SECTION
ABOUTTHE FAST LANE
Garage Poetry
กิติพงษ์ พงษ์ศิวาภัย กับศาสตร์ของการ 'ตัดต่อ' ชีวิตใหม่ให้กับรถและจักรยานยนต์
“หลายปีก่อนผมบอกเขาว่าจะซื้อเครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรงให้” ต้อ-กิติพงษ์ พงษ์ศิวาภัย กล่าวขณะยืนเฝ้าดูช่างธีอยู่หน้าอู่รถของตัวเอง ช่างธีเป็นชายร่างกะทัดรัดสูง 150 เซนติเมตรและเป็นหนึ่งในช่างซึ่งทำงานกับกิติพงษ์มานานที่สุด เขานั่งคุดคู้อยู่บนพื้น โดยข้างตัวมีเพียงวิทยุและพัดลมเก่าๆ ไว้ช่วยคลายร้อน มือของเขาถือค้อนด้ามเล็กเพื่อทุบเหล็กซ้ำไปซ้ำมาเพื่อขึ้นรูปชิ้นส่วนตามที่เขาต้องการดังที่ทำอยู่ทุกวันเป็นกิจวัตร ชิ้นส่วนตรงหน้าเขาในขณะนี้คือพื้นรถกระบะ Ford ปี ’60s ที่ทางทีมกำลังปรับแต่ง “ผมบอกเขาว่าถ้าใช้เครื่องช่วย จะง่ายและประหยัดเวลากว่า แต่เขาก็ยืนยันจะใช้มือทำ บอกว่างานถึงจะออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด” เขาเล่าต่อ
หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อของกิติพงษ์มาก่อน แต่สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงการแต่งรถ เขาคือผู้บุกเบิกวงการรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ‘คัสตอม (custom)’ ในบ้านเรา ร้านของเขาเรียงรายไปด้วยถ้วยรางวัลจากการประกวดรถและมอเตอร์ไซค์ในประเทศ และอีกหลายรางวัลจากเวทีนานาชาติ กระนั้น กิติพงษ์ก็เลือกจะใช้ชีวิตเรียบง่าย เมื่อ 30 ปีก่อนหน้าเขาเปิดอู่ปรับแต่งรถยนต์บนถนนสุขุมวิท 62 ในชื่อ Thor Chops & Kustoms โดยอู่แห่งนี้เป็นอู่ปรับแต่งรถคลาสสิกและมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson รายแรกๆ ของประเทศ รายได้เกือบทั้งหมดของเขามาจากการชุบชีวิตให้แก่ซากรถเก่าผ่านการขัดสีโครงเหล็ก เปลี่ยนเครื่องยนต์ และปรับแต่งรูปลักษณ์รถแต่ละคันจนแปลงสภาพเป็นรถคันใหม่ซึ่งแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม
บรรดาลูกค้าของกิติพงษ์นั้นประกอบด้วยกลุ่มคนที่กิติพงษ์เรียกว่า “นักธุรกิจผู้ใจดีและใจเย็น” จากทั่วทั้งเอเชีย ไปจนถึงดูไบและปารีส ลูกค้าหลายคนยินดีที่จะรอนานถึง 5 ปีเพื่อให้กิติพงษ์ปรับแต่งรถยุค ’50s และ ’60s ของพวกเขา แต่ใครที่อยากจะเป็นลูกค้าของกิติพงษ์จะต้องตามหาที่ตั้งของร้านให้เจอเสียก่อน
อู่รถของกิติพงษ์ไม่ปรากฎตำแหน่งบนแผนที่ของกูเกิ้ลแม็ป ไม่มีคนขับแท็กซี่คนไหนเคยได้ยินชื่อร้านของเขามาก่อน ข้อความที่ส่งไปบนเฟสบุ๊คและโทรศัพท์ของทางร้านก็ไร้การตอบรับ ยิ่งกว่านั้น อู่แห่งนี้ยังไม่มีป้ายชื่อบอกชัดเจน และตัวทางเข้าก็ถูกบดบังด้วยแมกไม้จนยากจะสังเกตเห็น หนทางที่ดีที่สุดในการตามหาร้านให้พบคือการตามเสียงตีเหล็กของช่างธีผู้นั่งทำงานอยู่ตรงลานด้านหน้าเข้าไปจนพบกับหน้าร้านซึ่งตกแต่งด้วยกำแพงอิฐสีทึมและประตูเหล็กดัดสีดำบานสูง หากใครโชคดี หรือมาพร้อมกับเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของกิติพงษ์ เจ้าของอู่ร่างใหญ่รายนี้ก็ยินดีจะเปิดประตูต้อนรับ
