HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE GOOD LIFE


The Emperor’s New Code

อนาคตของ wearable tech หรือ ‘อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ’ อย่างสมาร์ทวอทช์นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ และชีวิตจริงอาจแนบเนียนเสียยิ่งกว่าภาพยนตร์ไซ-ไฟ

หลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิต ‘ฟิตเนส แทร็กเกอร์ (fitness tracker)’ และ ‘สมาร์ทวอทช์ (smart watch)’ นั้นพยายามปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ดูน่าสวมใส่และเป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น เพราะคนจำนวนหนึ่งยังติดภาพว่าอุปกรณ์เหล่านี้ต้องมีหน้าตาเทอะทะหรือเป็นสีดำทื่อ แต่ไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จีไอเอส จำกัด ผู้นำเข้าสมาร์ทวอทช์ยี่ห้อ Garmin อย่างเป็นทางการในประเทศไทย กล่าวว่าทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว

วันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อนระอุ ไกรรพและทีมงานนั่งอยู่ในห้องประชุมของบริษัทจีไอเอส บนตึกซีดีจีเฮ้าส์ ในย่านพระราม 3 ระหว่างที่กำลังสนทนากัน เขาก็ส่งสัญญาณให้ทีมงานคนหนึ่งหยิบเอากล่องไม้ขัดเงาสีเข้มเรียบขรึมขึ้นมาวางกลางโต๊ะประชุม “ลองเปิดดู แล้วจะเข้าใจที่ผมพูด” ไกรรพกล่าว

ในกล่องคือนาฬิกาข้อมือซีรีส์ MARQ ระดับเรือธงของแบรนด์การ์มิน ซึ่งให้ความรู้สึกและสัมผัสใกล้เคียงกับนาฬิกาหรู ทั้งหน้าจอที่ผลิตจากแซฟไฟร์คริสตัล และตัวเรือนไทเทเนียมเงาวับ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่นาฬิการะดับเดียวกับโรเล็กซ์หรือโอเดอมาร์ส ปิเกต์ เพราะแม้กระทั่งสมาร์ทวอทช์ตัวท็อปของซีรีส์ MARQ ก็ยังมีราคาเพียง 1 ใน 4 ของโรเล็กซ์ Day-Date รุ่นที่ถูกที่สุดเท่านั้น แต่สมาร์ทวอทช์ดังกล่าวก็ทำจากวัสดุเรียบหรูอีกทั้งยังรองรับกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ถึง 6 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งรถ ปีนเขา ล่องเรือ หรือกระทั่งการขับเครื่องบิน ซึ่งด้วยคุณสมบัติที่ว่ามานี้ ไกรรพเชื่อว่าน่าจะพอเปลี่ยนใจนักสะสมนาฬิกาหรูได้อย่างน้อยสักคนหรือสองคน “ใครๆ ก็อยากดูดี แต่เราก็ต้องไม่ลืมเรื่องประโยชน์ใช้สอยด้วย” เขาเสริม

ประเด็นเรื่องภาพลักษณ์ที่ไกรรพพูดถึงดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ฉุดรั้งอุตสาหกรรม ‘อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (wearable technology)’ มาโดยตลอด อย่างเช่นการเปิดตัวแว่นตา Google Glass ในปี 2014 ที่ถูกวิจารณ์ย่อยยับเพราะดีไซน์ที่ดูราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์ไซ-ไฟในยุคก่อน ทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่าทั่วโลกรวมกันราว9.2 แสนล้านบาทนี้ พยายามเน้นจุดขายเรื่องความน่าสวมใส่มากกว่าความล้ำสมัย นาฬิกาจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดูดีได้ง่ายกว่าการย่อส่วนคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องมาติดไว้บนใบหน้า

ในขณะที่สมาร์ทวอทช์เทียบกับนาฬิกาหรูไม่ได้ในเชิงคุณค่าและศิลปะ แต่ก็มีจุดเด่นเหนือกว่าในแง่ประโยชน์ใช้สอย นาฬิกาดำน้ำธรรมดานั้นอาจมาพร้อมขอบหน้าปัดหมุนไว้จับเวลาเพื่อคำนวณปริมาณออกซิเจนที่เหลือในถัง แต่สมาร์ทวอทช์ของการ์มินรุ่น Descent MK1 ที่ออกแบบมาเพื่อการดำน้ำนั้น จะแสดงทั้งปริมาณก๊าซในถัง ตำแหน่งความลึก ไปจนถึงทิศทางใต้น้ำ และผู้สวมใส่ยังสามารถเช็คข้อมูลสภาพอากาศและใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือบนผิวน้ำได้อีกด้วย

