HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE GOOD LIFE


Hanging by a Thread

อารยา ฉ่ำตระกูล กับการแขวนชีวิตไว้บนผ้าผืนบาง และจุดเริ่มต้นของศิลปกายกรรม Aerial Arts ในประเทศไทย

สำนวนที่ว่า ‘ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย’ นั้นหมายถึงการตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงอันตราย และโอกาสที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ลุล่วงนั้นริบหรี่จนทุกอย่างสามารถจบลงในพริบตา

สำหรับนักศิลปกายกรรมกลางอากาศหรือ ‘แอเรียล อาร์ต’ ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของประเทศอย่าง แนน-อารยา ฉ่ำตระกูล ชีวิตของเธอแขวนอยู่บนเส้นด้ายแทบตลอดเวลา เธอใช้เวลาส่วนมากแสดงลีลาผาดโผนกลางอากาศ โดยมีเพียงผ้าไหมผืนบางที่โรยจากเพดานเกี่ยวพันร่างกายเธอไว้เท่านั้น การแสดงระบำผาดโผนกลางอากาศด้วยผ้านี้กลายเป็นที่รู้จักเพราะการแสดงของคณะละครชื่อดังจากแคนาดา Cirque du Soleil ซึ่งตระเวนทัวร์มาแล้วทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นทางเลือกใหม่ในการออกกำลังกายที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในบ้านเราและภูมิภาคเอเชีย

สาเหตุที่คนบอกว่าสำนวน ‘ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย’ นั้นเป็นมากกว่าคำเปรียบเปรยสำหรับนักแสดงแอเรียล อาร์ตก็เพราะกีฬาชนิดนี้ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันหรือเชือกนิรภัยใดๆ สิ่งเดียวที่กันไม่ให้ร่างของอารยาร่วงหล่นกระแทกพื้นคือผ้าไหมผืนบางที่หมุนพันอยู่รอบตัวเธอ แต่ท่าทางคล่องแคล่วขณะวาดลวดลายเหนือพื้นสูงในสตูดิโอนั้น ก็พอจะบอกใบ้ถึงทักษะและความเชี่ยวชาญของเธออยู่พอตัว อารยาในชุดสีดำโคร่งพุ่งตัวไปมาระหว่างผ้าไหมสองเส้น ไม่ต่างจากผึ้งที่บินโผเข้าหาเกสรดอกไม้ ผ้าทั้งสองผืนกระทบกันเป็นเสียงลม เธอขยับเท้าเพียงไม่กี่ครั้งก็ส่งตัวเองขึ้นไปค้างนิ่งอยู่กลางอากาศ ก่อนที่ผ้าจะเริ่มสะบัดอย่างไร้การควบคุมเพียงอึดใจต่อมา ร่างของเธอร่วงลงตามแรงโน้มถ่วง ตะขอเหล็กส่งเสียงกระทบกันเมื่อผ้าถูกกระตุก ร่างของอารยาหยุดนิ่งในอากาศอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ใบหน้าของเธออยู่ห่างจากพื้นไม่กี่เซนติเมตร

ความสูงเฉียดเพดานและต่ำเรี่ยพื้นจนน่าหวาดเสียวนี้คือสิ่งที่อารยาต้องเผชิญอยู่เป็นประจำในฐานะนักแสดงแอเรียล อาร์ต เธอใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในแวดวงการแสดงมาตั้งแต่ยังวัยรุ่น โดยแฟนเพลงบางคนอาจจดจำเธอได้ ในฐานะหนึ่งในนักร้องฝาแฝดแห่งวง 2in1 วงดนตรีป๊อบช่วงปี 2000 แต่การเป็นนักร้องนั้นไม่ใช่เส้นทางชีวิตที่เธอเลือกเดิน ปัจจุบัน อารยาเป็นที่รู้จักในฐานะนักศิลปกายกรรมกลางอากาศผู้มีส่วนช่วยให้แอเรียล อาร์ตนั้นแพร่หลายมากขึ้นในประเทศไทย

