SECTION
ABOUTFULL FLAVOURS
Timeless Rendezvous
ร้านกาแฟ ‘เอ็กเต็งผู่กี่’ จุดนัดพบขวัญใจเหล่าอากงและฮิปสเตอร์ประจำย่านเยาวราช กับการปรับโฉมครั้งใหญ่ในรอบร้อยปีที่ผสมผสานความเก่าและใหม่อย่างสมดุล
ร้าน ‘เอ็กเต็งผู่กี่’ นั้นยืนหยัดเคียงคู่ย่านเยาวราชมากว่า 101 ปี โดยที่ผ่านมานั้นเปิดประตูต้อนรับลูกค้าแม้ในช่วงที่บ้านเมืองต้องเผชิญกับศึกสงคราม เมื่อทางร้านย้ายที่ตั้งจากถนนเยาวพานิชมายังถนนพาดสายเมื่อราว 50 ปีก่อน ก็ยังมีลูกค้าขาประจำแวะเวียนมาไม่ขาดสาย และยังคงเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งเกิดวิกฤตโรคระบาดในปี 2563 ซึ่งทำให้สภากาแฟแห่งนี้เกือบต้องปิดตัวลง “ลูกค้าขาประจำของเราบางคนเสียชีวิต หรือไม่สามารถออกจากบ้านได้เพราะสถานการณ์โรคระบาด ยอดขายเราตกลงกว่า 80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า” ธนโชติ สิงคิลวิทย์ ในวัย 21 ปี กล่าว เขาคือทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านเอ็กเต็งผู่กี่
ในเยาวราช ธุรกิจครอบครัวเก่าแก่ในลักษณะเดียวกับร้านเอ็กเต็งผู่กี่ ซึ่งได้รับสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น กำลังล้มหายตายจากไปทีละน้อย โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองที่ขาดประสิทธิภาพ การเปิดตัวของรถไฟฟ้าเส้นใหม่ๆ และมูลค่าของที่ดินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้โครงการยักษ์ใหญ่ อาทิ โครงการมิกซ์ยูส ค่อยๆ เข้ามาแทนที่ร้านรวงเก่าแก่อันเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคนเก่าแก่ในย่าน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือร้านค้าขนาดเล็ก ทั้งนี้ เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ อาจารย์ด้านวัฒนธรรมและประเพณี ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The New York Times ในประเด็นดังกล่าว ไว้เมื่อช่วงปีก่อน โดยเขาเชื่อว่าอาคารเก่าในพื้นที่เยาวราชนั้นลดจำนวนลงไปราว 10-20%
ลูกค้าเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวเรา และเราเองก็เป็นเหมือนครอบครัวสำหรับลูกค้าด้วยเช่นกัน
ดูเหมือนว่าร้านเอ็กเต็งผู่กี่เองก็อยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่ต่างกัน จนกระทั่งธนโชติและพี่ชายของเขาจับมือกันเป็นหัวหอกในการปรับโฉมร้านครั้งใหญ่ในรอบร้อยปี หลังการบูรณะซึ่งกินเวลากว่าครึ่งปี พวกเขาได้เปลี่ยนร้านหน้าตาซอมซ่อให้กลายเป็นจุดเช็คอินและถ่ายภาพยอดนิยมของชาวกรุง กระนั้น การตกแต่งภายในร้านนั้นก็ยังคงรักษากลิ่นอายของวันวานไว้แทบทุกกระเบียด สองฟากผนังร้านปูด้วยกระเบื้องสีเขียวหยกและภาพวาดสไตล์จีนขนาดใหญ่ โคมเต็งลั้งสีแดงแขวนเด่นอยู่หน้าร้าน เข้ากันกับโต๊ะข้าวมันไก่และเก้าอี้ไม้ที่ตั้งเรียงราย และแผ่นป้ายไม้ขนาดใหญ่ซึ่งไล่เรียงสารพัดเมนูของร้านไว้ สองพี่น้องในวัยยี่สิบกว่ายังได้เปลี่ยนพื้นที่ชั้นสองของร้านให้เป็นค็อกเทลบาร์กะทัดรัด ซึ่งเสิร์ฟเครื่องดื่มตั้งแต่หนึ่งทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืน กระนั้น ท่ามกลางคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ร้านเอ็กเต็งผู่กี่ก็ยังคงเป็นแหล่งรวมตัวของลูกค้ารุ่นเก๋าที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนไหหลำและจีนแต้จิ๋ว โดยลูกค้าขาประจำเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเลือกนั่งตรงโต๊ะหน้าร้าน เพื่อหลีกทางให้คนหนุ่มสาวได้จับจองพื้นที่ภายในร้านอย่างเต็มที่
การปรับโฉมครั้งใหญ่นี้ทำให้ร้านเอ็กเต็งผู่กี่กลายเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดีย คนรุ่นใหม่ในชุดกี่เพ้าแวะเวียนมาจิบโอเลี้ยงโบราณและเก็บภาพสวยๆ โดยมีแบ๊กกราวนด์เป็นของตกแต่งที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมจีน สร้างความคึกคักให้กับถนนพาดสาย ทางร้านยังได้ออกเมนูใหม่ๆ อาทิ ติ่มซำสูตรอาม่าของธนโชติและธนวัฒน์ ชาและกาแฟเย็นบรรจุขวดรูปลักษณ์ทันสมัย ราคาขวดละ 60 บาท ซึ่งมาพร้อมกับบริการเดลิเวอรี และสารพัดขนมยอดนิยมอย่างครัวซองต์และเค้กชนิดต่างๆ ซึ่งช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี
“ก่อนยุคโซเชียลมีเดีย ร้านกาแฟอย่างเราเป็นเหมือนพื้นที่พบปะสำหรับคนในชุมชน ถ้าใครอยากหาช่างเครื่องหรือช่างซ่อมอะไรสักอย่าง หรืออยากได้งานใหม่ เขาจะมาที่ร้านแบบนี้ หลายๆ คนเริ่มต้นจากการเป็นคนแปลกหน้า แต่ก้าวออกจากร้านไปพร้อมมิตรภาพ ผมเชื่อว่าร้านเอ็กเต็งผู่กี่ในยุคปัจจุบันสามารถเป็นพื้นที่พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียของคนหลากหลายวัยได้” ธนโชติกล่าว
ทุกวันนี้ อาม่าของสองพี่น้อง ซึ่งมีอายุกว่า 80 ปี ยังคงตื่นตั้งแต่ตี 4 มาทำงานจนถึงช่วงพักเที่ยง และยังคงใช้เวลาอยู่หลังร้านแม้จะทำงานเสร็จแล้ว อาม่าเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในร้าน แม้ในวันที่ธุรกิจร้านกาแฟที่สร้างมาตั้งแต่รุ่นก่อนหน้าของเธอจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม “ลูกค้าของเรารู้สึกผูกพันกับที่นี่และกับตัวอาม่าเองด้วย มันคือธรรมเนียมของร้านเรา ลูกค้าเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของครอบครัวเรา และเราเองก็เป็นเหมือนครอบครัวสำหรับลูกค้าด้วยเช่นกัน” ธนโชติอธิบาย
เรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของร้านกาแฟระดับตำนานแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการรักษามรดกตกทอดชิ้นสำคัญของครอบครัวไว้ ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย จนสามารถอยู่รอดท่ามกลางความท้าทายและกลับมายืนหยัดได้อย่างสง่างามอีกครั้ง ■
Essentials
เอ็กเต็งผู่กี่
163 ถ.พาดสาย แขวงสัมพันธวงศ์เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