HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE FAST LANE


Dream of Flying

สำหรับคนในแวดวงอุตสาหกรรมโดรนของไทย อนาคตของอากาศยานไร้คนขับอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่น้อยคนจะคาดคิด

ในช่วงเวลาเที่ยง การจราจรบนถนนสาทรนั้นไม่ขยับเขยื้อน ทางเท้าแน่นขนัดไปด้วยเหล่าพนักงานออฟฟิศที่เร่งรีบออกไปรับประทานอาหารเที่ยง ความวุ่นวายบนท้องถนนและอากาศอันร้อนระอุอาจชวนให้ผู้สัญจรไปมารู้สึกไม่เป็นสุขนัก กระนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นภาพชินตาสำหรับวันทำงานในย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ

เหนือความโกลาหลบนท้องถนนขึ้นไปเพียงไม่กี่เมตร ชายผู้หนึ่งกำลังนั่งจิบกาแฟสกัดเย็นในท่าทีสงบนิ่ง เขาไว้ผมสั้นเนี้ยบ เสื้อเชิ้ตแขนสั้นลำลองสีฟ้านั้นรีดเรียบกริบ ไม่มีเหงื่อสักเม็ดปรากฏให้เห็นบนใบหน้าของเขา ชายผู้มีบุคลิกเคร่งขรึมนี้คือไมเคิล เคอร์รี่ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพสัญชาติไทยอย่าง Fling สายตาแหลมคมของเขาทอดไปยังเบื้องล่างขณะกำลังพิจารณาการจราจรอันแสนติดขัดในเมืองกรุง

“คิดดูว่าที่นี่เสียงรบกวนเยอะขนาดไหน แค่ออกมาเดินเตร่ตามท้องถนนเสียงก็ดังเหลือเชื่อแล้ว” ไมเคิล ผู้ซึ่งเคยทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง กล่าวด้วยน้ำเสียงครุ่นคิดอันเป็นเอกลักษณ์ ก่อนจะเสริมว่า “ลองจินตนาการถึงอนาคตที่การจราจรทั้งหมดขึ้นไปอยู่เหนือพื้นดินสัก 90 ไม่ก็ 150 หรือกระทั่ง 200 เมตร และเราสามารถเปลี่ยนถนนอันพลุกพล่านให้กลายเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะและพื้นที่สัญจรสำหรับผู้คน แทนที่จะเป็นรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และควันพิษ มันฟังดูเหมือนฉากในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่นี่อาจเป็นอนาคตของเรา”

ภาพแห่งโลกอุดมคตินี้เองจุดประกายให้ฟลิงตั้งเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาด้านโดรนชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางด้าน ‘อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned aerial vehicle หรือ UAV)’ ในเชิงพาณิชย์และความรู้ด้านกฎหมายมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง

ถึงกระนั้น โดรนก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในประเทศไทยและประชาคมโลกอยู่เป็นเวลาหลายปี โดยถูกจำกัดอยู่แค่ในแวดวงของผู้คิดค้นฮาร์ดแวร์ การใช้งานในกองทัพ และผู้ที่เล่นโดรนเป็นงานอดิเรก “คุณต้องถนัดพวกงานซ่อมและเคยคลุกคลีกับพวกเครื่องบินบังคับ หรือไม่ก็ต้องมีภูมิหลังเกี่ยวกับงานสายวิศวกรรมการบินและอวกาศมาก่อน เพราะมันมีหลายสิ่งที่ต้องเข้าใจ” ไมเคิลอธิบาย

