HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

FULL FLAVOURS


Sweet Memories

ขณะที่ขนมพื้นบ้านของไทยในท้องตลาดนั้นกำลังค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยขนมภาคกลาง คนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งก็พยายามรักษาภูมิปัญญาโบราณซึ่งยึดโยงกับชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อนี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้สนใจว่าข้าวขาวแต่ละสายพันธุ์นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งที่มา วิธีการดูแลรักษา ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว หรือความเหนียวนุ่มหรือแข็งร่วนของเมล็ดข้าว น้อยคนที่ซื้อข้าวสารตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือออกไปรับประทานอาหารที่ร้านจะตั้งคำถามเหล่านี้ แต่นี่เองเป็นสิ่งที่ศิวิไล จิตรเจริญ ในวัย 36 ปี ผู้ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราชโดยกำเนิด นั้นเฝ้าคิดทบทวนอยู่ตลอดเวลา เนื่องด้วยชีวิตของเธอนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องนี้เลยทีเดียว

ถาวร กาญจนตุลย์ วัย 60 ปี แม่ของศิวิไลถือเป็นนักทำขนมระดับตำนานของอำเภอปากพนัง เธอถ่ายทอดภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตลอดชีวิตให้กับศิวิไล ผู้เป็นลูกสาว จนทำให้ศิวิไลกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญอีกรายในการทำขนมลา ขนมหวานโบราณที่นิยมกันในแถบภาคใต้ของไทย และมีวิธีทำเรียบง่าย โดยใช้เพียงแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาลจาก แน่นอน ขนมลาไม่ใช่ขนมหายาก ในนครศรีธรรมราชยังมีร้านขนมลาอยู่หลายเจ้า แต่ร้านของศิวิไลคือเจ้าเดียวที่ลูกค้าต้องรอสั่งซื้อกันข้ามปี คนในท้องถิ่นกล่าวว่าขนมลาของศิวิไลนั้น “นุ่มราวกับผ้าไหม” ทั้งนี้เพราะเธอพิถีพิถันกับเมล็ดข้าวที่เธอเลือกใช้เป็นอย่างมาก

ปุ๋ยเคมีทำให้ข้าวแข็งเกินไป เอามาทำแป้ง ทำขนมไม่ได้ ลูกค้าชอบขนมลาของเราเพราะมีเส้นใยที่ละเอียด ซึ่งข้าวที่ผลิตในปริมาณมากจะไม่มีคุณสมบัติแบบนี้

ศิวิไลและถาวรเป็นเจ้าของนาข้าวออร์แกนิกแปลงเล็กๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำปากพนัง ซึ่งในอดีตเคยถูกน้ำเค็มทะลักขึ้นมาส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ทั้งหมด สองแม่ลูกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง ‘ลูกลาย’ โดยไม่ใส่ปุ๋ยเคมีแม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ ข้าวที่เธอปลูกจึงให้ผลผลิตต่ำและไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่นั่นก็เป็นข้อจำกัดที่ศิวิไลต้องรับมือให้ได้ เพราะข้าวที่ปลูกในปริมาณมากจากเกษตรกรรายอื่นๆ ในภูมิภาคนั้นไม่สามารถทดแทนกันได้ “ที่ผ่านมา เราต้องทิ้งข้าวไปเป็นร้อยกิโลเพราะคนอื่นเขาปลูกด้วยปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีทำให้ข้าวแข็งเกินไป เอามาทำแป้งทำขนมไม่ได้ ลูกค้าชอบขนมลาของเราเพราะมีเส้นใยที่ละเอียด ซึ่งข้าวที่ผลิตในปริมาณมากจะไม่มีคุณสมบัติแบบนี้” ศิวิไลกล่าวถึงวิธีการคัดเลือกข้าว และปัญหาที่เธอต้องประสบเมื่อซื้อข้าวจากเกษตรกรรายอื่นๆ

