HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


An App a Day

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการพัฒนายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการสุขภาพในระดับประเทศ

30 พฤศจิกายน 2566

ช่วงเดือนเมษายน 2020 ท้องถนนของกรุงเทพฯ ย่านใจกลางเมือง บาร์ ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ ที่เคยคลาคล่ำไปด้วยผู้คนกลับกลายเป็นเงียบสงัด สัญญาณเดียวที่บ่งบอกว่ายังมีผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองนี้คือแสงไฟและเงาวูบไหวที่เห็นจากหน้าต่างของคอนโดมิเนียม โดยมีเสียงไซเรนของรถพยาบาลดังอยู่ไกลๆ ก่อนจะเงียบหายไปในความมืด

ในช่วงแรกที่ประเทศไทยมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ พงษ์ชัย เพชรสังหาร ประธานสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย ใช้เวลาไปไม่น้อยกับการครุ่นคิดหาทางออกอย่างหนักในช่วงที่โครงสร้างของระบบสาธารณสุขกำลังเจอกับบททดสอบการรับมือกับวิกฤตที่ไม่คาดคิดมาก่อน โรงพยาบาลทุกแห่งต้องทำงานอย่างเต็มขีดความสามารถ บุคลากรในระบบสาธารณสุขล้วนขึ้นมาอยู่แนวหน้าในการเยียวยาวิกฤตจนเหนื่อยล้า จนกระทั่งประเทศต้องการตัวช่วยที่ทันสมัยกว่าที่เคยมี

เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์นี้ สมาชิกสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทยจึงได้ร่วมมือกันใช้มาตรการเชิงรุกที่ขับเคลื่อนด้วยภารกิจเดียว นั่นคือ การนำนวัตกรรมด้านสุขภาพใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 และบุคลากรในระบบสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่อัลกอริทึมและแอปพลิเคชันที่เสริมความสะดวกทันสมัย หากเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการช่วยชีวิตผู้คนได้จริงๆ

“พอสถานการณ์เริ่มยืดเยื้อจากหลายวันเป็นหลายเดือน พันธกิจของสมาคมฯ ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้จึงมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” พงษ์ชัยกล่าว

เครื่องมือสำคัญในการบรรเทาวิกฤตนี้มีทั้งแอปพลิเคชัน True Health ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางติดต่อกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย พร้อมบริการจัดส่งยาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ ได้ อีกแอปพลิเคชันที่โดดเด่นก็คือ Pharmcare ที่ให้คำปรึกษาเรื่องยาโดยเภสัชกร มีการเชื่อมต่อใบสั่งยากับร้านขายยาได้โดยตรง

“ด้วยสถานการณ์ที่มีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ นวัตกรรมเหล่านี้จึงจำเป็นและมีประโยชน์เสมอ” พงษ์ชัยเล่า พร้อมเสริมว่า เฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ทางสมาคมฯ ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 มาแล้วกว่า 300,000 ราย และช่วยสถานพยาบาลกว่า 500 แห่ง ทั่วประเทศ

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลขั้นพื้นฐานและเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยเรื้อรัง

นวัตกรรมด้านสุขภาพเติบโตรุดหน้าอย่างเด่นชัดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แอปพลิเคชันจำพวก PharmaSafe ได้ช่วยโรงพยาบาลและคลินิกจัดการเรื่องยาของคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้มั่นใจได้ว่าคนไข้จะใช้ยาที่ถูกต้อง และได้รับข้อมูลที่จำเป็น เพื่อป้องกันอันตรายต่อคนไข้ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันนี้ Precision Dietz ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของพงษ์ชัยเอง จึงได้เปิดตัว Covid Tracker ระบบการแพทย์ทางไกลที่สามารถติดตามอาการและให้การดูแลผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้าน โดยผู้ป่วยจะได้รับอุปกรณ์จากโรงพยาบาลเพื่อรายงานอุณหภูมิร่างกาย ระดับออกซิเจน หรืออาการอื่นๆ ในแต่ละวัน พร้อมรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลให้เสร็จสรรพ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน ในกรณีที่อาการทรุดลง ระบบจะทำการแจ้งเตือนทางโรงพยาบาล เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที นอกจากนี้ แอปฯ นี้ยังมีระบบการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย

“นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขและข้อมูลได้ง่ายขึ้น คนป่วยจึงดูแลตัวเองได้ ทั้งยังมีอุปกรณ์อย่างสมาร์ทวอทช์หรือแอปพลิเคชัน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกหลากหลายรูปแบบ เป็นประโยชน์ต่อทั้งคนทั่วไปและคนในวงการแพทย์ที่ได้มีตัวช่วยแบ่งเบาภาระ สร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุขได้เป็นอย่างมาก” พงษ์ชัยกล่าว

รายงานหนึ่งของบริษัทที่ปรึกษา YCP Solidiance ระบุว่า ตลาดธุรกิจดิจิทัลเฮลท์ในไทยอาจเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ไว้ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว โดยจะมีประชากร 20% เป็นกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีหากไม่นับถึงความตึงเครียดช่วงโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ผ่านมา โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องด้านประชากรผู้สูงอายุ เพราะเมื่อประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ฐานภาษีก็จะลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุได้เกษียณจากการทำงานและต้องการการดูแลด้านสุขภาพที่ซับซ้อนกว่าหนุ่มสาว นอกจากนี้ รายงานหนึ่งของ Bridges M&C ยังชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีแนวโน้มจะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะไตวายเพิ่มขึ้น

การประหยัดเวลาหมายถึงการช่วยชีวิตคน เพราะเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนก็จะรู้ในทันทีว่าต้องรับมืออย่างไรบ้าง

การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(Universal Health Coverage หรือ UHC) นั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเรื่องเงินในกลุ่มคนที่รายได้ต่ำในประเทศ และเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อช่วยยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine)ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลขั้นพื้นฐานและเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยในตลาดโลก การแพทย์ทางไกลอาจเติบโตขึ้นราว 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2023 นี้

แม้โดยปกติแล้ว รายจ่ายด้านสุขภาพส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ภาครัฐ แต่ช่วงหลังก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยรายจ่ายด้านสุขภาพของภาคเอกชนสูงขึ้นจาก 23% ในปี 2012 เป็นเกือบ 30% ในปี 2019

รายงานเดียวกันของ YCP Solidiance ระบุว่า “การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องพึ่งเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า ในช่วงปีที่กำลังจะถึง อาจมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากผู้เล่นทั้งในไทยและต่างประเทศ และจะส่งผลให้บริการด้านสุขภาพมีความหลากหลายขึ้น”

ผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลกบางรายได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดเฮลท์แคร์ในไทยอยู่แล้วอย่างเช่นหัวเว่ย (Huawei) ที่จัดงาน Healthcare Summit ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการนำเสนอเทรนด์และเทคโนโลยีล่าสุด นอกจากนี้บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่เจ้านี้ยังร่วมมือกับสตาร์ทอัพในไทยและโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายที่มีองค์กรด้านสุขภาพเข้าร่วมมากกว่า 5,000 รายในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก

หนึ่งในความร่วมมือด้านสุขภาพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างโดดเด่นคือ การร่วมมือระหว่างทรู คอร์ปอเรชั่นกับโรงพยาบาลศิริราช ที่ใช้เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน ทั้งยังมีการใช้ประโยชน์จากกล้องความละเอียดสูง และแว่นตา AR เพื่อเสริมการทำงานด้านต่างๆ เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้การสื่อสารจากรถพยาบาลกับโรงพยาบาลแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญกันได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสัญญาณชีพ ภาพจากวิดีโอ และประวัติสุขภาพของผู้ป่วย ทำให้บุคลากรให้ความช่วยเหลือในเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นับตั้งแต่เริ่มต้นใช้ในช่วงปลายปี 2021 เทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ว่า “การประหยัดเวลาหมายถึงการช่วยชีวิตคน เพราะเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนก็จะรู้ในทันทีว่าต้องรับมืออย่างไรบ้าง”

เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จับมือกับ Cariva สตาร์ทอัพในประเทศไทยเพื่อนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งานทางการแพทย์ เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ให้แพทย์มีเวลาโฟกัสกับการรักษาคนไข้ได้มากขึ้น โดยมุ่งให้ใช้งานได้ในหลากหลายสาขาการแพทย์ อย่างในสาขารังสีวิทยา AI จะช่วยอ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ ทำให้ขั้นตอนการวินิจฉัยเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เทคโนโลยีนี้ยังสามารถช่วยรังสีแพทย์ในการวิเคราะห์ฟิล์มเอ็กซ์เรย์และซีทีแสกนให้แม่นยำและรวดเร็วขึ้นด้วยการใช้เวชระเบียนของคนไข้แต่ละคน นอกจากนี้ แคริว่ายังร่วมกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างเช่น NanoPGx ตัวช่วยด้านเภสัชพันธุศาสตร์ที่มีความแม่นยำสูงในการตรวจวิเคราะห์ยีนส์เพื่อคาดการณ์ถึงอาการแพ้ยาที่อาจเกิดขึ้น

รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยให้สัมภาษณ์กับบางกอกโพสต์ไว้ว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความ ‘ไฮเทค’ แต่ยังเป็นเรื่องของความ ‘ไฮทัช’ ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับคนไข้ เพราะแพทย์เองก็จะมีเวลาดูแลคนไข้มากขึ้น” และกล่าวเสริมว่า การร่วมมือกันครั้งนี้จะมีส่วนช่วยนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดได้อีกด้วย

นอกเหนือจากศิริราชแล้ว สถาบันอื่นๆ รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็กำลังมองหาความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อการสร้างหลักสูตรใหม่ที่จะใช้เวลาเรียนรวมเจ็ดปี ซึ่งในหกปีแรกจะเป็นการศึกษาด้านการแพทย์ส่วนอีกหนึ่งปีที่เหลือจะเป็นปริญญาด้าน AI โดยเฉพาะ

สำหรับการพัฒนาในปัจจุบัน ธุรกิจด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ในไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่เรื่อยๆ ซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่ยากที่สุดคือ สตาร์ทอัพด้านนี้ในไทยมักได้รับเงินลงทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเขตอาเซียน ทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ยังคงลังเลที่จะลงเงินในสตาร์ทอัพของไทย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ

“เงินทุนที่สตาร์ทอัพได้รับในช่วงเริ่มต้นนั้นมักไม่พอสำหรับสร้างนวัตกรรมใหม่หรือยกระดับนวัตกรรมที่มีไปอีกขั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ภาคส่วนการแพทย์และการดูแลสุขภาพยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาวงการ” พงษ์ชัยอธิบาย พร้อมชี้ให้เห็นว่าระบบบริการสุขภาพของประเทศที่แยกส่วนกันยังมักทำให้เกิดการแข่งขันกันเองภายในประเทศที่สูงมาก ทำให้มูลค่าทางธุรกิจของสตาร์ทอัพต่างๆ ลดลงไปโดยปริยาย

แม้ทางเดินเส้นนี้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอุตสาหกรรมนี้ก็ดูมีอนาคตที่แข็งแรงและแจ่มใสอยู่ไม่น้อย ด้วยความพยายามที่ไม่ลดละของสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย สตาร์ทอัพต่างๆ และการร่วมมือกันระหว่างผู้มีความสามารถกับผู้มีเงินทุน ที่ได้พัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้เข้ารับบริการและบุคลการทางการแพทย์ นำไปสู่การดูแลสุขภาพและบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่ที่เปี่ยมสมรรถภาพ