SECTION
ABOUTTHE GOOD LIFE
Best Foot Forward
เผยเคล็ดลับการเลืิอกซื้อรองเท้าวิ่งที่ 'ดีที่สุด' จากผู้เชี่ยวชาญในทศวรรษที่การแข่งขันทางด้านแฟชั่นและฟังก์ชันนั้นดุเดือดกว่าที่เคยเป็นมา
ในเวลา 8 โมงเช้าของวันสุดสัปดาห์ ขณะที่แสงแดดเริ่มทอแสงเข้มขึ้น เหล่าชาวกรุงที่มุ่งหน้ามายังสวนรมณีนาถในย่านพระนครตั้งแต่รุ่งสางเพื่อออกวิ่งก็ทำภารกิจแรกของวันลุล่วง และเมื่อเข้าสู่เวลาสายซึ่งหลายคนอาจยังไม่ลุกจากที่นอน นักวิ่งบางส่วนก็ทยอยเก็บข้าวของและมุ่งหน้าไปยังคาเฟ่ติดแอร์เย็นฉ่ำในละแวกใกล้เคียงเป็นที่เรียบร้อย ทุกๆ วันอาทิตย์ สมเกียรติ จินดากุล คือหนึ่งในนักวิ่งกลุ่มนั้น ชายสูงวัยหลังค่อมเล็กน้อยรายนี้ดูเผินๆ แล้วไม่เหมือนนักวิ่งตัวยง และความเร็วในการวิ่งของเขาก็ว่องไวพอๆ กับยามที่คนรุ่นลูกเดิน แต่ท่าทีสบายๆ เป็นมิตรของสมเกียรติก็ทำให้เขาดูอ่อนเยาว์ลงหลายปี สมเกียรติมีผู้ติดตามเหนียวแน่นบนโลกโซเชียลมีเดีย และคนเหล่านี้มองว่าเขาเป็นหนึ่งในนักวิ่งมาราธอนขวัญใจคนไทยอันดับต้นๆ
ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สมเกียรติวิ่งเหยาะๆ เพื่อออกกำลังไปรอบสวนรมณีนาถกับรองเท้าคู่ใจ เขาลงแข่งวิ่งครั้งแรกตอนอายุ 40 ปีในรายการมินิมาราธอนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในช่วงปี ’80s นับแต่นั้นมา เขาก็เข้าร่วมแข่งวิ่งมินิมาราธอนเกือบทุกสัปดาห์ และเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อแข่งวิ่งระยะ 10-16 กิโลเมตรทุกครั้งที่มีโอกาส แม้ทุกวันนี้เขาจะเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสุดท้ายเสมอ แต่นั่นถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง “ผมจะวิ่งจนกว่าจะไม่มีแรง” เขากล่าว พลางอวดว่าตนยังวิ่งระยะ 10 กิโลเมตรได้สบายๆ
อย่างไรก็ตาม เหรียญรางวัลก็ไม่ใช่แรงกระตุ้นหลักในการวิ่งของเขา เช่นเดียวกับคนไทยอีกนับแสนราย สมเกียรติตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อออกวิ่งในทุกๆ วัน เพราะอยากมีสุขภาพดี “ถ้าคุณรักประเทศ แต่ยังไม่ได้ออกกำลังกาย คุณต้องเริ่มวิ่งได้แล้ว” เขากล่าวขณะเดินทอดน่องอยู่ภายใต้ร่มเงาสวนรมณีนาถ สองมือของเขาถือรองเท้าวิ่งยี่ห้อ Adidas คู่ใจไว้ “การรักษาร่างกายให้แข็งแรงเป็นวิธีลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพของรัฐบาล และการวิ่งก็เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด แค่มีรองเท้าหนึ่งคู่ก็ออกวิ่งได้แล้ว”
คำแนะนำนี้ฟังดูง่าย แต่ในความเป็นจริง กระทั่งสมเกียรติเองก็ใช้เวลาหลายปีในการเฟ้นหารองเท้าที่เหมาะกับหน้าเท้ากว้างและข้อเท้าที่บิดของตัวเอง “เขาไม่ค่อยผลิตรองเท้าที่พอดีกับรูปเท้าผม ผมเคยลองสวมไนกี้แต่มันคับเกินไป ส่วนอดิดาสก็พอใส่ได้อยู่ไม่กี่รุ่น ใครจะว่ายังไงก็แล้วแต่ ผมก็ยังชอบรองเท้ารุ่นแอคชันสปอร์ตของผมคู่นี้ ถึงจะเก่าไปหน่อย” เขาเล่า
การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมจะต้องพิจารณาทั้งปัจจัยเรื่องรูปร่าง ท่าเดิน และกิจวัตรการออกกำลังกายของแต่ละบุคคล ทำให้นักวิ่งอาจต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่กว่าจะเจอรองเท้าที่ถูกใจ
แม้การวิ่งจะเป็นกีฬาที่ทุกคนทำได้และไม่ต้องใช้ทักษะสูงในเบื้องต้น แต่ก็เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้งานช่วงขาหนักพอตัว เพราะขณะวิ่งร่างกายจะทิ้งน้ำหนักตัวทั้งหมดลงบนขาทีละข้าง อันจะสร้างแรงกระแทกต่อข้อต่อและเส้นเอ็น และเมื่อเวลาผ่านไปอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมและลุกลามไปสู่อาการปวดหลังได้ การเลือกรองเท้าที่ 'ใช่' จึงเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด กระนั้น 'รองเท้าที่ดีที่สุด' ก็อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีรองเท้าวิ่งออกมาให้เลือกซื้อสารพัดรูปแบบ นับตั้งแต่รองเท้า ‘barefoot’ ซึ่งน้ำหนักเบาและมีพื้นบางเสมือนวิ่งเท้าเปล่า รองเท้าประเภท ‘motion control’ ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างดีในการดูดซับแรงกระแทกและมีความทนทานสูง รองเท้า ‘cushioned’ ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับแรงกระแทกจากบริเวณข้อเท้า และรองเท้า ‘stability’ อันมีคุณสมบัติกึ่งกลางระหว่างรองเท้า motion control และ cushioned
การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมจะต้องพิจารณาทั้งปัจจัยเรื่องรูปร่าง ท่าเดิน และกิจวัตรการออกกำลังกายของแต่ละบุคคล ทำให้นักวิ่งอาจต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่กว่าจะเจอรองเท้าที่ถูกใจ ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระแสการออกกำลังกายได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา เช่นเดียวกับตลาดเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2561 มูลค่าตลาดในประเทศไทยนั้นขึ้นไปแตะถึง 3 หมื่นล้านบาทด้วยเหตุนี้เอง ผู้ซื้ออาจรู้สึกสับสนยามต้องมองหารองเท้ากีฬาดีๆ สักคู่ เพราะร้านจำหน่ายรองเท้ากีฬาหนึ่งแห่งอาจมีรองเท้าจำนวนหลายพันคู่ให้เลือกซื้อ หรือบางแห่งอาจพยายามดึงดูดลูกค้าด้วยลูกเล่นอื่นอย่างการเพิ่มร้านบาร์เบอร์ หรือร้านไอศกรีมโฮมเมดเข้าไปในร้าน ยิ่งกว่านั้น ในหลายครั้ง แม้จะมีพนักงานขายคอยให้คำปรึกษาอยู่ไม่ห่าง เราก็อาจไม่แน่ใจว่าคำแนะนำจะตอบสนองเราได้แค่ไหน ลองคิดเล่นๆ ดู นอกเหนือจากตัวเลือกอย่าง Altra รุ่น