กระบวนการผสมและโม่ข้าวให้ได้เป็นแป้งข้าวเจ้าเนื้อเนียนละเอียดนั้นกินระยะเวลาถึง 4 วัน โดยนอกจากการบดเมล็ดข้าวเจ้าในเครื่องโม่แป้งไฟฟ้าแล้ว ศิวิไลยังคงใช้วิธีการดั้งเดิมแบบเดียวกับเมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยหลังจากแช่เมล็ดข้าวที่เก็บเกี่ยวได้เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง เธอจะนำข้าวที่ได้มาบ่มกับใบของต้นคุระ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่พบมากในแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช และคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ชอบเพราะผลมีกลิ่นฉุน แต่สารในใบคุระนั้นมีคุณสมบัติช่วยให้ข้าวเปื่อยเร็ว กระบวนการบ่มจะใช้ระยะเวลา 2 วัน เมื่อเมล็ดข้าวเริ่มเปื่อยยุ่ย เธอจะนำข้าวมาโม่ด้วยเครื่องจักรให้ละเอียดพร้อมผสมแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อย แล้วจึงนำไปละลายน้ำและกรองผ่านผ้า 3 รอบ จากนั้น ศิวิไลจะมัดเนื้อแป้งเป็นก้อนกลมๆ ด้วยผ้าขาวม้า ใส่ที่รีดน้ำเพื่อไล่น้ำออกให้มากที่สุด และห้อยไว้ตรงใต้ถุนบ้านข้ามคืนเพื่อตากแห้ง โดยเธอจะต้องนำขวดแก้วมาตีถุงแป้งเพื่อไล่น้ำที่เหลือให้หมดทันฟ้าสาง

ขนมไทยนั้นมีความหลากหลายมากกว่าที่ปรากฏให้เห็นในสำรับอาหารชาววัง และอาจไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ขนมไทยมีแขนงใหญ่อยู่ที่ครอบครัวสามัญชน

เมื่อเช้าอีกวันมาถึง ศิวิไลจะเริ่มลงมือทำขนมพื้นเมืองของชาวปากพนังนี้ ด้วยการผสมแป้งข้าวเจ้าสูตรเฉพาะของเธอกับน้ำตาลจาก น้ำตาลเจือรสเค็มเอกลักษณ์ อันเป็นผลพวงของน้ำกร่อยในแม่น้ำปากพนัง เมื่อกวนวัตถุดิบทั้ง 2 เข้าด้วยกันแล้ว เธอจะค่อยๆ ตักแป้งใส่กระป๋องที่เจาะเป็นรูถี่ด้านใน เพื่อให้แป้งไหลออกมาเป็นสายเล็กๆ ลงบนกระทะใบใหญ่ที่กำลังร้อนและฉาบไว้ด้วยไข่แดง อันเป็นภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นเพื่อป้องกันแป้งติดกระทะ ในขั้นตอนสุดท้าย ศิวิไลจะบรรจงถักทอเส้นแป้งกอดเกี่ยวกันเป็นวงจนครบรอบ ในลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ลายคล้องหงษ์’ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือขนมลาเนื้อเนียนนุ่มราวกับผ้าไหมสมคำร่ำลือ

กระบวนการดังกล่าวนับเป็นงานหนัก แต่นี่ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของประเพณีการทำขนมโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายทศวรรษ และเป็นสาเหตุที่ชาวบ้านในปากพนังนั้นชื่นชมถาวรและศิวิไล กระนั้น นอกจากร้านอาหารในกรุงเทพฯ เพียงร้านเดียวที่สั่งขนมลาจากศิวิไลมาเสิร์ฟในร้านแล้ว คนไทยในภาคอื่นๆ น้อยคนนักจะรู้จักหรือคุ้นเคยกับขนมชนิดดังกล่าว แม้ทุกวันนี้จะมีชาวนครศรีธรรมราชจำนวนมากขึ้นหันมาทำขนมลาพร้อมปรับสูตรให้เข้ากับวัตถุดิบสมัยใหม่ จนกลายเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับชุมชนและสามารถทำขายได้ตลอดทั้งปี แต่ประเพณีการทำขนมโบราณอีกหลายชนิดกลับไม่ได้โชคดีแบบนี้ เนื่องด้วยหลายครั้งมักขาดแคลนคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นจะสืบทอดประเพณีและสร้างอาชีพจากภูมิปัญญาดังกล่าว ทำให้ประเพณีบางส่วนเริ่มสูญหายไปกับกาลเวลา

