SECTION
ABOUTCOMMON PURPOSE
Turn of the Wheel
ชีวิตผู้พิการไทยกำลังค่อยๆ เข้าถึงกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วยความพยายามของนักสิทธิเพื่อคุณภาพชีวิตผู้พิการ ตั้งแต่พื้นที่ออนไลน์ จนถึงประสบการณ์จริงที่ครั้งหนึ่งเป็นเหมือนความฝันที่ไม่มีวันเอื้อมถึง
30 กันยายน 2566
ด้วยผืนป่าเขตร้อนและขุนเขาเลียบชายฝั่ง กอปรด้วยชายหาดสีทอง ผืนน้ำสีฟ้าสะท้อนแสงอาทิตย์ของทะเลอันดามัน และแนวปะการังสวยงามที่อุดมด้วยสิ่งมีชีวิต เขาหลักในจังหวัดพังงานับเป็นหนึ่งในสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าสำหรับผู้ที่มองหาการผจญภัย หรือการพักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางธรรมชาติ
ความที่เขาหลักอยู่ไม่ไกลจากภูเก็ตนี่เอง ทำให้ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวจากจังหวัดเพื่อนบ้านแวะเวียนมาสัมผัสความงามอันลึกลับน่าค้นหาโดยเฉพาะในวันที่ฟ้าเป็นใจ เรือนำเที่ยวจะออกแล่นลำแล้วลำเล่าจากพื้นที่ใกล้เคียง พานักท่องเที่ยวไปดำดิ่งสู่โลกใต้สมุทรที่อยู่ไม่ไกลชายฝั่งเขาหลักด้วยวิธีดำน้ำแบบสกูบาซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป ขอเพียงมีประกาศนียบัตรการดำน้ำแบบสกูบา ไม่ว่าใครๆ สามารถลงไปชื่นชมความงามใต้ท้องทะเลได้
เพียงแต่ ‘ใครๆ’ อาจยังไม่นับรวมทุกคนอย่างแท้จริง กิจกรรมดำน้ำเป็นเรื่องที่เหมือนไกลเกินเอื้อมสำหรับคนพิการ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมุมมองที่สังคมมีต่อข้อจำกัดทางร่างกายของผู้พิการ การขาดแคลนอุปกรณ์ดำน้ำที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน ไปจนถึงตัวผู้พิการเองที่ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมนี้ แต่มุมมองดังกล่าวกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อโลกของการดำน้ำเริ่มโอบรับและเปิดกว้างต่อกระแส ‘inclusivity’ ที่หมายถึง ‘การโอบรับความต่าง’ ให้คนจากทั่วทุกถิ่นกำเนิดและทุกข้อจำกัดทางร่างกายสามารถใช้พื้นที่ต่างๆ ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
“การอยู่ใต้น้ำเป็นประสบการณ์ที่ยากจะหาอะไรเปรียบ มันให้ความรู้สึกเหมือนลอยอยู่กลางอากาศและเป็นอิสระ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ากีฬาทางน้ำมักถูกมองว่าเป็นกีฬาสำหรับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ในสมัยก่อน คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงเลยทำได้แค่ฝันถึงการดำน้ำเท่านั้น” พุทธคุณ ปรุงคณานนท์ หรือครูดึ๋ง ครูฝึกดำน้ำและทูตของสถาบัน SDI (Scuba Diving International) หนึ่งในสถาบันสอนดำน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เล่าให้ฟัง
ในปี 2014 ภาณุพล ธนะจินดานนท์ เพื่อนของพุทธคุณ ได้เริ่มพูดกับพุทธคุณถึงไอเดียเรื่องโครงการที่สะท้อนความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า นั่นคือการริเริ่มโปรแกรม ‘สกูบิลิตี้’ (Scubility) ในไทย ที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถดำลงไปสำรวจโลกใต้น้ำได้ โดยตัวภาณุพลเองอุทิศตนช่วยเหลือคนพิการมานานหลายปีแล้ว และเขาอยากหยิบยืมประสบการณ์และความชำนาญของพุทธคุณมาช่วยเปิดโลกความงามใต้ท้องทะเลให้เหล่าผู้พิการได้สัมผัส
“ภาณุพลเห็นโอกาสที่จะช่วยให้คนพิการได้ก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเอง เขาได้แรงบันดาลใจมาจากตัวเอกในภาพยนตร์เรื่อง ‘อวตาร’ ที่ต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์ตลอดเวลา และสามารถเดินหรือวิ่งได้แค่ในความฝันเท่านั้น” พุทธคุณเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ
เมื่อได้พูดคุยกันแล้ว โปรแกรมฝึกดำน้ำสกูบาของผู้พิการก็เริ่มขึ้น ซึ่งในตอนแรก โปรแกรมนี้ได้เน้นไปที่ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ก่อน มีการปรับเทคนิคการดำน้ำและอุปกรณ์การดำน้ำให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายของแต่ละคน และแผนการฝึกดำน้ำก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนครอบคลุมทุกปัจจัยสำคัญ ตั้งแต่การพาผู้พิการขึ้นเรือไปจนถึงการสื่อสารใต้น้ำ พุทธคุณกล่าวว่าความสำเร็จของโปรแกรมฝึกสอนเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของอาสาสมัครทุกคน ไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอนหรือผู้ช่วยครูสอนดำน้ำ
สำหรับโปรแกรมล่าสุดคือ โปรแกรมสอนดำน้ำให้แก่ผู้พิการทางสายตา โดยทีมงานได้คิดค้นระบบ ‘สัญญาณสัมผัส’ เพื่อไว้สื่อสารความต้องการต่างๆ ในระหว่างดำน้ำ เช่น ถ้าครูฝึกแตะแขนผู้พิการสองครั้งจะหมายถึง ‘ทุกอย่างโอเคไหม’ หรือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน นักดำน้ำที่เป็นผู้พิการทางสายตาจะบีบแขนของครูฝึกเพื่อขอความช่วยเหลือ
กิจกรรมดำน้ำเป็นเรื่องที่เหมือนไกลเกินเอื้อมสำหรับคนพิการ แต่มุมมองดังกล่าวกำลังค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อโลกของการดำน้ำเริ่มโอบรับและเปิดกว้างต่อกระแส ‘inclusivity’ ให้คนจากทั่วทุกถิ่นกำเนิดและทุกข้อจำกัดทางร่างกายสามารถใช้พื้นที่ต่างๆ ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
การเติบโตของโปรแกรมนี้ทำให้พุทธคุณ ภาณุพล และทีมงานครูสอนดำน้ำได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยทำมา ณ พื้นที่เขาหลัก นั่นคืองาน Scuba Diving for All หนึ่งในงานสกูบิลิตี้ขนาดใหญ่ที่สุดของไทยซึ่งเปิดรับผู้เข้าร่วมงานจากทั่วโลก
ไม่ใช่แค่เฉพาะกีฬาดำน้ำเท่านั้น กระแสเรื่องการโอบรับความต่างได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของกีฬาและกิจกรรมอื่นๆ ที่ครั้งหนึ่งผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมที่ท้าทายกายและใจเป็นอย่างมาก เช่น การเล่นสกีแบบลงเขา การขับรถแข่ง ไปจนถึงการกระโดดร่มดิ่งพสุธา กล่าวได้ว่า แนวคิดที่เคยมองผู้พิการเป็นบุคคลไร้ความสามารถและมีข้อจำกัดเริ่มเปลี่ยนไป และกลายเป็นความคิดที่ล้าหลังมากขึ้นเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงของกระแสความคิดในระดับโลกนี้ต้องยกความดีความชอบให้แก่ผู้บุกเบิกทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือซู ออสติน
ซู ออสติน เป็นศิลปินชาวอังกฤษที่ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นวีลแชร์มาตั้งแต่ปี 1996 เธอเริ่มมีชื่อเสียงในระดับโลกเมื่อมีภาพฟุตเทจของเธอขณะดำน้ำแบบสกูบาพร้อมกับรถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าเผยแพร่ตามสื่อและโลกออนไลน์ ขณะที่คลิปการบรรยายในงาน TED Talk ของเธอเมื่อปี 2012 ได้กลายเป็นหนึ่งในไวรัลของโลกอินเทอร์เน็ต ในคลิปเธอได้พูดถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ที่ช่วยให้เธอก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองในการดำน้ำ วีลแชร์ของออสตินติดตั้งใบพัดตรงด้านหลังของขา อุปกรณ์นี้ช่วยให้เธอสามารถเคลื่อนที่ใต้น้ำได้โดยควบคุมผ่านแผ่นอะคริลิคที่ติดอยู่ตรงส่วนเท้าที่ทำหน้าที่เสมือนตีนกบดำน้ำ ซึ่งต่างจากอุปกรณ์ช่วยดำน้ำแบบดั้งเดิมที่บังคับใบพัดด้วยแขน