“นาฬิการูปแบบเดิมจะค่อยๆ หายไป เพราะมันบอกอะไรไม่ได้เลยเมื่อเทียบกับสมาร์ทวอทช์พวกนี้ การ์มินเป็นมากกว่าแค่อุปกรณ์กีฬา เราคือแบรนด์ไลฟ์สไตล์ สำหรับการ์มินแล้ว ความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นเรื่องของวันวาน เราคิดแค่ว่าวันนี้เราจะสร้างแรงกระเพื่อมในวงการสมาร์ทวอทช์ได้ยังไง” ไกรรพกล่าว เขายังเสริมด้วยว่า ในปีที่ผ่านมา การ์มินได้เซ็นสัญญาร่วมกับบริษัทประกันรายใหญ่ในประเทศ เพื่อมอบส่วนลดเบี้ยประกันพิเศษให้กับลูกค้า หากข้อมูลบนสมาร์ทวอทช์ เช่น อัตราการเคลื่อนไหวของร่างกาย ประสิทธิภาพในการนอนหลับ หรืออัตราการเต้นของหัวใจ นั้นบ่งชี้ว่าผู้สวมใส่ดูแลสุขภาพและออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ความสำเร็จในระยะยาว อาจเป็นการทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสมาร์ทวอทช์นั้นสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยมได้ไม่แพ้นาฬิกาโรเล็กซ์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสมาร์ทวอทช์นั้นเติบโตไปอย่างรวดเร็ว มีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Apple, Fitbit, Huawei หรือกระทั่งการ์มินเอง แต่ความสำเร็จในระยะยาว อาจเป็นการทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสมาร์ทวอทช์นั้นสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยมได้ไม่แพ้นาฬิกาโรเล็กซ์ “สุดท้ายแล้วนาฬิกาก็คือเครื่องประดับ ผมอยากให้คนมองสมาร์ทวอทช์ในแบบเดียวกัน” ไกรรพกล่าว

ความพยายามดังกล่าวดูจะส่งผลอยู่บ้าง อย่างนาฬิกา Apple Watch ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 นั้น ได้ขึ้นแท่นเป็นสมาร์ทวอทช์ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล หลังวางจำหน่ายได้เพียง 3 เดือน โดยในขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์​ ทางแอปเปิ้ลได้ดึงตัวแอนเจลา อาห์เรนท์ส อดีตซีอีโอแห่งBurberry มาร่วมงานด้วย แต่สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ความนิยมของแอปเปิ้ลวอทช์นั้นพรุ่งพรวด น่าจะมาจากภาพลักษณ์แบรนด์ที่ดูหรูหราอยู่แล้วมากกว่า เพราะไม่ว่าแอปเปิ้ลจะเปิดตัวโทรศัพท์มือถือ หูฟัง หรือคอมพิวเตอร์รุ่นล่าสุดออกมา ผู้คนก็ต่างแย่งกันจับจองเป็นเจ้าของ จนสินค้าที่มีโลโก้รูปแอปเปิ้ลนั้นกลายเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะของผู้ใช้ไปโดยปริยาย

แบรนด์อื่นๆ อาทิ การ์มิน ซัมซุง และฟิทบิท นั้นไม่ได้โชคดีเท่านี้ ผู้เล่นแต่ละรายต้องหาทางสถาปนา ‘ความเท่’ ให้กับสินค้าในแบบของตนเอง อย่างฟิทบิท ซึ่งถือเป็นคู่แข่งรายสำคัญของการ์มิน ก็ได้เปิดตัว Versa สมาร์ทวอทช์ที่มาพร้อมหน้าปัดสี่เหลี่ยมมนและตัวเรือนไทเทเนียม ซึ่งดูเผินๆ แล้วให้อารมณ์คล้ายแอปเปิ้ลวอทช์ ส่วนจุดเด่นของการ์มิน ทั้งในซีรีส์ MARQ เองและรุ่นอื่นๆ ที่รองลงมาอย่าง Fenix, Instinct และ vivo series คือการแสดงออกของความเรียบหรูทั้งในแง่ดีไซน์และวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นขอบหน้าปัดสีทอง สายรัดข้อมือหนัง หรือหน้าปัดเข็มนาฬิกาจริงภายใต้จอทัชสกรีนแบบซ่อน (เฉพาะในรุ่น Vivomove)