หากได้มีโอกาสเดินเล่นตามตลาดนัดหรือถนนคนเดิน เราจะเห็นขนมไทยภาคกลางขายกันดาษดื่นแทนขนมหวานพื้นเมืองของทางภาคเหนือ ส่วนขนมพื้นเมืองที่มีขายก็มักจะเป็นชนิดที่ทำได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี การขาดแคลนผู้สืบทอดนั้นอาจไม่ใช่เหตุผลเดียว ขนมไทยยังเป็นที่เข้าใจผิดในสังคมสมัยใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ข้อมูลเกี่ยวกับขนมไทยในเอกสาร สารานุกรม และเว็บไซต์ต่างๆ มักมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน คือตำรับขนมที่คิดค้นโดยต้นเครื่องในวัง ขณะที่บันทึกของชาวต่างชาติเกี่ยวกับขนมไทยก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์นัก โดยนักสำรวจชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงพ.ศ. 2000 เป็นต้นไป เช่น ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ นักการทูตชาวฝรั่งเศส หรือเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘วันวลิต’) พ่อค้าแห่งบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมขนมของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาน้อยมาก จนถึงขั้นทึกทักว่าชาวกรุงศรีอยุธยานั้นไม่รับประทานของหวาน “ในบันทึกของเยเรเมียสฟาน ฟลีต มีอยู่ช่วงตอนหนึ่งที่บรรยายไว้ว่าคนไทยในสมัยนั้นไม่ได้กินของหวานบ่อยนัก”ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา ผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยา แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบรรณาธิการหนังสือ ‘สำรับอาหารไทยจากบ้านสู่วัง’ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับมรดกด้านอาหารของไทย กล่าว

ในความเป็นจริงแล้ว คนไทยนั้นชื่นชอบการรับประทานของหวานยิ่งยวด “จริงๆ แล้วเรามีขนมเยอะ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของบ้านเราไม่ได้พูดถึงขนมเท่าไร เพราะในยุคนั้นคนไทยไม่ได้ใส่ใจเรื่องอาหาร เราอุดมสมบูรณ์มากจนไม่รู้สึกขาด ข้าวหว่านก็ขึ้น ในน้ำก็มีปลา สวนผลไม้ก็มีมาก ฝรั่งถึงเขียนว่าเรากินแต่ผลไม้ แต่หลังจากกรุงแตก เราปลูกข้าวไม่ขึ้น ต้องประสบภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก พอตั้งราชธานีใหม่คือกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ เลยมีการทำบันทึกเกี่ยวกับอาหารเต็มไปหมด เพราะเราเริ่มกลัวและอยากรักษาอาหารของเราไว้” ศาสตราจารย์สุกัญญาอธิบายข้อสันนิษฐานให้ฟัง

ขนมไทยนั้นมีความหลากหลายมากกว่าที่ปรากฏให้เห็นในสำรับอาหารชาววัง และอาจไม่ผิดหากจะกล่าวว่าขนมไทยมีแขนงใหญ่อยู่ที่ครอบครัวสามัญชน ดังจะเห็นได้จากขนมอย่างข้าวต้มมัด หรือขนมจาก (แป้งข้าวเหนียวคลุกมะพร้าวฉีก นำไปห่อใบจากแล้วย่าง) อันเป็นขนมไทยพื้นบ้านที่มักเน้นรสชาติของวัตถุดิบไม่กี่ชนิด และได้รับการเตรียมขึ้นอย่างง่ายๆ ทว่าพิถีพิถัน ตั้งแต่ภาคเหนือจรดใต้ การทำขนมหวานมักมีวิธีปฏิบัติหลายอย่างคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก หรือการนำไปห่อด้วยใบไม้ แต่ก็สอดแทรกรายละเอียดเฉพาะตัวอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นไม่ต่างจากขนมญี่ปุ่น “ขนมหวานพื้นบ้านของไทยเรานั้นเรียบง่าย เพราะทุกอย่างมาจากธรรมชาติ แป้งข้าวเจ้าเป็นสิ่งที่หาได้ทั่วไปในประเทศ เพราะคนไทยเราปลูกข้าวเป็นอาหาร ขนมส่วนใหญ่จึงใช้แป้งข้าวเจ้าเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนไส้หรือการปรุงรสนั้น ผู้คนในแต่ละภาคจะใช้วัตถุดิบที่หาได้รอบตัว เช่น งาหรืออ้อยในภาคเหนือ หรือมะพร้าวกับน้ำตาลปึกในภาคกลางและภาคใต้” ศาสตราจารย์สุกัญญาอธิบาย