ศิลปกายกรรมกลางอากาศมีประวัติศาสตร์ยาวนานในภูมิภาคเอเชีย คณะกายกรรมประจำชาติของประเทศต่างๆ อาทิ ลาว เวียดนาม และจีนนั้นตระเวนออกแสดงไปทั่วโลกมานมนาน อย่างคณะกายกรรมกวางเจา คณะแสดงกายกรรมร่วมสมัยของประเทศจีนที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดีนั้น ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ’50s โดยนักแสดงจะใช้ทักษะกายกรรมต่างๆ อาทิ การไต่เชือก การปั่นจักรยานผาดโผน และการโชว์หมุนจาน เพื่อประกอบดนตรีและเรื่องราวจากบทประพันธ์คลาสสิกต่างๆ แต่ ‘แอเรียล ซิลค์’ หรือการแสดงศิลปกายกรรมกลางอากาศโดยใช้ผ้าสองผืนเพื่อประคองร่างกายนั้นไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนักจนกระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อน และได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากจำนวนผู้เข้ารอบสุดท้ายในรายการไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์ ในปี 2018 ซึ่งมีถึงแปดคนที่เป็นนักกายกรรมกลางอากาศ และสตูดิโอฝึกสอนแอเรียล อาร์ต และแอเรียล โยคะ กีฬาซึ่งมีพื้นฐานมาจากแอเรียล อาร์ต ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วในบ้านเรา จนปัจจุบันมีสตูดิโอมากกว่าร้อยแห่งที่เปิดสอนกีฬาประเภทดังกล่าว

บรรดานักแสดงแอเรียล อาร์ต และกลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งมองหาทางเลือกในการออกกำลังกายที่ไม่จำเจนั้น จะใช้อุปกรณ์ อาทิ ห่วง ผ้า ชิงช้า และเสา เพื่อรับน้ำหนักและทรงตัวในการตีลังกา หมุนตัวกลางอากาศ หรือออกท่าทางโลดโผนอื่นๆ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยแรงจากกล้ามเนื้อหลายส่วนพร้อมๆ กัน ทำให้การฝึกศิลปกายกรรมกลางอากาศเป็นการออกกำลังกายที่หนักหน่วงและใช้ร่างกายครบทุกส่วน โดยในปัจจุบัน มีสตูดิโอประมาณ 8 แห่งในกรุงเทพฯ ที่เปิดสอนแอเรียล อาร์ต

สำนวน ‘ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย’ นั้นเป็นมากกว่าคำเปรียบเปรยสำหรับนักแสดงแอเรียล อาร์ตก็เพราะกีฬาชนิดนี้ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันหรือเชือกนิรภัยใดๆ

โดยทั่วไป แอเรียล อาร์ตจะเน้นการเต้นและลีลายิมนาสติกกลางอากาศ โดยที่ร่างกายแทบไม่ได้สัมผัสพื้นเลย ทำให้นักแสดงแอเรียล อาร์ตต้องใช้สมาธิอย่างสูงในการควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อให้สามารถทำท่าทางที่ซับซ้อนขณะทรงตัวอยู่กลางอากาศได้ การหมุนข้อเท้าหรือจับผ้าพลาดไปเพียงนิดเดียว อาจหมายถึงการตกลงมาปะทะพื้นดิน “แอเรียล อาร์ตเป็นมากกว่ากายกรรม สำหรับเรามันคือศิลปะ จริงๆ เราชอบการแสดงมาโดยตลอด แต่เรารู้สึกว่าการแสดงประเภทนี้มันพิเศษ แต่ละท่วงท่าต้องถูกคิดมาอย่างดี การหมุนตัวหรือเปลี่ยนท่าแต่ละครั้งต้องราบรื่นต่อเนื่อง สมัยเด็กๆ เรากับพี่สาวฝาแฝดโดนส่งไปเรียนเต้น บัลเลต์ และการแสดงตั้งแต่เริ่มเดินได้ เรามีโอกาสได้เรียนกับนักเต้นฝีมืออันดับต้นๆ ของประเทศ และสุดท้ายก็ได้ไปทำงานที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ทั้งคู่” อารยากล่าว