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ก็ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในปี 2560 ยอดขายโดรนนั้นพุ่งสูงถึง 3 ล้านลำทั่วโลก และการใช้โดรนในภาคส่วนธุรกิจต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ถึง 500% ในปีเดียวกัน โดยมีจำนวนผู้ใช้โดรนเพิ่มขึ้นกว่า 20% ในแต่ละเดือน ในขณะที่ข้อมูลซึ่งเก็บโดยโดรนนั้นถูกนำมาใช้ในกว่า 180 ประเทศและตามสถานที่ทำงานต่างๆ กว่า 400,000 แห่ง เกษตรกรใช้โดรนในการพ่นปุ๋ยและดูแลพืชผล ขณะที่โรงพยาบาลนั้นใช้โดรนเพื่อขนส่งอวัยวะหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ในกรณีเร่งด่วน เรียกได้ว่าโดรนกำลังกลายเป็นเครื่องมือในชีวิตประจำวันสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยีโดรนได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศเช่นเดียวกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประเมินว่ามีการใช้งานโดรนประมาณ 50,000 ลำทั่วประเทศในช่วงต้นปี 2561 และการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยเองก็ใช้อากาศยานไร้คนขับในการสำรวจความเสียหายของเสาไฟฟ้าอยู่เป็นประจำ

รัฐบาลไทยนั้นให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหาร และวิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้นสะท้อนอยู่ในนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีการระบุถึงบทบาทของโดรน ในภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการใช้โดรนเพื่อพ่นยากำจัดศัตรูพืชในพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่และในพืชที่มีลำต้นสูง เช่น มะพร้าว สตาร์ทอัพสัญชาติไทยอย่าง Bug Away Thailand และ Novy ถือเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าว โดยทั้งคู่ได้ดัดแปลงโดรนที่หาซื้อได้ทั่วไปให้เหมาะสมกับการใช้งานในภาคการเกษตร เพื่อเป็นตัวช่วยในการพ่นปุ๋ยและยากำจัดแมลง “เราพยายามคิดหาวิธีประยุกต์ใช้โดรนให้เกิดประโยชน์สำหรับประเทศไทย เพราะคนส่วนมากยังคงประกอบอาชีพเกษตรกร พวกเขาจึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต” กฤตธัช สาทรานนท์ สมาชิกทีมโนวี่ กล่าวในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Nation หลังทีมของเขาคว้าแชมป์การแข่งขัน UAV Startup 2017 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก่อนที่สมาชิกร่วมทีม วีระชาติ ค้ำคูณ จะเสริมว่า “เกษตรกรอาจต้องใช้เวลาทั้งวันในการพ่นปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงในสวนมะพร้าวพื้นที่ไม่กี่ไร่ด้วยตัวเอง แต่โดรนสามารถทำทั้งหมดได้ภายในเวลา 3 นาที”

เมื่อโนวี่เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและก่อตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นในปี 2561 พวกเขาก็ได้รับคำสั่งซื้อโดรนเพื่อการเกษตร 6 ลำแทบจะในทันที โดยคำสั่งซื้อส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรที่ขายบริการเกี่ยวกับโดรนให้เกษตรกรอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากในปัจจุบัน เทคโนโลยีของพวกเขามีราคาสูง (300,000 บาทต่อลำ) เกินกว่าที่เกษตรกรแต่ละรายจะสามารถเป็นเจ้าของเองได้ นอกจากนี้ ผลงานของทีมโนวี่ยังได้รับความสนใจในวงกว้างขึ้น โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พวกเขาได้คว้ารางวัลผลงานประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต (Life Enhancement) ในโครงการ Thailand Green Design Awards 2018 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เทคโนโลยีโดรนสามารถนำไปไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งนี่เองสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ประกอบการอย่างกฤตธัชและไมเคิล ปัจจุบัน พวกเขากำลังมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการใช้ประโยชน์จากน่านฟ้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเขตแดนที่ปกติสงวนไว้สำหรับอากาศยานมูลค่าหลายร้อยล้านบาทเท่านั้น โดยต้องเป็นไปในแบบที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ “ตอนแอมะซอนประกาศเมื่อ 4 ปีก่อนว่าจะทำโดรนขนส่งสินค้า คนก็สนใจและจินตนาการกันไปต่างๆ นานา ลองนึกภาพดูว่าในอนาคตจะดีแค่ไหน ถ้าคุณสามารถสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันและสิ่งที่คุณสั่งนั้นถูกส่งถึงระเบียงบ้านก่อนที่คุณจะล้างมือเสร็จเสียอีก” ไมเคิลกล่าว ซึ่งความตั้งใจของเขาได้นำไปสู่การร่วมมือระหว่างฟลิงกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ ในการทดลองเปิดการให้บริการโดรนขนส่งสินค้าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เมืองพัทยา โดยเชื่อมร้านขายของชำในท้องถิ่นกับที่พักอาศัยอันหรูหราของแสนสิริ