ในหลายๆ ท้องถิ่น ขนมพื้นบ้านมักมีบทบาทสำคัญและได้รับการสืบทอดสู่คนรุ่นหลังในพิธีกรรมทางความเชื่อ นับตั้งแต่งานบุญใหญ่ งานบวช ไปจนถึงงานแต่ง อย่างในช่วงเดือนสิบตามปฎิทินจันทรคติ (ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน) นั้นจะมีประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นงานเฉลิมฉลองของชาวพุทธที่ลูกหลานในครอบครัวจะมารวมตัวกันเพื่อบำเพ็ญกุศลให้กับบรรพบุรุษ และขอโชคลาภและบุญกุศลให้กับญาติคนเป็น ประเพณีสารทเดือนสิบนั้นเป็นช่วงเวลาของการทำบุญและพบปะสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งเป็นช่วงเวลาสำหรับการเพลิดเพลินกับรสชาติขนมหวานท้องถิ่นด้วย

จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นมีการจัดงานเฉลิมฉลองประเพณีสารทเดือนสิบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ โดยปกติแล้ว ชาวใต้เรียกเทศกาลนี้ว่าเทศกาล ‘ชิงเปรต’ เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่าเปรตจากนรก รวมถึงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ จะขึ้นมากินเครื่องเซ่นบนโลกมนุษย์ได้ปีละครั้ง เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องเซ่นส่วนใหญ่มักเป็นขนมหวาน

ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ นั้นทำกระยาสารท ซึ่งเป็นขนมหวานที่ทำจากข้าว ถั่วลิสง งา และน้ำตาล เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษและภูติผีในช่วงเทศกาลดังกล่าว ชาวนครศรีธรรมราชกลับทำขนมหวานพื้นเมืองถึง 5 อย่างประกอบกันเป็นสำรับที่เรียกว่า ‘หมฺรับ’ ในภาษาใต้ ขนมทอดแต่ละชนิดล้วนมีความหมายต่างกันออกไปเพื่อแทนสิ่งของที่ผีบรรพบุรุษจะนำติดตัวไปใช้ในยมโลก อย่างขนม ‘ดีซำ’ ขนมรูปร่างเหมือนโดนัททอดทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาลปึกนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ยไว้สำหรับใช้สอย ‘ขนมกง’ ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวและถั่วบดผสมกันใช้แทนเครื่องประดับ ส่วน ‘ขนมบ้า’ ที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมมันเทศเป็นเครื่องหมายแทนลูกสะบ้า อันเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ผู้ล่วงลับใช้เดาะเล่นสร้างความสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมี ‘ขนมพอง’ ซึ่งทำจากข้าวเหนียวแผ่เป็นแผ่นแล้วนำไปตากแดดให้แห้งและทอด เพื่อใช้แทนแพให้ผู้วายชนม์ได้นั่งข้ามห้วงมหรรณพ

ขนมหวานชนิดสุดท้ายที่มีความประณีตกว่าชนิดอื่นๆ ในหมฺรับคือขนมลา ขนมขึ้นชื่อของศิวิไล หลังจากสามารถคว้าปริญญาในสาขามานุษยวิทยา ศิวิไลซึ่งเคยทำงานตามร้านสะดวกซื้ออยู่หลายปี ก็ตัดสินใจเดินทางกลับมายังบ้านในปากพนัง และปัจจุบันได้มีส่วนร่วมในการทำขนมลาสำหรับเทศกาลสารทเดือนสิบเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยมีสามี แม่ และน้าของเธอเป็นลูกมือช่วยทำทั้งหมด 4 แรง จึงจะเสร็จทันตามออร์เดอร์ที่ถาโถมเข้ามาในช่วงระยะเวลาแค่ 3 เดือน