ภายใต้การแนะนำของศิลปินผู้โด่งดังระดับประเทศอย่าง อู๋-เปรมจิตต์ อำนรรฆมณี ทั้งคู่ได้รับ ‘โอกาสในฝัน’ ในการเข้าสู่วงการบันเทิง แต่สิ่งที่วาดฝันไว้ต่างกับความจริง ภายใต้สัญญากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ พวกเขาไม่ได้มีอิสระตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพของตัวเองนัก ทั้งคู่เริ่มจากการเป็นนักเต้นแบ็คอัพ ก่อนก้าวขึ้นเป็นสมาชิกวง 2in1 ซึ่งโด่งดังอยู่พักหนึ่ง แม้การเป็นนักร้องจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่อารยาชื่นชอบที่สุด แต่งานดังกล่าวก็สร้างรายได้ให้เธอมากพอจนสามารถส่งตัวเองจนจบมหาวิทยาลัย

“มองกลับไปก็อายเหมือนกัน ทรงผมยุค ’90s ทำนองเพลงแบบสังเคราะห์ จริงๆ เรายังมีแฟนคลับกลุ่มเล็กๆ อยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่ชีวิตนักร้องเพลงป๊อบมันเหมือนไม่ใช่ทางของเรา เราบอกครูอู๋ว่าเราอยากหันมาทุ่มเวลาให้กับการออกแบบท่าเต้น แต่ปัญหาคือเราเซ็นสัญญาในฐานะนักร้อง เลยยังไม่สามารถรับงานแสดงอื่นๆ ได้จนกว่าจะหมดสัญญา” เธอพูดไปขำไป

อารยาตัดสินใจลาออกจากแกรมมี่ในปี 2005 เพื่อมาเดินตามความฝันของตัวเอง ด้วยคอนเนกชันที่สั่งสมมาจากงานเก่า เธอจึงได้เริ่มต้นทำงานในฐานะฟรีแลนซ์ให้กับบริษัทรับจัดอีเวนต์ Happening Company ซึ่งเธอยังทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้ “เราเคยดูการแสดงของเซิร์ค ดู โซเลย์ในดีวีดี และมันสร้างแรงบันดาลใจให้เรามาก แต่เราไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสโลกของการแสดงในคณะละครจริงจัง จนกระทั่งมีลูกค้าขอให้บริษัทเราจัดการแสดงคล้ายๆ กับโชว์ของเซิร์ค ดู โซเลย์” เธอเล่า

ขณะนั้น ประเทศไทยยังไม่มีสตูดิโอฝึกสอนศิลปกายกรรมกลางอากาศ อารยาจึงใช้เงินเก็บส่วนตัวเดินทางไปยังฮ่องกงเพื่อศึกษาศิลปะแขนงดังกล่าว และเตรียมความพร้อมสำหรับงานแสดงที่จะเกิดขึ้น เมื่อเดินทางกลับไทย เธอก็พบว่าลูกค้าได้ตัดสินใจยกเลิกโชว์เป็นที่เรียบร้อย แต่สำหรับอารยา เงินทั้งหมดที่ลงทุนไปนั้นคุ้มค่า เพราะเธอได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ แล้ว