ในวัย 52 ปี กิติพงษ์มีลักษณะรูปร่างตรงกับภาพจำของช่างแต่งรถอเมริกันคลาสสิกทุกกระเบียด ร่างกายของเขากำยำจากการยกลูกเหล็กมาหลายสิบปี สองแขนและแผ่นหลังของเขาเต็มไปด้วยรอยสัก ขณะพูด เสียงของเขากระหึ่มไปทั่วทั้งห้องซึ่งมี บัคกี้ สุนัขพันธุ์สแตฟเฟอร์ดไชร์ เทอร์เรียร์คู่ใจวิ่งเล่นอยู่ไม่ห่าง รูปลักษณ์ของมันแลดูใหญ่โตไม่ชวนให้ไว้วางใจสักเท่าไรนัก ทว่าระหว่างที่นั่งอยู่ในร้านกึ่งอู่รถของเขาซึ่งห้อมล้อมไปด้วยมอเตอร์ไซค์คัสตอมคันเงาวับ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ถ้วยรางวัล และของสะสมตามประสาช่างแต่งรถยนต์คลาสสิกนั้น ทั้งกิติพงษ์และสุนัขของเขากลับเป็นมิตรเกินคาด “เดี๋ยวนี้วงการแต่งรถที่นี่โตขึ้นมาก เราเห็นคนรุ่นใหม่เอามอเตอร์ไซค์กับรถคัสตอมของตัวเองมาโชว์ตามงานอีเวนต์คนรักรถทั่วประเทศ เสียอย่างตรงที่พวกเขามักไม่ได้ปรับแต่งรถเอง แต่จ้างให้อู่รถหลายๆ ที่ทำโดยลอกสไตล์ตามๆ กันมา เวลาอยู่ที่งานผมชี้ได้เลยว่ารถคันไหนเอาแบบมาจากนิตยสาร หลายคนทำตามเป็นอย่างเดียว เพราะไม่มีใครสอนวิธีที่ถูกต้องให้” เขากล่าว
วัฒนธรรมการปรับแต่งรถนั้นมีประวัติยาวนานและมีความหลากหลายอยู่มาก หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการ ‘คัสตอม’ หรือปรับแต่งรถยนต์นั้นคือสิ่งเดียวกับการปรับแต่งเครื่องยนต์หรือการซ่อมทั่วไป แต่แท้จริงแล้วการปรับแต่งรถยนต์นั้นคือการออกแบบชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์หรือสมรรถนะยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเครื่องภายในเพื่อเพิ่มอัตราการประหยัดน้ำมัน แรงม้า และระบบควบคุมการขับขี่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือการปรับแต่งชิ้นส่วนภายนอก เช่น สเกิร์ตข้าง กันชนข้างและหน้า สปอยเลอร์ ลิ้นหน้า เพื่อลดแรงเสียดทานตามหลักอากาศพลศาสตร์ และเปลี่ยนไปใช้ล้อที่มีน้ำหนักเบา ทั้งหมดนี้ยังสามารถแบ่งแยกได้หลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นรถพอร์ชโป่งล้อลึกหน้าตาดุดันของอากิระ นาไก รถโหลดเตี้ยหรือ ‘low-riders’ ซึ่งได้รับความนิยมมากในลอสแอนเจลิสช่วงหลังยุคสงครามโลก ไปจนถึงสไตล์ ‘bippu’ หรือ VIP จากญี่ปุ่นซึ่งหมายถึงการแต่งรถซีดานในแนวหรูหรา และ ‘sleeper’ หรือรถซิ่งที่ภายนอกดูเหมือนรถบ้านธรรมดาๆ
ลูกค้าหลายคนยินดีที่จะรอนานถึง 5 ปีเพื่อให้กิติพงษ์ปรับแต่งรถยุค 50s และ 60s ของพวกเขา
