดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนชุมชนชายฝั่งถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างเร่งด่วน อวนที่ลอยอยู่ในทะเลไม่เพียงเป็นสาเหตุของจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลงจนจับปลาได้ยากขึ้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเลด้วย ท่ามกลางปัญหารุนแรงนี้ ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ จึงได้ริเริ่มโครงการ ‘Net Free Seas’ ขึ้น โดยมีภาระกิจหลักเป็นการรีไซเคิลอวนที่ถูกทิ้งให้เป็นชิ้นงานพลาสติกสารพัดประโยชน์ อันเป็นแสงสว่างแห่งความหวังในการกำจัดขยะทะเลที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น
มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เปิดตัวโครงการเน็ตฟรีซีส์ในปี 2019 เพื่อรีไซเคิลซากเครื่องมือหาปลาและอวนผีร่วมกับชุมชนประมงท้องถิ่นและบริษัทรีไซเคิลพลาสติก เมื่อได้รับเงินทุนจาก Norwegian Retailer’s Environment Fund ในปีถัดมา พวกเขาก็เริ่มดำเนินการทันที
ชุมชนชายฝั่งส่วนใหญ่ต้องทิ้งอวนที่หน้าบ้านตัวเองทั้งนั้น ขณะที่ในกรุงเทพฯ มีรถเก็บขยะวิ่งเป็นประจำ ชุมชนเหล่านี้กลับไม่มีระบบจัดการขยะที่ดีพอ กลายเป็นว่าชาวบ้านต้องแก้ปัญหาเอาเอง
“ตอนไปเยี่ยมท่าเรือและชุมชนชาวประมงเมื่อไม่กี่ปีก่อน เราเห็นอวนจับปลาถูกทิ้งเยอะมาก” ศลิษาเล่า “เลยทำให้เกิดคำถามว่าเราจะจัดการปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เพราะตอนนั้นการรีไซเคิลเครื่องมือจับปลายังไม่ได้รับความสนใจเท่าการกำจัดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง”
ในช่วงแรกเริ่ม ทางโครงการได้อาศัยความช่วยเหลือจากกรมประมงในการพูดคุยกับชุมชน จนสามารถสร้างเครือข่ายกับชุมชนประมงท้องถิ่น 47 แห่งทั่วไทยได้ภายในเวลาสามเดือน ศลิษาเล่าว่าแนวคิดในการรีไซเคิลอวนให้เป็นของใช้นั้นมาจากความต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แทนที่จะเป็นการคิดโดยคนนอกแล้วให้ชาวบ้านทำตาม
“ชุมชนมีบทบาทมากในการช่วยกำหนดรูปแบบของโครงการ เพราะชาวบ้านรู้อยู่แล้วว่าควรทำอย่างไรกับอวนถูกทิ้ง แค่ต้องการทรัพยากร เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้แก้ปัญหาได้จริงๆ”
แต่ละชุมชนจะกำหนดผู้ประสานงาน เลือกวิธีการเก็บกู้อวน ความถี่ในการเก็บ และตรวจสอบว่ามีการเก็บอวนในปริมาณมากพอที่จะรีไซเคิลได้เยอะในคราวเดียว และเพื่อให้โครงการดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ เน็ตฟรีซีส์จึงร่วมมือกับพันธมิตรสองรายคือ Teamplas และ CirPlas ซึ่งเชี่ยวชาญการรีไซเคิลตาข่ายหลากประเภท อาทิ ไนลอน เส้นใย PA6 และ HDPE/PP โดยกระบวนการรีไซเคิลจะเริ่มจากล้างอวนจนหมดคราบตะกอนและดิน ก่อนแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำไปขึ้นรูปใหม่ให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ เซอร์พลาสยังเป็นเจ้าของ Qualy แบรนด์ไทยชื่อดังที่สร้างของใช้ในบ้านดีไซน์เก๋ไก๋จากพลาสติกใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกล่องเก็บของ เครื่องเขียน และของใช้ประจำวันสารพัด ด้วยประสบการณ์กว่า 18 ปี ควอลี่จัดจำหน่ายสินค้าของตัวเองในพิพิธภัณฑ์ ร้านของใช้ และห้างสรรพสินค้าทั่วยุโรป ตลอดจนขายพลาสติกใช้แล้วให้บริษัทอื่นด้วย