อารยามองเห็นช่องทางสร้างอาชีพจากความขาดแคลนสตูดิโอฝึกสอนแอเรียล อาร์ตในกรุงเทพฯ และตัดสินใจเปิด The Show สตูดิโอสำหรับการฝึกสอนแอเรียล อาร์ตโดยเฉพาะแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น สตูดิโอของเธอเริ่มเป็นที่รู้จัก และในขณะที่จำนวนนักเรียนของเธอค่อยๆ เพิ่มขึ้นนั้น คณะเซิร์ค ดู โซเลย์ก็เริ่มออกแสดงในทวีปเอเชีย ทำให้ศิลปะแขนงนี้เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับมากขึ้น ความคาดหวังและมาตรฐานต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ภายในเวลาไม่นาน สตูดิโออย่างเดอะโชว์เพียงแห่งเดียวก็ไม่สามารถรองรับความต้องการของแวดวงแอเรียล อาร์ตที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทยได้

ทั้งหมดนี้ทำให้อารยาและเพื่อนร่วมวงการของเธอตัดสินใจเปิด Aerial Factory สตูดิโอฝึกสอนแอเรียล อาร์ตที่ยังคงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจนถึงทุกวันนี้ แต่ขณะที่บรรดานักเรียนของเธอและผู้ที่สนใจในศิลปกายกรรมชนิดนี้หมายมั่นจะเป็นนักแสดงหรือเข้าร่วมรายการแข่งขันต่างๆ อารยาผู้ซึ่งมีสถานะเป็นเสมือนครูใหญ่ในแวดวงแอเรียล อาร์ต กลับเลือกที่จะทำงานอยู่เบื้องหลัง เพราะท้ายที่สุดแล้ว เธอค้นพบว่าเธอไม่ได้ชื่นชอบการแสดงท่ามกลางสายตาผู้คนเท่าไรนัก “เราหันมาทุ่มเทให้กับการสอนและทักษะการออกแบบท่าเต้นมากกว่า แล้วก็รับหน้าที่จัดงานแสดงและอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งทำให้เราได้สร้างงานแสดงแต่ไม่ต้องอยู่เบื้องหน้า คุณต้องโชคดีมากๆ ถึงจะได้เห็นเราบนเวที ไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่เพราะเราเลือกที่จะไม่ทำ” เธอกล่าว

เราทุกคนเป็นศิลปินได้ทั้งนั้น แต่สำหรับบางคน ศักยภาพดังกล่าวอาจยังไม่ฉายแววออกมาให้เห็น พวกเขาแค่ต้องหาสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอ

ปัจจุบันแอเรียล แฟคทอรีนั้นมีพลอยชมพู พยนรัตน์ นักแสดงแอเรียล อาร์ตวัย 29 ปี มาช่วยรับหน้าที่ดูแลแทน หญิงสาวรายนี้เป็นหนึ่งในนักแสดงศิลปกายกรรมกลางอากาศที่โด่งดังที่สุด หลังจากที่เธอขึ้นแสดงรอบชิงชนะเลิศบนเวทีไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์ในปีที่ผ่านมา

พลอยชมพูได้รับคัดเลือกเป็นนักกีฬายิมนาสติกทีมชาติตั้งแต่สมัยวัยรุ่น และเป็นตัวแทนแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปี 2003 และ 2005 โดยเธอสามารถคว้าเหรียญเงินมาได้ทั้งสองสนาม “เราชอบการเป็นจุดสนใจตอนแข่งขันซีเกมส์ แต่ตอนนั้นรู้สึกว่ายังหาสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ ไม่เจอ พอใกล้อายุ 20 ตัวเราเริ่มแข็งขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับนักกีฬายิมนาสติก เราเลยต้องเริ่มหาอะไรที่เหมาะกับตัวเองในระยะยาว”

นิสัยไม่ชอบหยุดนิ่งของพลอยชมพูส่งผลดีต่ออนาคตของเธอ และได้นำพาเธอมาสู่แวดวงแอเรียล อาร์ต เธอได้ฝึกเล่นแอเรียล อาร์ตมาแล้วสารพัดรูปแบบและอุปกรณ์ ไม่ว่าจะใช้เสา ผ้า หรือห่วง และในฐานะผู้ดูแลสตูดิโอแอเรียล แฟคทอรี เธอยังได้ติดต่อกับบรรดานักแสดงแอเรียล อาร์ตระดับโลกเพื่อให้พวกเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และเคล็ดลับต่างๆ เมื่อใดก็ตามที่มีโอกาสเดินทางมายังกรุงเทพฯ “เราไม่มีเงินพอจะไปเรียนต่อเมืองนอก เลยต้องรอให้พวกเขามาหาเราเอง โชคดีที่พวกเขาก็มาจริงๆ” เธอกล่าว

พลอยชมพูมีโอกาสได้ฝึกฝนแอเรียล อาร์ตกับนักแสดงระดับโลกที่แวะเวียนมายังประเทศไทย ตั้งแต่เอริกา เลอเมย์และทันยา เบอร์กา แห่งคณะละครเซิร์ค ดู โซเลย์ ไปจนถึงทีมนักแสดงจากประเทศลาวและจีน ซึ่งเป็นคณะละครแห่งชาติที่รัฐให้ทุนสนับสนุน ความมุ่งมั่นของเธอให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ เห็นได้จากการแสดงของเธอบนเวทีไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์ 2018 ซึ่งเธอนั้นหมุนตัว 360 องศาโดยใช้เพียงส่วนลำคอยึดกับห่วงไว้ และในการแข่งรอบสุดท้าย พลอยชมพูก็ตีลังกาห้อยหัวจากห่วงด้วยเท้าทั้งสองข้างขณะที่ปิดตา ซึ่งน่าหวาดเสียวจนผู้ชมทั้งสตูดิโอนั่งลุ้นและส่งเสียงเชียร์ลั่น แม้ในที่สุดแล้ว KV Family คณะกายกรรมกลางอากาศอีกคณะหนึ่งจะคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง แต่ความพยายามของพลอยชมพูก็เป็นผล และคณะ ‘มิตรภาพกันเอง’ คณะกายกรรมจากประเทศลาวซึ่งเป็นผู้ชนะอันดับที่สาม ยังเชิญเธอไปร่วมฉลองความสำเร็จในการแสดงรอบพิเศษที่ประเทศลาวอีกด้วย

ในขณะที่พลอยชมพูทุ่มเทฝึกฝนเพื่อแสดงโชว์ที่ดีที่สุดให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้ชม บทบาทของอารยากลับหันมาสู่งานเบื้องหลังมากขึ้น สังเกตได้จากโปรเจ็กต์ล่าสุดอย่าง Thailand Aerial Arts Competition การแข่งขันแอเรียล อาร์ตระดับนานาชาติรายการแรกและรายการเดียวของประเทศไทย ซึ่งมีเธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแม้จะเลือกเส้นทางแตกต่าง สองหญิงสาวก็มีจุดร่วมเดียวกันอยู่ที่ความหลงใหลในศิลปะของการร่ายรำบนผืนผ้ากลางเวหา

หลังการสอนประจำวันสิ้นสุดลง อารยาเล่าเรื่องราวของนักเรียนทั้งใหม่และเก่าของเธอแต่ละคน ก่อนจะกล่าวถึงคติที่เธอยึดถือไว้เป็นแรงขับเคลื่อนความรักในงานศิลปะแขนงนี้ “เราทุกคนเป็นศิลปินได้ทั้งนั้น แต่สำหรับบางคน ศักยภาพดังกล่าวอาจยังไม่ฉายแววออกมาให้เห็น พวกเขาแค่ต้องหาสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอ”

สำหรับอารยา สิ่งนั้นของเธอคือการแขวนชีวิตตัวเองไว้บนเส้นด้าย และหากใครมีความฝันเดียวกัน เธอก็พร้อมจะชี้แนะให้ด้วยความยินดี

Essentials


The Aerial Factory


31/6 ซอยศูนย์วิจัย ถนนพระรามเก้า กรุงเทพฯ
โทร. 098-745-9923 fb.com/aerialfactorybangkok