ความเข้าใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับขอบเขตความสามารถของโดรนนั้น ส่วนใหญ่มาจากสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์ โทรทัศน์ และโฆษณา โดยส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลงานของบริษัทรับถ่ายภาพเคลื่อนไหวมุมสูงอย่าง XM2 ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในช่วงท้ายเครดิตภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ดมาแล้วหลายเรื่อง อาทิ Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest, Pacific Rim: Uprising; Westworld และ Lion บริษัทดังกล่าวก่อตั้งขึ้นในประเทศออสเตรเลีย และต่อมาได้ใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่นที่ประเทศไทยอยู่หลายปี แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะออกกฎหมายควบคุมการใช้โดรนหลายฉบับ แต่ที่นี่ก็ยังถือว่า ‘ให้อิสระ’ อยู่พอสมควรหากเทียบกับประเทศอื่นๆ “การทำงานที่ไทยง่ายกว่าในหลายๆ ประเทศ กฎระเบียบสำหรับงานโปรดักชันนั้นโดยรวมแล้วเข้มงวดน้อยกว่า ทำให้เรามีความยืดหยุ่นมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ดีในยุคสมัยที่เทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว” ลุค แอนเนลส์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร XM2 กล่าว

งานส่วนมากของ XM2 ในประเทศไทยเน้นไปที่การผลิตโฆษณาให้กับแบรนด์หรู ผู้ผลิตรถยนต์ และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นแหล่งรายได้มหาศาลสำหรับบริษัทโดรน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทดีกรีรางวัลอย่าง Panomatics ผู้ให้บริการทัวร์เสมือนจริง 360 องศา รวมทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายมุมสูงสำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรม เช่น Anantara, Marriott Group และ The Peninsula Bangkok โดยพาโนมาติกส์นั้นเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโดรนรายแรกๆ ที่มีอากาศยานไร้คนขับเป็นของตัวเองสำหรับใช้งาน

สำหรับณัชชา เศรษฐีถาวร หนึ่งในผู้จัดการโครงการคนสำคัญของพาโนมาติกส์ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่สำนักงานในพระโขนงนั้น ความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของการถ่ายภาพด้วยโดรนในหมู่ธุรกิจโรงแรมและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นหลักๆ เป็นเพราะความสะดวกสบายและการช่วยให้เข้าถึงมุมมองใหม่ๆ “สมัยก่อน ถ้าจะถ่ายภาพมุมสูง เรามีหนทางเดียวคือใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งคุณจะต้องมีนักบิน แปลว่าช่างภาพมีเวลาจำกัดในอากาศเนื่องด้วยปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ถ้าใช้โดรน คุณสามารถควบคุมมันจากพื้นดินได้ ทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยากเป็นระยะเวลานานกว่า” ณัชชากล่าว ก่อนจะเสริมว่า “ความยืดหยุ่นของเทคโนโลยีโดรนทำให้ลูกค้าเราได้ภาพสวยยิ่งขึ้น และนอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงแรมแล้ว โดรนยังช่วยให้เราสามารถเก็บภาพบรรยากาศรอบๆ โรงแรม ไปจนกระทั่งสาธารณูปโภคที่สำคัญต่างๆ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยวได้”