Golden Spike, รองเท้า Nike รุ่นล่าสุดอย่าง Joyride ที่มาพร้อมเม็ดโฟมเพื่อดูดซับแรงกระแทก หรือรองเท้า Adidas รุ่น SL และอื่นๆ อีกมากมายแล้ว ยังมีรองเท้าอีกเป็นกุรุสที่ออกแบบมาเพื่อกีฬาหรือกิจกรรมเรียกเหงื่ออื่นๆ นับตั้งแต่เทนนิส วอลเลย์บอล เวทเทรนนิง ไปจนถึงไต่ผา การจะเลือกเฟ้นรองเท้าที่เหมาะโดยไม่ตกเป็นเหยื่อการตลาดนั้นต้องใช้ความพยายามจริงๆ จังๆ เลยทีเดียว
การเลือกรองเท้าวิ่งที่เหมาะสมนั้นควรพิจารณาจากลักษณะการหมุนของข้อเท้าในขณะวิ่ง (pronation) ของแต่ละบุคคล
“ผมไม่ชอบใช้คำว่าดีที่สุด” ดร.หนึ่ง-กิตติพงศ์ เกิดวิบูลย์เวช กล่าว เขาคือนักสะสมรองเท้าวิ่งผู้โด่งดังวัย 40 ปีและเจ้าของเพจรีวิวรองเท้าวิ่งบนเฟซบุ๊กชื่อ OUT RUN “ไม่ใช่ว่าเราจะมีรองเท้าคู่โปรดไม่ได้ แต่สิ่งที่ ‘ดีที่สุด’ มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากกว่าที่คิด เท้าเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน รองเท้าแต่ละคู่ก็ย่อมตอบโจทย์ความต้องการต่างกัน” ทุกวันนี้ ดร.กิตติพงศ์เป็นนักรีวิวรองเท้าวิ่งแนวหน้าของไทย เพจเฟซบุ๊กของเขาเน้นการทำรีวิวรองเท้าอย่างเป็นกลาง และมาพร้อมคำแนะนำเพื่อช่วยให้ผู้อ่านค้นพบรองเท้าที่เหมาะสมกับตัวเอง เขาเริ่มหันมาวิ่งในปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมการวิ่งในไทยเริ่มเติบโตและค่อยๆ กลายมาเป็นความหมกมุ่นสำหรับหลายๆ คน ด้วยความสนใจในเรื่องรองเท้า เขาจึงเริ่มนำวิธีการทำวิจัยจากสมัยเรียนปริญญาเอกอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาปรับใช้เพื่อเฟ้นหารองเท้าวิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเท้าตัวเอง ก่อนจะเริ่มแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ลงบนโลกอินเทอร์เน็ต และเพจ OUT RUN ของเขาก็ถือกำเนิดขึ้นในปี 2558 “ผมชอบเรียกตัวเองว่าคนรักรองเท้ามากกว่าอินฟลูเอนเซอร์หรือกูรู” เขากล่าวพลางหัวเราะ “ผมใช้เวลานานมากกว่าจะเจอรองเท้าที่ใช่ สมัยเริ่มเล่นรองเท้าใหม่ๆ ผมสุดโต่งมาก”
คล้ายกับนักวิ่งอีกจำนวนมาก ดร.กิตติพงศ์เริ่มต้นจากการซื้อรองเท้าวิ่งที่มีแผ่นลดแรงกระแทกหนาที่สุด (Asics Nimbus) แล้วจึงเปลี่ยนเป็นรุ่นที่เบาที่สุด (Adidas Adizero) ก่อนจะค่อยๆ เลือกเดินทางสายกลางมากขึ้น แต่ก็มีบ้างที่เขาสนใจรองเท้ายี่ห้อแปลกๆ หรือนอกกระแส เช่น รองเท้ายี่ห้อ Vibram รุ่น FiveFingers ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากชนเผ่านักวิ่งเท้าเปล่าในหนังสือ Born to Run ของคริสโตเฟอร์ แมคดูกัล “รองเท้าชนิดนี้เลียนแบบการวิ่งเท้าเปล่า ซึ่งช่วยให้ท่าวิ่งเป็นไปตามธรรมชาติ การฝึกวิ่งด้วยรองเท้าแบบนี้ช่วยพัฒนาเทคนิคการวิ่งได้ แต่มันสุดโต่งเกินไปสำหรับคนส่วนใหญ่และปรับตัวให้ชินยาก” เขากล่าวเสริม