หากเป็นสมัยก่อน การเร่งมือทำขนมทั้ง 5 ชนิดเพื่อให้ทันงานสารทเดือนสิบนั้น เป็นมหกรรมที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งหมู่บ้าน โดยเฉพาะที่ปากพนัง แต่นี่ก็ถือเป็นงานหนักที่ชวนให้อิ่มเอมใจ เช่นเดียวกับกฤตนันท์ นาคะพรหม ชาวปากพนังวัย 64 ปี ที่แม้จะพาครอบครัวย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ แล้ว แต่ก็ยังจดจำช่วงเวลาดีๆ สมัยเป็นเด็กที่ต้องช่วยทำขนมลาร่วมกับชาวบ้านคนอื่นๆ ก่อนเทศกาลจะเริ่มได้เป็นอย่างดี “ทางเดียวที่จะทำขนมพวกนี้ให้เสร็จทันคือทุกคนต้องสามัคคีกัน​ แต่ละบ้านจะได้รับมอบหมายให้จัดหาส่วนผสมต่างกันไป เช่นบ้านนี้ไปหาน้ำตาลจาก อีกบ้านไปเตรียมน้ำมันมะพร้าว ผมจำได้ว่าเหนื่อยมากตอนที่แม่บอกให้ไปเตรียมน้ำมันมะพร้าว ผมต้องไปเก็บมะพร้าว 20 ลูก ปอกเปลือก ขูดกะทิ แล้วเอากะทิไปเคี่ยวทำน้ำมันอีกที ทำเสร็จแล้วผมถึงกับจับไข้นอนซมไปเลย ที่ทำไปทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะได้น้ำมันมาทอดขนม แต่มันก็คุ้มค่า ผมจำได้สมัยเด็กๆ ว่าชอบที่สุดคือตอนที่ได้ถือไม้เดินตระเวนไปตามเตาทอด เพื่อรอชิมขนมลาผสมไข่ เพราะคนทำจะต้องทาไข่บนกระทะเป็นระยะๆ ไม่ให้แป้งติดกระทะ สำหรับผมนั่นคือขนมลาที่อร่อยที่สุด” กฤตนันท์เล่า

เมื่อถูกถามว่าทำไมคนนครศรีธรรมราชถึงได้มีความเชื่อว่าบรรพบุรุษจะตกนรกแทนที่จะขึ้นสวรรค์ กฤตนันท์ตอบทันทีว่า “เพราะเราชาวพุทธเชื่อว่าบรรพบุรุษเราเป็นมนุษย์ ก็ต้องมีโอกาสทำผิดพลาด ทำบาปในตอนที่ยังมีชีวิต เมื่อตายไปก็ต้องชดใช้กรรมในนรกก่อนถึงค่อยขึ้นสวรรค์ ขนมไหว้เหล่านี้เลยเปรียบเสมือนตัวแทนผ่อนหนักเป็นเบาให้วิญญาณบรรพบุรุษไม่ลำบากมากตอนไปชดใช้กรรม ไม่ว่าจะตกไปอยู่ในภพภูมิไหน”

ความผูกพันของกฤตนันท์ที่มีต่อประสบการณ์ที่บ้านเกิดยังตกทอดมาถึงครอบครัว เมื่อณัฐกมล นาคะพรหม ลูกสาวของเขาได้เปิดร้านอาหารใต้ชื่อ Din Din Thai Cuisine ในย่านแจ้งวัฒนะเพื่อนำเสนออาหารพื้นบ้านจากปากพนัง เธอจึงตั้งใจเพิ่มขนมลาเข้าไปในเมนูของหวานด้วย และเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับเมนูของหวานดังกล่าว เธอได้นำเอาขนมลาทับ ซึ่งเป็นขนมลาแบบที่ทาด้วยน้ำตาลจากแล้วม้วนเป็นแท่งกลม ลักษณะคล้ายทองม้วน เพื่อให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น มาเสิร์ฟบนไอศกรีมมะพร้าวผสมดอกอัญชัน ซึ่งแน่นอนว่าณัฐกมลและกฤตนันท์สั่งซื้อขนมลาจากร้านของศิวิไล “รสชาติและความละเอียดของเส้นขนมลาร้านนี้ไม่มีใครสู้ได้เลย” กฤตนันท์กล่าว