“เรารีไซเคิลอวนใช้แล้วในปริมาณมากพอที่จะมีเม็ดพลาสติกไปขายบริษัทอื่น เพื่อให้เขารู้สึกว่าการผลิตสินค้าจากอวนใช้แล้วมันไม่ยาก” ทศพล ศุภเมธีกุลวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเซอร์พลาสเผย “แต่ถึงจะสามารถแยกประเภทเส้นใยพลาสติกได้อย่างง่ายดาย เส้นใยอวนบางส่วนที่เป็นพลาสติกหลายชนิดผสมกันก็ยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เราเลยนำส่วนนี้มาผลิตใหม่เป็นของที่ใช้งานได้จริง เพื่อไม่ให้อวนเหล่านี้กลายเป็นขยะในทะเลหรือถูกฝังกลบในดิน”
จากข้อมูลของ WWF ร้อยละสิบของขยะในมหาสมุทรคืออวนใช้แล้ว ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำและทำลายแนวปะการัง และเมื่อมองการณ์ไกลกว่านั้น สิ่งแวดล้อมทางที่เสื่อมถอยก็มีผลต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากอย่างประเทศไทย เมื่อปัญหานี้กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนและสัตว์น้ำโดยตรง ชุมชนต่างๆ จึงตัดสินใจร่วมมือกับเน็ตฟรีซีส์ เช่น ชุมชนบนเกาะลิบงในจังหวัดตรัง ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยทัวร์ล่องเรือดูพะยูน ก็เข้าร่วมกับเน็ตฟรีซีส์เนื่องจากกังวลว่าขยะทะเลที่เพิ่มขึ้นจะคุกคามฝูงพะยูนด้วย
แม้ชุมชนท้องถิ่นพร้อมจะมีส่วนร่วม แต่การทำให้ปัญหาขยะอุปกรณ์ประมงได้รับความสนใจในวงกว้างกลับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาขยะขวดน้ำ ถุงพลาสติก และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่คนส่วนใหญ่กระตือรือร้นมากกว่าเพราะเป็นสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ปัญหายังต้องควบรวมการจัดการของเสียและวิถีการประมงเข้าด้วยกัน โดยมีข้อเสนอหนึ่งที่เสนอให้รัฐปรับปรุงการแบ่งเขตทำประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์เพื่อช่วยให้คนแยกประเภทเครื่องมือประมงได้ง่ายขึ้นและลดการทิ้งขยะ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อระบุเจ้าของอุปกรณ์ประมงในทะเล ทำให้สามารถกู้คืนอุปกรณ์ที่สูญหายและติดตามเอาผิดได้หากพบอวนในเขตที่ไม่ได้รับอนุญาต
การจัดการเครื่องมือประมงที่หมดอายุการใช้งานแล้วก็ละเอียดอ่อนไม่แพ้กัน เพราะต้องเข้าใจในข้อจำกัดของการรีไซเคิลวัสดุย่อยสลายยาก อย่างไรก็ตาม ศลิษามองว่า หากจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นด้วยระบบจัดการขยะที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ประมงถูกทิ้งในท้องทะเลได้
“ชุมชนชายฝั่งส่วนใหญ่ต้องทิ้งอวนที่หน้าบ้านตัวเองทั้งนั้น ขณะที่ในกรุงเทพฯ มีรถเก็บขยะวิ่งเป็นประจำ ชุมชนเหล่านี้กลับไม่มีระบบจัดการขยะที่ดีพอ กลายเป็นว่าชาวบ้านต้องแก้ปัญหาเอาเอง” ศลิษาเล่า