ประเด็นซึ่งเป็นข้อถกเถียงร้อนแรงในแวดวงนักวิ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า คือคำถามว่ารองเท้าแบบไหนนั้นดีกว่ากัน ระหว่างรองเท้า ‘แบร์ฟุต’ ซึ่งน้ำหนักเบาเสมือนวิ่งเท้าเปล่า กับรองเท้าพื้นหนาที่คนส่วนมากนิยมสวมใส่ โดยทั่วไปแล้ว รองเท้าวิ่งมักมาพร้อมส้นที่หนา ส่งผลให้นักวิ่งส่วนมากวิ่งแบบลงส้นเท้า ขณะที่รองเท้าประเภทแบร์ฟุตอย่างไวแบรม ไฟว์ฟิงเกอร์ นั้นไม่มีแผ่นรองกระแทกที่ส้นเหมือนรองเท้าวิ่งทั่วไป นักวิ่งที่สวมใส่รองเท้าประเภทนี้จึงต้องวิ่งลงปลายเท้าก่อน ซึ่งเป็นวิธีการเคลื่อนไหวแบบธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบกทุกชนิดยกเว้นมนุษย์ กระแสธรรมชาตินิยมนี้ทำให้นักวิ่งหลายคนเลิกใช้รองเท้าวิ่งพื้นหนา เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไวแบรม ผู้ผลิตรองเท้าแบร์ฟุตอันดับ 1 ของโลก ได้ปล่อยหนังสั้น Shoespiracy เพื่อบอกเล่าประเด็นว่ารองเท้าวิ่งพื้นหนานั้นเป็นผลผลิตจากการเน้นทำการตลาดแบบ ‘เน้นแฟชั่น’ ของแบรนด์กีฬาอย่างไนกี้และอดิดาสมายาวนานหลายทศวรรษ โดยคำกล่าวของไวแบรมและกลุ่มนักวิ่งที่ใช้รองเท้าแบร์ฟุตวางรากฐานอยู่บนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในปี 2553 ที่ชี้ว่าการวิ่งแบบลงปลายเท้าก่อนใช้พลังงานน้อยกว่าและลดการสร้างแรงกระแทกต่อขา รวมทั้งช่วยให้ทรงตัวและเดินอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้แปลว่ารองเท้าแบร์ฟุตจะเหมาะสำหรับทุกคน การเลือกรองเท้าวิ่งที่เหมาะสมนั้นควรพิจารณาจากลักษณะการหมุนของข้อเท้าในขณะวิ่ง (pronation) ของแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้ว การหมุนของข้อเท้าจะแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือแบบ ‘neutral’ อันเป็นการวิ่งที่ทิ้งน้ำหนักไล่จากส้นผ่านฝ่าเท้าไปยังปลายเท้าอย่างเท่าๆ กัน ซึ่งพบเห็นได้ในผู้ที่มีความโค้งใต้ฝ่าเท้าแบบปกติ (normal arch) ขณะที่ผู้ที่มีเท้าแบน (flat foot) นั้นจะมีลักษณะการหมุนข้อเท้าแบบ ‘overpronation’ คือเท้าจะบิดเข้าด้านในมากเกินไปขณะวิ่ง ทำให้การทิ้งน้ำหนักนั้นไล่จากส้นเท้าผ่านสันเท้าด้านในไปยังปลายเท้า ในทางกลับกัน ลักษณะของข้อเท้าที่บิดออกจนทำให้เกิดการทิ้งน้ำหนักที่บริเวณสันเท้าด้านนอกมากเกินไปหรือ underpronation นั้นจะเกิดในนักวิ่งที่มีอุ้งเท้าสูง (high arch) ลักษณะการหมุนหรือบิดของข้อเท้านี้เองจะเป็นตัวกำหนดว่ารองเท้าคู่ไหนเหมาะสมกับใคร งานวิจัยบางชิ้นยังชี้ด้วยว่าผู้ที่มีเท้าแบนนั้นไม่เหมาะกับรองเท้าแบร์ฟุตอย่างไวแบรม ไฟว์ฟิงเกอร์ และควรเลือกใส่รองเท้าที่มีพื้นรองรับมากกว่า
