HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

FULL FLAVOURS


Keep the Pot Boiling

ท่ามกลางมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน ธุรกิจอาหารหม้อไฟอย่าง ‘ชาบู’ ยังคงอยู่รอดผ่านนวัตกรรมอันเรียบง่าย ทว่ามีประสิทธิภาพ

ภายในร้านอาหารที่ระงมด้วยเสียงหัวเราะและการแย่งกันคุย กลุ่มเพื่อนและครอบครัวกำลังนั่งล้อมรอบหม้อซุปดาชิเดือดปุด จานเนื้อสไลซ์แผ่นบาง และกองผักสดที่ตั้งเคียงอยู่กับน้ำจิ้มพอนซึและงาบด เพื่อรวมรับประทานอาหารหม้อไฟยอดฮิตที่เรียกติดปากกันว่า ‘ชาบู’

ผู้ชื่นชอบบรรยากาศแบบนี้เป็นหนี้บุญคุณร้าน Suehiro ร้านอาหารเล็กๆ ในเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดชาบูแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ย้อนกลับไปเมื่อปี 1952 คำว่าชาบูถูกนำมาตั้งเป็นชื่ออาหาร จากเสียงตอนที่เนื้อชิ้นบางๆ ถูกคนไปมาในน้ำซุปสาหร่าย จากนั้นเป็นต้นมา วัฒนธรรมหม้อไฟก็แพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่น จีน เกาหลี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคนกรุงเทพฯ ได้มีร้านชาบูสไตล์ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี 1995 เมื่อร้าน Akiyoshi เปิดสาขาแรกที่พระโขนง

แน่นอนว่าชาบูได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในกรุงเทพ แต่ประสบการณ์ชาบูมีมากกว่าความอร่อย หัวใจสำคัญของวัฒนธรรมหม้อไฟคือมิตรภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนร่วมงาน เพื่อน หรือสมาชิกครอบครัวที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องราวขณะนั่งล้อมหม้อซุปอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ถึงจุดสูงสุด ความสนิทสนมเป็นกันเองนี้ต้องถูกระงับไป เนื่องจากกิจกรรมกลุ่มถูกจำกัดด้วยมาตรการรักษาระยะห่างและสุขอนามัย ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทันทีที่มีการเปิดเมือง ผู้คนที่เคยกักตัวอยู่บ้านต่างก็ระดมโพสต์ลงโซเชียลมีเดียถึงอาหารมื้อพิเศษอย่างหมูกระทะ ชาบู หรือบุฟเฟต์จานร้อนที่รับประทานร่วมกันเป็นกลุ่ม ราวกับอัดอั้นมาแสนนาน

‘ต่อ’ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านหม้อไฟ Penguin Eat Shabu ซึ่งเปิดสาขาแรกที่ย่านสะพานควายเมื่อปี 2014 และขยายสาขาไปทั่วกรุงเทพฯ กล่าวว่า “ชาบูให้ความรู้สึกที่ต่างจากมื้ออาหารทั่วไป เพราะคุณสามารถทานอาหารอร่อยๆ ขณะพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อน วัฒนธรรมไทยมีการเข้าสังคมอยู่มาก ทำให้เราชอบกินบุฟเฟต์และชอบใช้เวลากับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นหมูกระทะหรือปิ้งย่างเกาหลี”

เพนกวิ้น อีท ชาบู เป็นที่รู้จักจากการวางฉากพลาสติกบนโต๊ะให้เป็นรูปร่างคล้ายตัว S ที่มีช่องกว้างเท่าๆ กันอยู่แต่ละฝั่ง เพื่อให้ผู้คนสามารถมาทานชาบูเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยยังรู้สึกว่าได้เข้าสังคมอยู่

เพนกวิน อีท ชาบู ปรับตัวเข้ากับนิวนอร์มัลได้โดยเร็ว ทางร้านเป็นที่รู้จักจากการจัดร้านแบบ “ชาบูกั้นคอก” โดยวางฉากพลาสติกบนโต๊ะให้เป็นรูปร่างคล้ายตัว S ที่มีช่องกว้างเท่าๆ กันอยู่แต่ละฝั่งสำหรับหม้อไฟขนาดหนึ่งคน เพื่อให้ผู้คนสามารถมาทานชาบูเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยยังรักษาระยะห่างและยังรู้สึกว่าได้เข้าสังคมอยู่ นวัตกรรมแสนประหยัด แต่ได้ผลชะงัดของเขาดังไปไกลถึงขนาดถูกอ้างอิงในหนังสือพิมพ์ลอส แองเจลีส ไทม์ส

“เราคิดว่าการนั่งทานคนเดียวนั้นลำบากและทำให้ลูกค้าไม่มีความสุข เราเลยเปิดตัวหม้อชาบูขนาดเล็กสำหรับมารับประทานเป็นกลุ่มโดยแยกหม้อกัน จากนั้นเราก็ตั้งฉากพลาสติกกั้นเพื่อให้ลูกค้าสองท่านนั่งโต๊ะเดียวกันได้โดยไม่ผิดกฎของรัฐบาล และเสริมด้วยมาตรการความปลอดภัยง่ายๆ เช่นให้ลูกค้าจองล่วงหน้าและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยขึ้นระหว่างวัน” ต่ออธิบาย

การจัดการรูปแบบนี้ไม่เพียงเป็นที่ฮือฮาในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ทางร้านยังได้รับการตอบรับที่ดีอีกด้วย ต่อบอกว่าเพนกวิน อีท ชาบู สาขาต่างๆ มีคนเต็มตลอดตั้งแต่กลับมาเปิด

นี่คือการแก้ปัญหาที่ง่ายแต่ได้ผลสำหรับช่วงที่ร้านอาหารพยายามสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันก็รักษาประสบการณ์มื้ออาหารที่ดีในแบบของตัวเอง ฉากพลาสติกแบบธรรมดาอาจกั้นกลางโต๊ะได้พอดิบพอดีโดยไม่ยุ่งยาก และใช้ได้กับร้านราเม็งหรือร้านอาหารซึ่งไม่มีการแบ่งอาหารระหว่างคนในโต๊ะ แต่สำหรับร้านชาบู สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้ ลูกค้าจะมีความสุขกับการรับประทานอาหารร่วมกันที่เป็นหัวใจของชาบูได้อย่างไรหากมีฉากกั้นในตำแหน่งที่หม้อควรอยู่ คำตอบคือฉากรูปตัว S ง่ายๆ ของต่อนี้เอง

สิ่งที่ต่อได้ทำเป็นมากกว่าเพียงการฟื้นฟูธุรกิจได้รวดเร็วกว่าร้านอื่น แต่คือการแสดงให้เห็นว่าโจทย์ยากแค่ไหนก็หาทางออกได้ หากอาศัยความช่างคิด และการเปิดให้กับความเป็นไปได้โดยไม่ยึดติดอยู่กับกรอบเดิม

Essentials


Penguin Eat Shabu

098-919-2632 (สะพานควาย)

094-942-9462 (ราชพฤกษ์)

098-982-9989 (เทอร์มินัล 21)

fb.com/penguineatshabu