จนถึงปัจจุบัน เน็ตฟรีซีส์ได้จัดการกับอวนไปมากกว่าแปดสิบตันจากชุมชนประมงกว่าแปดสิบแห่ง และมีรายได้จากการแปรรูปอวนเป็นสินค้าแล้วกว่าเก้าแสนบาท ยิ่งไปกว่านั้น ชุมชนสามารถขายอวนใช้แล้วได้ในราคากิโลละสิบห้าบาท และมีแนวโน้มว่าราคาจะขึ้นไปถึงกิโลละยี่สิบบาทเมื่อความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น แม้ราคาที่พุ่งขึ้นจะแสดงให้เห็นว่าภาคธุรกิจเห็นคุณค่าของการรีไซเคิลขยะเหล่านี้มากขึ้น แต่หากไม่มีการออกกฎหมายสนับสนุนการจัดการขยะประมง และกำหนดราคากลางสำหรับรับซื้อ ความต้องการในตลาดก็อาจลดลงในที่สุด
“ตอนนี้คนสนใจขยะประมงเพราะมันมีเรื่องราว มันขายได้ เพราะคนรู้สึกว่าได้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน แต่ถ้าวันหนึ่งเรื่องราวนี้เสื่อมความนิยม ราคาอาจจะลดลงไปเป็นกิโลกรัมละสองบาทก็ได้”
ทว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า การแก้ปัญหาขยะทะเลผ่านการรีไซเคิลอวนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากปัญหาหลายประการ ทั้งความซับซ้อนของวัสดุที่ประกอบกันเป็นอวนซึ่งมีทั้งส่วนที่รีไซเคิลได้และไม่ได้ อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่มีจำกัด ปัญหาด้านการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการรีไซเคิลที่หากขาดมาตรฐานก็จะกลับกลายเป็นภัยสิ่งแวดล้อมแทน
แต่ณัฐกร อติชาดศรีสกุล รองกรรมการผู้จัดการของบริษัททีมพลาส เคมีคอล เชื่อว่ามาตรฐานการรีไซเคิลที่ดีของบริษัทได้ทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป และทางบริษัทก็กำลังพัฒนาวิธีการการแยกขยะให้มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลเองก็เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมรีไซเคิล และให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ความต้องการผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในท้องตลาด หลายแบรนด์หันมาใช้วัสดุรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบของสินค้าอย่างจริงจัง และเราเชื่อว่าการแยกพลาสติกชิ้นใหญ่มารีไซเคิลจะทำให้วัสดุรีไซเคิลออกมามีคุณภาพสูงกว่า เราเลยให้ความสำคัญกับการสอนคนเก็บขยะในพื้นที่ให้แยกพลาสติกพวกนี้ออกมาก่อนเข้ากระบวนการบดขยะ”
ส่วนทศพล ผู้ก่อตั้งเซอร์พลาส เชื่อว่า แม้ว่าการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งยังเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่การรีไซเคิลยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดขยะพลาสติก
“เราต้องลงมือจัดการกับปัญหา แทนที่จะมัวแต่กังวลถึงผลลัพธ์และการแก้ปัญหาที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เราต้องใส่ใจในการกระทำของเรา พร้อมมองหาหนทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง” ทศพลกล่าวเสริม
แน่นอนว่าการแปรรูปอวนจับปลาและขยะทะเลเป็นสินค้าไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษทางทะเลได้ทั้งหมด และอาจกลายเป็นเพียงกระแสนิยมที่ผ่านมาแล้วผ่านไปในช่วงเวลาสั้นๆ แต่หากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเอ็นจีโอร่วมกันสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยรักษาพื้นที่ทำมาหากินของชาวประมงไทยและระบบนิเวศทางทะเลที่สวยงามจนดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ปีละนับล้านคนได้อย่างยั่งยืน ■