ในเมืองไทย ผู้เชี่ยวชาญอีกรายหนึ่งที่อาจตอบคำถามนี้ได้ คือตั้น-ดิเรก สุนสาย ชายหนุ่มวัย 34 ปี ผู้ก่อตั้งร้านอาริ รันนิ่ง คอนเซปต์ สโตร์ ดิเรกในวัยผู้ใหญ่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแข่งวิ่งสปรินต์อาชีพ และถึงขั้นบินไปศึกษาการวิ่งระยะไกลที่เคนยา ประเทศซึ่งครองแชมป์รายการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับนานาชาติกว่า 3 ใน 4 ของโลก “สำหรับผม มีปัจจัยสำคัญ 3 ข้อที่ทุกคนควรศึกษาก่อนซื้อรองเท้าวิ่งสักคู่ นั่นคือความกว้างของหน้าเท้า การบิดของข้อเท้า และน้ำหนักตัว ปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องดีไซน์นั้นไม่สำคัญเท่า ผมหวังว่าคนจะตัดใจจากแบรนด์ที่ชอบได้ถ้ารองเท้าคู่นั้นมันไม่เหมาะกับเขา เพราะถึงซื้อไป สุดท้ายก็อาจผิดหวังอยู่ดี” ดิเรกกล่าว
ร้านอาริ รันนิ่ง คอนเซ็ปต์ สโตร์นั้นเชี่ยวชาญใน ‘การวิเคราะห์การเดิน (gait analysis)’ กระบวนการซึ่งใช้กล้องความเร็วสูงบันทึกภาพขณะที่เราวิ่งบนลู่ควบคู่กับเครื่องสแกน 3 มิติ เพื่อจำลองลักษณะการบิดของข้อเท้า นี่อาจฟังดูเหมือนเทคโนโลยีที่สงวนไว้สำหรับนักกีฬาอาชีพ แต่ดิเรกกล่าวว่าโปรแกรมนี้ใครก็สามารถใช้ได้ “ลูกค้ากว่า 50% ที่ผมทำการวิเคราะห์ให้นั้นเท้าแบน แถมคนไทยส่วนใหญ่ยังมีรูปเท้ากว้างด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายคนลงเอยด้วยการซื้อรองเท้าที่คับเกินไป แน่นอนไม่มีใครอยากใส่รองเท้าแล้วดูตลก แต่กับคนส่วนใหญ่ รองเท้าหน้ากว้างอาจเป็นทรงที่ตอบโจทย์ที่สุด” ดิเรกอธิบาย ก่อนจะเสริมว่า “เกือบทุกยี่ห้อจะออกแบบรองเท้าสำหรับทั้งคนที่มีรูปเท้าปกติและเท้าแบน เคล็ดลับง่ายๆ คือให้สังเกตแถบกึ่งกลางพื้นรองเท้าด้านใน ถ้าบริเวณอุ้งเท้ามีลวดลายพิเศษหรือสีต่างกัน แปลว่ารองเท้าคู่นี้มีการเพิ่มการรองรับบริเวณดังกล่าว ซึ่งช่วยสร้างสมดุลในการลงน้ำหนักให้กับคนเท้าแบน”
ในขณะที่การมองหารองเท้าวิ่งที่ 'ใช่ที่สุด' ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลายทั้งเรื่องงบประมาณ รูปเท้า ลักษณะท่าเดิน และน้ำหนักตัวของผู้ซื้อ แต่ดูเหมือนว่าวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นพ้องกันคือต้องลองใส่จริง นักวิ่งมือใหม่อาจไม่รู้จักร่างกายของตัวเองดีเท่ากับนักวิ่งที่เจนสนาม จึงควรเริ่มจากรองเท้าที่สวมใส่สบายก่อน และเมื่อเริ่มวิ่งจนเป็นกิจวัตรแล้ว ก็อาจถึงคราวต้องเข้ารับการตรวจวิเคราะห์ท่าวิ่งและเลือกซื้อรองเท้าให้เหมาะกับประเภทเท้าของตัวเองมากขึ้น
กีฬาวิ่งนั้นมีเทคโนโลยีและลูกเล่นทางการตลาดใหม่ๆ ออกมาให้เห็นทุกปี เราแค่ต้องรู้ให้ได้ว่าสิ่งไหนตอบกับเราที่สุดเท่านั้น ■
Essentials