ในมุมมองของอติชาญ เชิงชวโน หรือ ‘อู๋’ นักรีวิวชื่อดังสายเทคโนโลยีและไลฟสไตล์แห่งเพจ Spin9 และอดีตพิธีกรรายการ DigiLife เห็นว่าอุปกรณ์อย่างฟิตเนสแทรกเกอร์และสมาร์ทวอทช์นั้นตอบกับตลาดในบ้านเราเพราะกระแสสุขภาพและการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกีฬาวิ่ง ที่ได้รับความนิยมอย่างพุ่งพรวดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งสายวิ่งแทบทุกคนต้องมีนาฬิกาข้อมือของการ์มินหรือฟิทบิทไว้ในครอบครอง และคนยังนิยมแชร์ข้อมูลการออกกำลังกายของตัวเองที่บันทึกได้บนสมาร์ทวอทช์ลงบนโซเชียลมีเดียอีกด้วย

อย่างไรก็ดี อติชาญเชื่อว่าในอนาคต อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะจะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในรูปแบบของนาฬิกาอีกต่อไป “อีก 5-10 ปีอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะอาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือนนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือแล้ว เทคโนโลยีจะถูกนำมาผสานเข้ากับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เราอาจได้เห็นคอนแทคเลนส์อัจฉริยะซึ่งแสดงผลข้อมูลต่างๆ ผ่านดวงตาของเรา แทนที่จะเป็นแว่นตา ขนาดของมันจะเล็กลงและกลมกลืนไปกับร่างกายมากขึ้น จนเราอาจลืมไปเลยว่ากำลังสวมใส่หรือใช้งานมันอยู่ และผู้ใช้จะสามารถสั่งการอุปกรณ์เหล่านี้ได้ด้วยเสียงพูดปกติ เหมือนเวลาสื่อสารกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว” เขาอธิบาย

ดูเหมือนว่าภาพแห่งอนาคตนี้จะเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นทุกที เมื่อกูเกิ้ลได้สร้างเสียงฮือฮาในวงการเทคโนโลยีด้วยการเปิดตัวเส้นใยผ้าที่ไวต่อการสัมผัสพร้อมแอปพลิเคชันในชื่อ Jacquard by Google โดยตั้งชื่อตามเครื่องจักรทอผ้าตัวแรกของโลกที่ผลิตขึ้นในปี 1804

ในปี 2019 กูเกิ้ลได้ร่วมมือกับแบรนด์กางเกงยีนส์ Levi’s ในการนำเส้นใยดังกล่าวมาสร้างเป็นแจ็กเก็ตอัจฉริยะที่ดูเผินๆ แล้วเหมือนเสื้อแจ็กเก็ตยีนส์ของลีวายส์ทุกประการ แต่ผู้สวมใส่จะสามารถควบคุมแอปพลิเคชันอย่าง Spotify, YouTube และUber ได้ด้วยการสะบัดข้อมือหรือขยับแขน ขณะที่แบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรีอย่าง Saint Laurent ก็ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในการผลิตกระเป๋าเป้รุ่น Cit-e ซึ่งสามารถควบคุมกล้องบนสมาร์ทโฟนและปักหมุดสถานที่ที่ต้องการด้วยการจับสายกระเป๋าขึ้นลงเบาๆ

อีก 5-10 ปีอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะอาจไม่ได้มีหน้าตาเหมือนนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือแล้ว เทคโนโลยีจะถูกนำมาผสานเข้ากับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่

สิ่งที่อุปกรณ์เหล่านี้ทำได้ดูธรรมดาไปถนัดตา เมื่อเทียบกับนาฬิกาซีรีส์ MARQ ของการ์มิน ซึ่งมาพร้อมหลากหลายฟังก์ชัน อาทิ เรดาร์ตรวจวัดสภาพอากาศ ข้อมูลภูมิประเทศ แผนที่สกีทั่วโลก และตัวช่วยวิเคราะห์วงสวิงกอล์ฟ แต่จุดที่สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญให้กับเสื้อแจ็กการ์ด บาย กูเกิ้ลหรือกระเป๋าเป้อัจฉริยะของแซงต์ โลรองต์ คือเราไม่สามารถบอกได้เลยว่านี่คืออุปกรณ์อัจฉริยะ เพราะมันดูเหมือนเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในชีวิตประจำวันอย่างไรอย่างนั้น