ขนมลารสหวานกำลังดีและสัมผัสนุ่มละมุนนี้เป็นผลลัพธ์ของหยาดเหงื่อและการฝึกฝีมืออยู่หลายสิบปี ซึ่งนับเป็นสิ่งทรงคุณค่าที่หาได้ยากขึ้นทุกวัน ทั้งที่นครศรีธรรมราชเองและในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น หากได้มีโอกาสเดินเล่นตามตลาดนัดหรือถนนคนเดิน เราจะเห็นขนมไทยภาคกลางขายกันดาษดื่นแทนขนมหวานพื้นเมืองของทางภาคเหนือ ส่วนขนมพื้นเมืองที่มีขายก็มักจะเป็นชนิดที่ทำได้ไม่ยาก เช่น ขนมหัวหงอก ขนมจ็อก หรือข้าวหนุกงา ซึ่งอย่างหลังนั้นมีให้เห็นเฉพาะช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเหนียวและยามที่เมล็ดงาขี้ม่อนยังสดอยู่เท่านั้น

สถานการณ์ที่นครศรีธรรมราชและสงขลาเองก็แทบไม่ต่างกัน โดยขนมหวานจากภาคกลางกำลังค่อยๆ เข้ามาแทนที่ขนมพื้นเมือง กระนั้น ความหวังก็ยังไม่ริบหรี่ เพราะในตลาดย้อนยุคยังคงมีขนมท้องถิ่นอย่างขนมกวนขี้มัน ขนมตาบด ขนมหน้านวล ขนมขี้หมา ขนมหัวล้าน ขนมละดู ขนมบอก และขนมคนที วางจำหน่ายเป็นบางโอกาส ซึ่งเชื่อได้ว่านักทำขนมเหล่านี้ก็เหมือนกับศิวิไลที่ตั้งใจจะสืบทอดประเพณีเก่าแก่ของครอบครัว พวกเขาไม่ได้หวังเงินทองหรือชื่อเสียง ดูเหมือนสิ่งที่จะทำให้ขนมท้องถิ่นดำรงอยู่ได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงคนซื้อ แต่คือการทำให้คนทำขนมนั้นตกหลุมรักขนมที่ตัวเองทำ และพร้อมที่จะทำขาย “เราแค่รักการทำขนม เราดูแม่ทำขนมมาตั้งแต่ยังเล็ก เลยได้ซึมซับความรักในการทำขนมมาด้วย ที่จริงเราก็ชอบหัดทำขนมหายากอื่นๆ ตามวิดีโอในยูทูบด้วยเหมือนกัน แต่มันออกมาไม่ค่อยอร่อยเท่าไร สูตรขนมลาของที่บ้านนั้นสืบทอดมาจากรุ่นทวดสู่แม่และเรา เครื่องไม้เครื่องมืออาจจะมีเปลี่ยนไปบ้าง แต่เราก็มุ่งมั่นจะทำตามวิถีแบบเดิมไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังสามารถทำได้”  ศิวิไลกล่าว ก่อนจะเสริมว่า “พอหมดเทศกาลก็ไม่มีคนสั่งแล้ว เราเองก็ไม่มีข้าวเหลือจะมาทำแป้งด้วย ก็ต้องรอปีหน้าโน่นแหละถึงจะทำใหม่ ตอนนี้เราก็กลับไปทำนาทำไร่ต่อ”

ดูเหมือนว่า รายชื่อของคนที่รอต่อคิวสั่งขนมลาจากเธอและแม่ที่ยาวขึ้นทุกวัน อาจส่งสัญญาณเล็กๆ ที่น่าชื่นใจว่า แม้จะเป็นแค่เวลาไม่กี่เดือนในแต่ละปีก่อนถึงเทศกาล แต่ประเพณีการทำขนมโบราณนี้จะยังคงยืนหยัดไปอย่างน้อยก็อีกชั่วระยะหนึ่ง

Essentials


ร้านขนมลาของถาวรและศิวิไล

9/1 หมู่ 5 ต.บ้านเพิง อ.ปากพนัง นครศรีธรรมราช

083-873-9464

Din Din Thai Cuisine

ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด นนทบุรี

098-375-8269

fb.com/dindinthaicuisine