สไตล์การแต่งรถของกิติพงษ์นั้นเรียกว่า ‘street rod’ ซึ่งคือการนำรถยนต์คลาสสิกที่ส่วนมากผลิตในสหรัฐฯ มาปรับแต่งเพื่อเพิ่มสมรรถนะ รวมทั้งสะท้อนเอกลักษณ์และรสนิยมเฉพาะตัวของผู้ขับขี่ ด้วยการเพนท์สีตัวถังและใช้อะไหล่ประเภท aftermarket หรืออะไหล่จาก ‘ตลาดอะไหล่ทดแทน’ ขั้นตอนของเขาจะเริ่มจากการแยกชิ้นส่วนยานพาหนะออกทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่น็อตตัวเล็กๆ เพื่อทำความสะอาด ก่อนจะเปลี่ยนและประกอบชิ้นส่วนต่างๆ กลับเข้าด้วยกัน หากหาอะไหล่ที่ต้องการไม่ได้ พวกเขาจะทำขึ้นเองใหม่ทั้งหมด “ในแง่หนึ่ง มันเหมือนการสร้างรถคันใหม่ ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องรู้วิธีการเก็บรักษาชิ้นส่วนต่างๆ การทำความสะอาด และการประกอบทุกอย่างกลับเข้าด้วยกัน” เขาอธิบาย
กิติพงษ์เรียนรู้เรื่องการปรับแต่งรถยนต์ด้วยตนเอง เนื่องจากได้รับการชี้แนะซึ่งทำให้เขาค้นหาเส้นทางชีวิตของตัวเองตั้งแต่ในสมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่นอยู่ ย้อนกลับไปสมัยที่เขาศึกษาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขามักโดดเรียนไปซ่อมรถกระบะตามอู่ในละแวกใกล้เคียง จนพ่อของเขาตัดสินใจส่งตัวไปอยู่กับลุงที่รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลับกลายเป็นโอกาสให้เขาได้จุดประกายความรักในรถอเมริกันคลาสสิก เพราะที่ฮาร์เบอร์ซิตี้ นครลอสแอนเจลิส เขาได้พบกับเจ้าของอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งซึ่งตกลงให้เขาฝึกงานโดยไม่ได้รับค่าแรง ทำให้กิติพงษ์ได้เรียนรู้ถึงตื้นลึกหนาบางของธุรกิจซื้อขายรถคัสตอมทุกแง่มุม “อยู่ที่นั่น เราได้เรียนทั้งภาษา วิธีใช้เครื่องมือ เทคนิคการขาย และอะไรอีกหลายอย่าง เขาสอนผมว่าการเป็นเจ้าของอู่รถต้องทำยังไง เขาทำทุกอย่างเองคนเดียว สุดยอดมากเลย” กิติพงษ์เล่า
ไม่กี่ปีให้หลัง กิติพงษ์ก็นำทักษะและความรู้ที่ได้รับกลับมาเมืองไทย โดยในขณะนั้นมีเพียงเขาคนเดียวในแวดวงปรับแต่งรถที่รื้อชิ้นส่วนรถทั้งคันมาออกแบบและประกอบขึ้นใหม่ เพราะไม่มีใครมีความรู้ ความสนใจ หรือความอดทนเพียงพอ เนื่องจากการปรับแต่งรถยนต์ในลักษณะดังกล่าวอาจกินเวลานานถึง 5 ปี แต่ถึงแม้จะกินเวลานาน บรรดาลูกค้าของเขาก็ยินดีที่จะรอ เขาเล่าว่า “มีอยู่ช่วงหนึ่ง เรามีมอเตอร์ไซค์รอคิวปรับแต่งถึง 30 คัน เราต้องบอกลูกค้าว่าให้เอากลับบ้านไปก่อน แล้วจะไปหาเองเมื่อพร้อม”
เขาไม่เคยตั้งเกณฑ์ว่าลูกค้าจะต้องเป็นคนประเภทไหน สำหรับเขา ใครก็เป็นเจ้าของรถคัสตอมได้ ลูกค้าหลายรายบินมาจากเมืองนอกหลังเห็นผลงานเขาบนอินสตาแกรม บ้างก็เป็นนักสะสมชาวเอเชียที่สะดุดตาผลงานของเขาตามงานแสดงรถต่างๆ ก่อนจะตกลงรับงาน เขาจะนั่งพูดคุยกับลูกค้าของเขาทุกคน ซึ่งสิ่งที่คุยไม่ใช่แค่เรื่องรถเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรสนิยมการฟังเพลง และไลฟ์สไตล์อื่นๆ ด้วย “เราคุยกันทุกเรื่อง เราต้องรู้จักตัวตนของเขา ต้องรู้ก่อนว่าสไตล์เขากับเราไปกันได้ไหม ผมมองลูกค้าทุกคนเหมือนเพื่อน เพราะเราต้องทำงานกับเขาไปอีกหลายปี” เขากล่าว