สำหรับลูกค้าของพาโนมาติกส์ พฤติกรรมการซื้อและตัวเลือกของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนั้น ทำให้เหล่าแบรนด์ต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการยกระดับประสบการณ์ในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากคนยุคมิลเลนเนียลนั้นพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับประสบการณ์ของพวกเขาอยู่เสมอ โดยกว่า 77% นั้นให้ความสนใจในแอปพลิเคชันประเภท Augmented Reality (AR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือน และพาโนมาติกส์ก็ยังคงเป็นผู้นำในการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบรับกับกระแสความสนใจที่เกิดขึ้น “เราอยากสร้างคิวอาร์โค้ดสำหรับทัวร์เสมือนจริงและภาพถ่ายมุมสูงให้กับลูกค้าของเรา คนจะได้สแกนเข้าไปเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา แทนที่จะต้องเข้าไปเลื่อนดูผ่านเว็บไซต์ เราหวังว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งนี้จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เช่นในกรณีเทคโนโลยี AR ซึ่งโรงแรมและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถเอาเนื้อหาของเราไปวางทับเนื้อหาแบรนด์ของตัวเอง เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

เกษตรกรอาจต้องใช้เวลาทั้งวันในการพ่นปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงในสวนมะพร้าวพื้นที่ไม่กี่ไร่ด้วยตัวเอง แต่โดรนสามารถทำทั้งหมดได้ภายในเวลา 3 นาที

การเข้าถึงผู้บริโภคนี่เองเป็นเหตุผลสำคัญที่ขับเคลื่อนความนิยมของโดรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งบรรดานักท่องเที่ยวเริ่มหันมาใช้โดรนแทนไม้เซลฟี่เพื่อถ่ายภาพ ในยามที่เทคโนโลยีโดรนนั้นถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น “8 ปีก่อน บริษัท DJI ขายชุดโดรนแบบประกอบด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนั้นผู้ใช้โดรนมีแต่คนที่เล่นโดรนเป็นงานอดิเรกเท่านั้น แต่ในช่วง 5-6 ปีให้หลัง โดรนมีสถานะไม่ต่างจากไอโฟนไปแล้ว เดี๋ยวนี้มีโดรนรุ่นใหม่ออกมาทุกปี และมีระบบที่ใช้งานง่ายขึ้นและมาพร้อมสารพัดลูกเล่น”

จำนวนผู้ใช้งานโดรนทั่วไปที่เพิ่มขึ้นนั้นถือเป็นงานท้าทายสำหรับภาคส่วนที่มีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงต้องหาสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมโดรนซึ่งสอดรับกับแผนไทยแลนด์ 4.0 และการจัดการกับประเด็นเรื่องความมั่นคงและความเป็นส่วนตัว โดยเมื่อเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้วางกฎระเบียบกว้างๆ สำหรับการใช้โดรนในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสันทนาการ การค้นคว้าวิจัย และเชิงพาณิชย์ ซึ่งรวมถึงการบังคับให้ผู้ครอบครองโดรนต้องนำโดรนทุกตัวมาลงทะเบียนและทำประกันภัยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ไมเคิลมองว่ากฎระเบียบเหล่านี้เป็นมาตรการรับมือกับความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของโดรนอย่างสมเหตุสมผล “การขับโดรนนั้นสนุกและน่าตื่นเต้นมาก แต่ตอนนี้มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ บางคนแค่ได้โดรนมาเป็นของขวัญ จึงไม่แปลกที่จะต้องมีการออกกฎระเบียบเข้มงวดมาควบคุม โดยเฉพาะในยามที่เราไม่มีซอฟต์แวร์ดีๆ มากำกับโดรนว่าพื้นที่ตรงไหนบินได้หรือไม่ได้” เขากล่าว

หากประเทศไทยไม่อยากใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไปเพื่อควบคุมโดรน การลงทุนในซอฟต์แวร์บริหารจัดการจราจรสำหรับอากาศยานไร้คนขับ และการพัฒนาศักยภาพอากาศยานไร้คนขับให้สามารถส่งพิกัดของตัวเองไปยังระบบควบคุมการจราจรทางอากาศนั้นเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ดี วิธีดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เทคโนโลยีที่ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวงโดรนอย่างไมเคิลและณัชชากำลังให้ความสนใจจริงๆ นั้นคือการควบคุมโดรนด้วยอัลกอริธึม ‘ตรวจจับและหลีกเลี่ยง’ ซึ่งปัจจุบันถูกพัฒนาสำหรับใช้ในยานยนต์ไร้คนขับ

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทโดรนชั้นนำทั่วโลกหลายร้อยแห่ง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน และผู้ให้บริการระบบต่างๆ ได้มารวมตัวกัน ณ​ กรุงมาดริดเพื่อเข้าร่วมประชุมประจำปีของ Global Unmanned Traffic Management Association หรือสมาคมการจัดการจราจรของอากาศยานไร้คนขับระดับโลก ในที่ประชุม ไมเคิลได้นำเสนอการคาดการณ์ของเขาในอีก 5 ปีข้างหน้า และเชื่อว่าในอีกไม่ช้า โดรนแต่ละตัวจะถูกติดตั้งเทคโนโลยีหลีกเลี่ยงการชนกันในตัวที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบการควบคุมการจราจรทางอากาศในการจัดการโดรน “มีการพูดคุยกันเยอะมากในงานประชุมเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีในยานยนต์ไร้คนขับมาปรับใช้กับโดรน การแข่งขันที่เข้มข้นในแวดวงยานยนต์ไร้คนขับทำให้ราคาของเทคโนโลยีดังกล่าวลดลงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าอีกไม่นานมันจะถูกนำมาใช้ในโดรน” ไมเคิลกล่าว

การนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโดรนมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองนั้น เป็นอีกประเด็นที่ภาครัฐให้ความสนใจ โดยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางกองทัพอากาศได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเสวนาเรื่อง ‘โดรน/ยูเอวี ในห้วงอากาศ ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยด้านการบิน’ ซึ่งสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของทางรัฐบาล โดยภายในงานมีผู้เข้าร่วมจากกองทัพอากาศ ผู้กำกับดูแลกฎหมาย และสมาชิกในอุตสาหกรรมโดรนอีกหลายร้อยคน ที่มาร่วมอภิปรายถึงอนาคตของอากาศยานไร้คนขับในประเทศไทย “มันง่ายมากที่จะมองว่ากองทัพนั้นหัวโบราณและไม่เปิดกว้างกับนวัตกรรมใหม่ๆ แต่จริงๆ ก็ต้องนับถือรัฐบาลทหารที่นำความน่าเกรงขามตรงนั้นมาใช้เป็นหนทางในการสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมโดรน” ไมเคิลกล่าว

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ใฝ่ฝันจะสร้างโลกในอุดมคติ ภาพอนาคตของไมเคิลนั้น รถยนต์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป ผู้คนจะสัญจรไปมาบนฟ้ามากกว่าบนบก และพื้นที่เบื้องล่างจะถูกสงวนไว้ให้กับจุดประสงค์อื่นๆ แทน ความคิดนี้อาจฟังดูไกลเกินตัวไปมาก หรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย กระนั้น เทคโนโลยีก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของเราโดยที่น้อยคนจะสังเกตเห็น ในยุคก่อนปี 2000 หากเราบอกใครสักคนว่าในอีกทศวรรษข้างหน้า เขาจะมีอุปกรณ์มหัศจรรย์ที่สามารถตอบแทบทุกคำถามได้พกใส่กระเป๋าไปทุกที่ ทุกคนคงจะคิดว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่นั่นก็คือสิ่งที่สมาร์ทโฟนสามารถทำได้ในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกัน อนาคตของโดรนก็อาจก้าวล้ำไปในแบบที่น้อยคนจะคาดคิด ในวันนี้มันอาจมีบทบาทเพียงเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรสวนมะพร้าว ทำหน้าที่ขนส่งสินค้า และถ่ายภาพมุมสูง แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่แน่ว่าวิสัยทัศน์ของไมเคิลอาจเข้าไปใกล้ความจริงกว่าที่เราคาดคิด