แน่นอนว่า การออกแบบอุปกรณ์ดำน้ำให้แก่ออสตินไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมงานของเธอต้องปรับแต่งแผ่นรองเท้าให้ออกมาเป็นเหมือนตีนกบดำน้ำ และยังต้องปรับแต่งที่นั่งของวีลแชร์ให้เหมาะสมกับแรงดันใต้น้ำด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป การปรับปรุงวีลแชร์ดำน้ำต้นแบบของออสตินก็ช่วยให้เกิดวีลแชร์ที่มีศักยภาพมากขึ้นใช้งานได้ง่าย และมีราคาถูกลงอีกด้วย
นอกเหนือจากขอบเขตของกีฬาผาดโผน ยังมีหลายเหตุการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่ช่วยยกระดับการเข้าถึงของกลุ่มคนพิการให้อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือระดับเดียวกับผู้มีร่างกายสมบูรณ์ เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้หลายล้านคนทั่วโลกต้องงดออกเดินทาง แต่คนพิการกลับได้เปิดโลกมากขึ้นผ่านการใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริง (virtual living) ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ที่ช่วยให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันได้จากต่างสถานที่ ส่งผลให้กลุ่มคนพิการสามารถเข้าถึงการมีส่วนร่วมได้อย่างสะดวกในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พวกเขาสามารถสัมภาษณ์งานผ่านโปรแกรมซูม ชมดนตรีสด รับคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแม้แต่การเข้าชมนิทรรศการงานศิลปะแบบเสมือนจริง เป็นต้น
“เราหวังว่า ข้อได้เปรียบที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมาจะไม่หายไปแม้ผู้คนในสังคมจะไม่จำเป็นต้องใช้การสื่อสารทางไกลกันอีกแล้ว” นลัทพร ไกรฤกษ์ได้กล่าวไว้ ซึ่งนลัทพรเป็นนักกิจกรรมเพื่อสิทธิคนพิการ และผู้ก่อตั้ง ThisAble.me สำนักข่าวซึ่งมุ่งเน้นการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกันคนพิการเป็นหลัก
สำนักข่าว ThisAble.me ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 และนำเสนอเรื่องราวหรือประสบการณ์ชีวิตของคนพิการ โดยเน้นถึงอุปสรรคและการเอาชนะอุปสรรคของผู้พิการ หนึ่งในข่าวที่ทางเว็บไซต์เพิ่งนำเสนอไปคือเรื่องอาชีพที่หลากหลายของผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านอาหารที่ถูกแนะนำโดยมิชลิน ไกด์ ไปจนถึงนักแสดงและนักกีฬามืออาชีพ
“สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการให้พื้นที่แก่เรื่องราวของคนที่อยู่ชายขอบของสังคม คนพิการมักถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มคนที่เอาแต่รอคอยเงินบริจาคและความช่วยเหลือ อย่างข่าวของคนพิการก็มักจะมาพร้อมกับบัญชีธนาคารเพื่อขอรับเงินบริจาคด้วย” นลัทพรกล่าว
เรายินดีต้อนรับทั้งคนที่มองเห็นและมองไม่เห็น รวมถึงนักอ่านและนักเขียนทุกคนด้วย จุดมุ่งหมายของเราคือการเน้นย้ำให้เห็นว่าผู้พิการทางสายตาก็สามารถสนุกกับการอ่านนิยายและยังช่วยสร้างสีสันเพิ่มเติมให้แวดวงวรรณกรรมได้ด้วย
นลัทพรป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาตั้งแต่ตอนอายุได้เก้าขวบ เธอเคยเป็นนักข่าวประจำของสำนักข่าวประชาไทก่อนจะมาตั้งเว็บไซต์ของตัวเอง และมีชื่อเสียงมานานจากการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนสิทธิของคนพิการ ตลอดเวลาที่ผ่านมา นลัทพรต้องนั่งวีลแชร์เดินทางไปร่วมงานสัมมนา กิจกรรมเรียกร้องสิทธิต่างๆ จนถึงการประท้วงทางการเมืองที่จัดโดยคนพิการอยู่เสมอ
จากรายงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อปี 2020 ประเทศไทยมีประชากรคนพิการอยู่มากกว่าสองล้านคน กฎกระทรวงที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 1991 กำหนดประเภทความพิการไว้ห้าประเภท ได้แก่ ความพิการทางสายตา ความพิการทางการได้ยิน ความพิการทางกายและการเคลื่อนไหว ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม และความพิการทางสติปัญหาและการเรียนรู้ แต่ทาง ThisAble.me ให้นิยามความพิการไปไกลกว่าของทางการอีกขั้นหนึ่ง
“ThisAble.me ขยายนิยามของคนพิการออกไปมากกว่าที่กฏหมายกำหนด เช่น ตามกฎหมายแล้ว คนที่ยังมองเห็นได้ด้วยตาข้างหนึ่งจะไม่ถือว่าเป็นผู้พิการ แต่คนเหล่านี้ก็ยังพบความลำบากในการใช้ชีวิตหรือต้องเจอกับการปฏิบัติที่ไม่ดีThisAble.me จึงเป็นแพลตฟอร์มที่อยากจะชวนคุยถึงความหมายของคำว่า ‘ความพิการ’ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสภาวะพิการรุนแรง เราสามารถพูดถึงความพิการที่คนอื่นมองไม่เห็นหรือสัมผัสไม่ได้ด้วย เช่น ตาบอดสี หรือมีความบกพร่องทางการได้ยินบางอย่าง” นลัทพรขยายความ
อีกหนึ่งเรื่องราวที่เว็บไซต์ ThisAble.me นำเสนอคือประวัติของสุริยันต์ สายชมพู ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ keangun.com (เขียนกันดอทคอม) แพลตฟอร์มที่อุทิศให้กับการเขียนวรรณกรรมเพื่อคนตาบอด โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมอ่านหน้าจอ (screen reader) สุริยันต์ซึ่งเป็นคนตาบอดเช่นกันได้อัพโหลดทั้งนวนิยายไทย นิตยสาร และบทกวีขึ้นสู่ระบบของเว็บไซต์ โปรแกรมอ่านหน้าจอจะสแกนตัวอักษรต่างๆ แล้วแปลงตัวอักษร หรือคำให้กลายเป็นเนื้อหาเสียงที่จะอ่านออกเสียงให้ผู้พิการทางสายตาได้ยิน
“ถึงผู้พิการทางสายตาจะสามารถใช้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ได้ แต่เว็บไซต์หลายแห่งยังมีปัญหาในการเข้าใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ในประเทศไทย บางเว็บไซต์ไม่มีการติดตั้งโปรแกรมอ่านหน้าจอสำหรับใช้งานคอนเทนต์นิยาย ขณะที่เว็บไซต์บางแห่งก็เปิดให้เข้าใช้งานคอนเทนต์เนื้อหาเพียงบางส่วนเท่านั้น” สุริยันต์อธิบาย
ในขณะที่เว็บไซต์สำหรับอ่านนิยายในไทยนั้นยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้พิการเข้าถึงได้มากนัก เว็บไซต์ต่างประเทศอย่าง wattpad.com และ Google Books ล้วนมีระบบรองรับการอ่านออกเสียงทำให้ผู้พิการทางสายตาเข้าใช้งานได้อย่างสะดวก
“เขียนกันดอทคอมคือเว็บไซต์ที่โอบรับความต่างอย่างเต็มที่ แพลตฟอร์มของเราเปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่มีข้อจำกัดในการเข้าใช้งาน เรายินดีต้อนรับทั้งคนที่มองเห็นและมองไม่เห็นรวมถึงนักอ่านและนักเขียนทุกคนด้วย จุดมุ่งหมายของเราคือการเน้นย้ำให้เห็นว่าผู้พิการทางสายตาก็สามารถสนุกกับการอ่านนิยายและยังช่วยสร้างสีสันเพิ่มเติมให้แวดวงวรรณกรรมได้ด้วย” สุริยันกล่าวเสริม
แม้ประเทศไทยจะยังขาดการสนับสนุนคุณภาพชีวิตและการครอบคลุมสิทธิของผู้พิการโดยรอบด้าน ทั้งในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์แต่การมีผู้สนับสนุนและผู้ทำงานอย่างแข็งขันในวงสังคมอยู่ไม่เคยขาด ไม่ว่าจะเป็นพุทธคุณ นลัทพร หรือสุริยันต์ ก็เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของประเทศไทยที่จะเดินหน้าสู่ ‘การโอบรับความต่าง’ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องกิจกรรมผจญภัย งานวรรณกรรม หรือการมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโอกาสที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการไทยให้เข้าถึงความเสมอภาคและสร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างผู้คนด้วยกันเพื่อสังคมที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ ■