SECTION
ABOUTFAST LANE
The Dream Machine
การระบาดของโควิด-19 ทำให้หุ่นยนต์ที่เคยถูกมองเป็นผู้ร้าย กลับมามีบทบาทเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่คาดเดาไม่ได้
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอบอกว่า ภายในปี 2583 ประเทศไทยจะมีกำลังแรงงานเหลือเพียงร้อยละ 60 จากจำนวนประชากรทั้งหมด ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ถึงการเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ แต่ขณะที่รัฐบาลมองว่าภาวะเช่นนี้จะทำให้ประเทศขาดแคลนแรงงาน ดร. วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ กลับมองถึงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้สูงอายุมีบุตรหลานน้อยลงในขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นกังวล คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาถึง 25 พันล้านบาทต่อปี และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เต็มที่
หลังจากทำงานในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มากว่า 20 ปี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นเจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี 2559 ผู้นี้ ก็มองเห็นถึงโอกาสที่จะนำเอาหุ่นยนต์มาช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ดร.วิบูลย์และทีมงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เวลา 4 ปี ในการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฟื้นฟูร่างกาย หรือ Heal Bot เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกครั้ง และในปี 2562 พวกเขาได้เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์ตั้งโต๊ะเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองก่อนแสดงอาการ เรียกว่า Care Bot หุ่นยนต์เหล่านี้ช่วยให้แพทย์ในกรุงเทพฯ สามารถวิเคราะห์อาการผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงพูดคุยและตรวจสอบสัญญาณชีพของผู้ป่วยได้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พวกเขาได้พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบให้สามารถเคลื่อนที่ไปตามจุดต่างๆ ในโรงพยาบาลและหลบหลีกสิ่งกีดขวางเองได้โดยให้แพทย์สั่งการจากทางไกล
เมื่อโควิด-19 เข้ามาทำให้ทั้งโลกสั่นสะเทือนในช่วงตรุษจีน และทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศอยู่ในความโกลาหล หุ่นยนต์ของดร.วิบูลย์ ได้กลายเป็นคำตอบสำคัญแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว “แพทย์ได้ข่าวเรื่องหุ่นยนต์ของเรา และอยากรู้ว่าจะเอาไปช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นหน้าด่านได้หรือไม่ เราเลยบอกไปว่าเราจะพยายาม” เขาเล่า
ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ ดร.วิบูลย์และทีมงานพยายามดัดแปลงซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้เหมาะกับความต้องการของพยาบาลและแพทย์ที่อยู่หน้าด่าน และหุ่นยนต์ Ninja Bot ก็ถือกำเนิดขึ้น หุ่นยนต์สีดำหน้าตาน่ารักนี้ถูกนำออกมาใช้ครั้งแรกที่สถาบันบำราศนราดูรและโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ป่วยติดเชื้อ หน้าจอที่หมุนได้รอบช่วยให้นินจาบอตสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ป่วย จับสัญญาณชีพจร และแปลภาษาจีนเป็นไทยเพื่อช่วยให้แพทย์สื่อสารกับผู้ป่วยที่ในขณะนั้นส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนได้ด้วย บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศในการแถลงข่าวว่า “เราจะส่งกองทัพหุ่นยนต์ไปช่วยโรงพยาบาลทั่วประเทศ”
ภายในปี 2565 มูลค่าการลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ล้านบาท ผู้ผลิตกว่าร้อยละ 50 จะนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ และเมื่อถึงเวลานั้น ประเทศไทยอาจลดการพึ่งพาหุ่นยนต์นำเข้าได้ถึงร้อยละ 30
คำว่า ‘กองทัพหุ่นยนต์’ อาจฟังดูไม่น่าพิสมัยนัก เมื่อจินตนาการเกี่ยวกับหุ่นยนต์ของคนส่วนใหญ่มักถูกเติมแต่งโดยภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่างเดอะ เทอร์มิเนเตอร์ หรือภาพยนตร์วันสิ้นโลกอื่นๆ ที่ตัวละครหุ่นยนต์มักต้องการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ กระนั้น การระบาดของโคโรน่าไวรัสที่เกิดขึ้นได้กดดันให้วงการหุ่นยนต์หลายแห่งทั่วโลกต้องยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์วิกฤตอย่างมากกว่าที่เคยเป็นมา ศูนย์วิจัยอย่างจุฬาลงกรณ์และบอสตัน ไดนามิกส์ จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแยกผู้คนให้ห่างกัน รวมทั้งช่วยส่งยารักษา เฝ้าดูแลผู้ป่วย และฆ่าเชื้อโรคในห้อง ขณะที่ในย่านมิลตัน คีนส์ ของลอนดอน หุ่นยนต์ต้องทำหน้าที่ส่งของให้ครอบครัวที่ไม่กล้าออกจากบ้านอย่างขันแข็ง
เช่นเดียวกับปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาหุ่นยนต์กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปทั่วโลก ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปี 2563 การขนส่งหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 126 ทางบีโอไอยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2565 มูลค่าการลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์จะเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ล้านบาท ผู้ผลิตกว่าร้อยละ 50 จะนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ และเมื่อถึงเวลานั้น ประเทศไทยอาจลดการพึ่งพาหุ่นยนต์นำเข้าได้ถึงร้อยละ 30
“การนำเข้าเทคโนโลยีมีราคาแพงมาก” ดร.วิบูลย์กล่าว “หุ่นยนต์นำเข้าราคา 8 ล้านบาท แต่ถ้าผลิตในประเทศ เราอาจใช้ต้นทุนเพียง 1 ล้านบาท ปัญหาคืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพพอจะเข้าไปแข่งขันในตลาดได้ เพราะมีประเทศอย่างเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีนที่ครอบครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว หนึ่งในวิธีกระตุ้นการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมในท้องถิ่นคือการกระตุ้นผ่านทางอุตสาหกรรมการแพทย์ ตอนนี้มีความต้องการหุ่นยนต์แพทย์มากพอจนคุ้มค่าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง”
จริงอยู่ว่าทั่วทั้งโลกต่างกังวลว่าหุ่นยนต์จะมาทำงานแทน ข้อมูลจากงานวิจัยของ IBM Institute for Business Values ระบุว่าแรงงานกว่า 120 ล้านคนทั่วโลก(รวมทั้งแรงงานในไทยร้อยละ15) จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมใหม่ภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่การ ‘ทำงานที่ซ้ำซาก’ ในโรงงาน กระนั้น สำหรับคนทั่วไป สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือหุ่นยนต์จะมาอยู่ในชีวิตของคนทั่วไปได้อย่างไร ซึ่งดร.วิบูลย์ดูจะเห็นว่าบทบาทของหุ่นยนต์ในชีวิตประจำวันจะมากขึ้นไปเอง เมื่อภาคธุรกิจเข้ามาต่อยอดหาประโยชน์ อันที่จริง ในตอนนี้เขามีแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ใช้กับนินจาบอตให้แก่กลุ่มธุรกิจที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการจดจำใบหน้าและค้นหาเส้นทาง “มีบางบริษัทสนใจนำเทคโนโลยีค้นหาเส้นทางของเราไปใช้ในบริษัทบ้างแล้ว แล้วเราก็กำลังวิจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีนี้ในด้านของ Surveillance หรือการสอดส่องตรวจตราหาความแปลกปลอมต่างๆ”
ในวงการเรียกหุ่นยนต์เหล่านี้ว่า “หุ่นยนต์เข้าสังคมที่ไม่มีความเป็นมนุษย์” หมายความว่าพวกมันไม่ได้พยายามเลียนแบบมนุษย์ เพียงแค่ช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีเท่านั้น
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เดวิด เดมิง แห่งนิวยอร์กไทมส์ ได้เขียนบทความชื่อว่า The robots are coming, prepare for trouble ซึ่งทำให้เห็นว่าหุ่นยนต์ไม่เพียงมาทำงานที่ซ้ำซากแทนมนุษย์ แต่ยังช่วยทำหน้าที่แทนในอีกหลายเรื่องที่มนุษย์อาจยังไม่ทันตั้งตัว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเครื่องแบบหน้าคอนโดอาจถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่ซึ่งสามารถสแกนใบหน้าเมื่อมีคนเดินเข้ามาในอาคาร กล่าวต้อนรับ ช่วยติดต่อบริการต่างๆ ในอาคาร และแจ้งตำรวจได้ หรือถ้าสตาร์ทอัพอเมริกันอย่าง Cafe X ทำได้สำเร็จ จะมีหุ่นยนต์ชงกาแฟแขนเดียว ซึ่งชงกาแฟได้ถึงชั่วโมงละ 120 แก้ว และทำได้ทุกเมนูที่ลูกค้าต้องการ ตั้งแต่ลาเต้ เอสเปรสโซแบบซิงเกิล ออริจิน มัทฉะลาเต้ กอร์ตาโด และอีกมากมาย และยังมีฟองนมหลายแบบให้เลือก แม้แต่นมข้าวโอ๊ตออร์แกนิกจากสวีเดน!
“เราไม่ได้จะมาแทนที่บาริสต้าหรือมาแทนที่ความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อลูกค้า” วิคตอเรีย สเลเกอร์ รองประธานฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Ammunition บริษัทที่ดูแลการออกแบบหุ่นยนต์ ให้สัมภาษณ์กับเอ็นบีซี นิวส์ แต่ถึงกระนั้น ยามที่ใครได้เห็นแขนกลของคาเฟ่ เอ็กซ์ หมุนตัวไปรอบๆ บาร์ คว้าแก้วและวาดฟองนมเป็นลวดลายเหมือนบาริสต้าตัวเป็นๆ หลังจากมีลูกค้าสั่งกาแฟเข้ามาทางไอแพด ก็ยากที่จะจินตนาการว่าบาริสต้าจะมาทำอะไรตรงนี้ นอกจากยืนมองเหมือนกับคนอื่นๆ เหมือนกัน
แต่ ‘วิวัฒนาการหุ่นยนต์’ ประเภทนี้ก็ยังอยู่อีกไกล แขนกลของคาเฟ่ เอ็กซ์ มีราคาถึง 772,000 บาท และยังชงกาแฟได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ แม้ว่าจะทำได้เร็วกว่าก็ตาม นอกจากนี้ การทำให้หุ่นยนต์สามารถทำกิจกรรมของมนุษย์ได้ต้องอาศัยเวลาและฝีมืออย่างยิ่งของนักพัฒนา และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่หุ่นยนต์จะยังไม่มาแทนที่มนุษย์ในทุกๆ ด้านได้อย่างรวดเร็วนัก
“เมื่อคนเห็นหุ่นยนต์ทำอะไรสักอย่าง แม้จะเป็นงานง่ายอย่างการหยิบของและวางกลับลงไปที่เดิม พวกเขาจะจินตนาการทันทีว่าหุ่นยนต์คงจะทำเรื่องที่ยากกว่านี้มากๆ ได้” วินซ์ มาร์ติเนลลี หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และการตลาดของ Righthead Robotics กล่าวในการสัมภาษณ์กับบิลต์ อิน ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับเทคโนโลยี “เราต้องย้ำกับพวกเขาเสมอว่า งานง่ายที่เราทำได้นั้น จริงๆ แล้วค่อนข้างยากเลยสำหรับหุ่นยนต์”
อันที่จริง ทุกวันนี้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ดูเป็นไปได้สำหรับการใช้สอยในหมู่ผู้บริโภคมากที่สุดนั้นไม่น่ากลัวเลย กล่าวคือ ‘กิต้า’ หุ่นยนต์กระเป๋าเดินทาง จากบริษัท Piaggio ผู้ผลิตสกูตเตอร์เวสป้าอันเลื่องชื่อ ซึ่งใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าติดตาม ‘เจ้าของกระเป๋า’ ด้วยความเร็วเท่ากับการเดิน ทั้งๆ ที่บรรทุกสิ่งของ 18 กิโลกรัมใส่อยู่ข้างใน และยังสามารถตั้งโปรแกรมให้จดจำเพื่อนหรือครอบครัว และติดตามคนเหล่านั้นได้หากต้องการ
กิต้า และนินจาบอตที่ดร.วิบูลย์และทีมพัฒนาขึ้นดูจะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ใกล้เคียงที่สุดว่ามนุษย์เราน่าจะได้เจอกับอะไรใน 10 ปีข้างหน้า ในวงการเรียกหุ่นยนต์เหล่านี้ว่า “หุ่นยนต์เข้าสังคมที่ไม่มีความเป็นมนุษย์ (non-human social robots)” หมายความว่าพวกมันไม่ได้พยายามเลียนแบบมนุษย์ เพียงแค่ช่วยอำนวยความสะดวก ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีเท่านั้น หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ เช่นอาซิโม หุ่นยนต์ชื่อดังของฮอนด้า ซึ่งสามารถเตะลูกบอล เดินขึ้นบันได และจับมือกับคนได้ ถูกออกแบบมาเหมือนหุ่นยนต์ในนิยายไซไฟ แต่อย่างน้อยในวันนี้ หุ่นยนต์ที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์เช่นนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากการวิจัย ในขณะที่หุ่นยนต์เข้าสังคมที่ไม่มีความเป็นมนุษย์นั้นผลิตขึ้นมาเพื่อใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตจริงๆ
“เทคโนโลยีที่เราพัฒนาอยู่ไม่ได้มีไว้สำหรับคนรวย” ดร. วิบูลย์กล่าว “จุดประสงค์ของหุ่นยนต์ของเราคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครอยู่ใกล้ๆ โดยหุ่นยนต์จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพื่อให้สามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวได้โดยมีแพทย์ในกรุงเทพฯ สังเกตการณ์อยู่ข้างๆ หรือช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้มีอาการซึมเศร้าที่ต้องอยู่คนเดียวผ่านการปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์
ดร.วิบูลย์กล่าวว่า การจะใช้ความสามารถของนินจาบอตได้อย่างเต็มที่นั้นยังคงต้องรออีก 3-5 ปี และยังต้องพัฒนาและทดสอบในคลินิกอีกหลายปี จนกว่าจะสามารถนำหุ่นยนต์ไปใช้ในสถานการณ์ทางการแพทย์โดยไม่ต้องมีมนุษย์ควบคุม แต่เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการพัฒนาแล้ว หุ่นยนต์จะทำงานที่น่าทึ่งได้หลายอย่าง เช่น ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัดโดยการวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องด้วยเทคโนโลยีสแกน หุ่นยนต์ด้านการแพทย์อื่นที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทยเองก็มีความคืบหน้าอย่างช้าๆ แต่ใช้ได้จริง เช่น The Carver ที่พัฒนาโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นตู้อาหารติดล้อที่มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมจากระยะไกลอยู่นอกห้อง ในช่วงการระบาด หุ่นยนต์ตัวนี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อส่งอาหารและเครื่องดื่มให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก และยังสามารถฟอกอากาศในขณะทำงานได้ด้วย เนื่องจากมีเครื่องผลิตไฮดรอกซิลติดตั้งอยู่
“นี่คือเทคโนโลยีที่จะได้รับเงินทุนสนับสนุนในประเทศไทย เรามีทีมแพทย์ที่เก่งและต้องการใช้หุ่นยนต์มาช่วย อุปกรณ์ที่สร้างประโยชน์ให้สังคมในวงกว้างคือสิ่งที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรม ไม่ใช่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมหรือสิ่งที่คุณเห็นที่บอสตัน ไดนามิกส์” ดร.วิบูลย์กล่าว
จะเร็วหรือช้าก็ตาม เป็นที่แน่นอนว่าในอนาคตเราจะได้เห็นหุ่นยนต์ที่เข้ามาเสริมบทบาทของแพทย์ที่เป็นมนุษย์จริง และในขณะที่หนังไซไฟอาจไม่ได้แสดงภาพลักษณะนี้ให้เราเห็นบ่อยเท่าไหร่ หน้าที่ของหุ่นยนต์ในอนาคตไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอย่างการครองโลก หากเป็นเรื่องไม่มีพิษมีภัยอย่างการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของการรักษา หรือการดูแลผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายเท่านั้น ■