งานปรับแต่งรถอาจกินระยะเวลาหลายปีเพราะนอกจากการออกแบบ ดัด และขึ้นรูปชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งหมดด้วยมือซึ่งกินทั้งแรงและเวลาแล้ว การตามหาชิ้นส่วนรถยนต์ก็เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง รถยนต์หลายๆ รุ่นที่กิติพงษ์ปรับแต่งนั้นมีอายุมากกว่า 50-60 ปี แม้สภาพรถยนต์แต่ละคันจะต่างกันออกไป แต่เกือบทุกคันก็จำเป็นต้องหาอะไหล่มาเปลี่ยนไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง และการจะหาผู้จำหน่ายอะไหล่รถยนต์รุ่นเก่าเหล่านี้ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจึงต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตเพื่อตามหาชิ้นส่วนนับพัน และเมื่อพบแล้ว เขายังต้องพบอุปสรรคจากการนำชิ้นส่วนเข้าประเทศอีก เพราะรัฐบาลไทยมีกฏห้ามนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่ประกอบเสร็จแล้วบางส่วนเข้ามาในประเทศ ทางเดียวที่ทีมของกิติพงษ์จะสามารถได้ชิ้นส่วนอะไหล่ที่ต้องการคือการหั่นมันออกเป็นชิ้นๆ “คุณต้องหั่นชิ้นส่วนรถจนมันดูเหมือนเศษเหล็ก คุณถึงจะได้รับอนุญาตให้เอาเข้ามาได้ แล้วเราจึงค่อยนำแต่ละส่วนมาเชื่อมเข้าด้วยกันอีกครั้ง” เขาอธิบาย
การเชื่อมต่อชิ้นส่วนต่างๆ กลับเข้าด้วยกัน ไม่ใช่งานยากสำหรับช่างปรับแต่งรถอย่างกิติพงษ์ แต่ขั้นตอนดังกล่าวทำให้ระยะเวลาในการปรับแต่งรถแต่ละคันยาวนานขึ้นไปอีก บนโทรศัพท์มือถือของกิติพงษ์นั้นเต็มไปด้วย ‘โปรเจกต์ คาร์’ ซึ่งในที่นี้หมายถึงโครงรถเปล่าที่เขาซื้อมาในราคาที่อาจสูงถึง 240,000 บาท ในสภาพถูกหั่นครึ่งชิ้นเพื่อเตรียมตัวส่งเข้ามาในไทย ยิ่งไปกว่านั้น ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เหล่านี้ยังมีอัตราเท่ากับการนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน กล่าวคือ ราว 3 เท่าของราคารถยนต์ เมื่อเขาทำการประกอบจน ‘เสร็จสมบูรณ์’ แล้ว เขาจึงจะส่งรถคันนั้นๆ ไปยังประเทศของลูกค้าได้อย่างไร้กังวล อุปสรรคนานับประการเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ในไทยมีรถยนต์ที่ประกอบไปด้วยลักษณะเด่นดังกล่าวเพียง 20 คันเท่านั้น ส่วนคันอื่นๆ นั้นถูกส่งไปยังต่างประเทศทั้งหมด “อุปสรรคเหล่านี้ทำให้การหาชิ้นส่วนขนาดใหญ่อย่างแชสซีจากเมืองนอกนั้นทำได้ยากขึ้น เดี๋ยวนี้เราเลยมองหาจากในไทยมากกว่าเดิม” เขากล่าว
แน่นอน ผู้ที่ทำธุรกิจอยู่ในแวดวงรถคัสตอมมักจะหมดเวลาไปกับการปรับแต่งรถให้ลูกค้ารายต่างๆ ขณะที่ในเวลาว่าง พวกเขามักนำผลงานออกโชว์ตามงานประกวดและอีเวนต์หลากหลาย ซึ่งมีนักปรับแต่งรถและเหล่านักสะสมผู้มีอันจะกินเอารถของตัวเองมาประชันกัน เช่นเดียวกัน ยามที่กิติพงษ์ไม่ได้ยุ่งอยู่กับการปรับแต่งรถให้ลูกค้า เขาจะทุ่มเทเวลาว่างให้กับสิ่งอื่นๆ ที่เขารัก บ้านของเขาซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวร้านเพียงไม่กี่นาทีนั้นทำหน้าที่เป็นโชว์รูมรถส่วนตัวสำหรับเก็บรักษาโปรเจกต์คาร์รุ่นเก๋าหลายคัน ซึ่งในนั้นมีรถฟอร์ด Rat Rod ปี ’40s และรถยี่ห้อ Mercury โหลดต่ำสีเจ็ทแบล็กรุ่นปี 1950 อยู่ด้วย เมื่อหลายปีก่อน สมัยที่กิติพงษ์ยังวนเวียนใกล้ชิดในแวดวงการประกวด เขาเดินสายกวาดรางวัลจากแทบทุกเวทีในประเทศ รวมถึงรางวัลรองชนะเลิศในงาน Asian Motorcycle Show ปี 2007 ซึ่งเป็นผลงานที่เขาภาคภูมิใจที่สุดในฐานะช่างปรับแต่งรถอีกด้วย ลูกค้ารายแรกของกิติพงษ์เอง ก็รู้จักเขาผ่านการโชว์ผลงานรถจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์-เดวิดสันคัสตอมฝีมือของเขาที่งานแสดงรถแห่งหนึ่ง ถึงตอนนี้เขาจะอำลาวงการประกวดเกือบจะเต็มตัวแล้ว กิติพงษ์ก็ยังมักไปปรากฏตัวในฐานะกรรมการตัดสินและคอยให้คำแนะนำแก่บรรดาคนรุ่นใหม่ในวงการอยู่เสมอ
เขาพยายามส่งต่อความรู้ที่มีเพื่อปูทางให้กับคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันเขามีลูกศิษย์กว่า 30 คน ซึ่งมีทั้งนักเรียนช่างกล และคนว่างงานที่อยากเดินตามความฝันของตนเอง “ทุกๆ ปีจะมีคนมาขอให้ผมช่วยสอน ผมก็สอนให้หมด เพียงแค่ไม่มีประกาศนียบัตรรับรองให้เท่านั้น” เขาเล่าไปขำไป
ก่อนจะอำลาวงการประกวดเต็มตัว ภารกิจสุดท้ายของเขาคือการส่งรถจักรยานยนต์เข้าร่วมประกวด เขาและสมาชิกในทีมกำลังทุ่มเทเวลาให้กับการปรับแต่งจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์-เดวิดสันบอดี้ทองเหลือง และตั้งเป้าไว้ว่าจะนำไปประกวดในงาน World Championship of Custom Bike Building ในเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ตัวจักรยานยนต์ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนแรกเริ่มของการปรับแต่ง จะถูกเพนท์ด้วยลวดลายและงานศิลปะไทย งานประกวดดังกล่าวนั้นไม่เคยมีตัวแทนคนไทยมีโอกาสเข้าร่วมมาก่อน การที่กิติพงษ์ตั้งใจจะเข้าร่วมจึงฟังดูเป็นความคิดที่เหมาะสมยิ่ง “มอเตอร์ไซค์คันนี้เป็นคันสุดท้ายแล้วที่เราจะทำ เราเลยอยากใส่ความเป็นไทยลงไปให้มากที่สุด” เขากล่าว
เรียบง่าย เนี้ยบ และใส่ใจทุกรายละเอียด คือคำที่กิติพงษ์ใช้นิยามสไตล์การแต่งรถของตนเอง การจะชื่นชมผลงานของเขาควรทำในระยะครึ่งเมตรหรือใกล้กว่านั้นเพื่อจะสามารถมองเห็นทุกรายละเอียด เขาพูดย้ำถึงความสำคัญของการมีความคิดสร้างสรรค์และสไตล์ของตัวเอง มากกว่าการทำตามรูปแบบที่คนส่วนใหญ่นิยมหรือชื่นชอบ วิธีการพูดของเขาเองก็ชวนให้รู้สึกว่าเขาคือศิลปินโดยแท้ แม้จะยอมรับว่ากำไรจากการทำธุรกิจของเขานั้นน้อยนิด แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะทำมันอยู่ดีเพราะความรักในงานศิลป์ดังกล่าว พร้อมทั้งกังวลว่าในอนาคตจะไม่มีใครมีความรู้และทักษะการปรับแต่งรถคัสตอมที่ถูกต้อง
แม้กิติพงษ์กำลังจะวางมือจากเวทีประกวด แต่เขาก็ยังรักและยึดมั่นในงานที่ทำ ดูเหมือนว่าเสียงตีเหล็กจากอู่ซ่อมรถของเขานั้นจะยังดังกังวานในซอยสุขุมวิท 62 ไปอีกหลายปี■