แวดวง wearable technology ยิ่งน่าจับตาขึ้นไปอีก เมื่อปีนี้ บริษัท Mojo Vision ได้เปิดตัวต้นแบบคอนแทคเลนส์อัจฉริยะคู่แรกของโลก ซึ่งฉายภาพไปยังจอประสาทตาของผู้สวมใส่โดยตรง ปัจจุบันคอนแทคเลนส์อัจฉริยะของโมโจ วิชัน ยังทำได้เพียงฉายภาพความละเอียดต่ำของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แต่ผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งประกอบด้วยอดีตผู้บริหารจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิ้ล ก็เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คอนแทคเลนส์ของพวกเขาจะมาพร้อมฟังก์ชันควบคุมเหมือนบนสมาร์ทโฟน และช่วยให้ผู้สวมใส่มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนหรือไกลขึ้น แม้บริษัทอาจยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะสามารถพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะนี้ได้สำเร็จ แต่โปรเจกต์ดังกล่าวก็ได้รับเงินทุนสนับสนุนแล้วกว่า 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบรรดายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในซิลิคอนแวลลีย์

อย่างไรก็ดี ไกรรพมองว่าการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าวต้องกระทำอย่างมีขอบเขต “ถ้าไปไกลเกิน เราอาจจะได้เห็นเทคโนโลยีที่ฝังเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งตอนนี้ยังฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีจะฉลาดขึ้น และมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ อุปกรณ์อย่างคอนแทคเลนส์ แว่นตา หรือเสื้อผ้าอัจฉริยะนั้นไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม สิ่งสำคัญคือมันต้องใช้งานง่าย ไม่ทำให้อึดอัด และช่วยให้ผู้สวมใส่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ทรงพลังกว่าอย่างสมาร์ทโฟน หรือรถยนต์ได้อย่างราบรื่น” เขากล่าว

เมื่อต้นปี 2019 การ์มินได้ประกาศความร่วมมือกับเมอร์เซเดสเบนซ์ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน เพื่อออกแบบเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมยานพาหนะได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเมื่อสมาร์ทวอทช์ของการ์มินถูกเชื่อมต่อเข้ากับแอปพลิเคชัน Mercedes Me บนรถยนต์แล้ว ระบบจะตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับความเครียดของผู้ขับขี่ รวมทั้งมีฟังก์ชันปรับเปลี่ยนอุณหภูมิในห้องโดยสาร และเปิดปิดเบาะนวดไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้หากสมาร์ทวอทช์ตรวจพบว่าผู้ขับขี่กำลังประสบภาวะหัวใจล้มเหลวหรือปัญหาสุขภาพเฉียบพลัน ระบบจะเปิดใช้งานโหมดไร้คนขับทันที “ร่างกายของมนุษย์และเทคโนโลยีจะทำงานอย่างสอดประสานกัน นี่คือวิถีแห่งอนาคต” ไกรรพกล่าว

อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์เลย หากมนุษย์ไม่หยิบมันขึ้นมาสวมใส่หรือพกติดตัว หัวใจที่นำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรม wearable technology ตามความเห็นของไกรรพและอติชาญ คือการทำให้อุปกรณ์เหล่านี้เชื่อมต่อกับร่างกายของมนุษย์ได้ราวกับเป็นอวัยวะส่วนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคงความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ และไม่คุกคามหรือล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว

“เดี๋ยวนี้สมาร์ทวอทช์เริ่มทำบางอย่างได้มากกว่าโทรศัพท์มือถือแล้ว มันสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ติดตามผลการออกกำลังกาย หรือกระทั่งส่งที่อยู่ของเราไปให้ญาติหรือโรงพยาบาลหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เพียงพอที่จะทำให้คนใส่สมาร์ทวอทช์ติดตัว ส่วนรุ่นที่ไม่สามารถทำได้เท่านี้ก็อาจต้องลงเอยด้วยการอยู่ในลิ้นชัก” อติชาญกล่าว

เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดหรือทรงพลังไปกว่านี้อาจฟังดูน่าสะพรึงกลัว คงไม่ต่างจากที่หลายคนหวั่นเกรงแสนยานุภาพของปัญญาประดิษฐ์ แต่อนาคตก็กำลังไล่ล่าเรามาติดๆ ดังที่ เก๊บ นีเวลล์ แห่ง Valve บริษัทพัฒนาเกมและซอฟต์แวร์สัญชาติอเมริกัน เคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า “ชีวิตจริงของเราอาจเข้าใกล้ฉากในหนังเดอะเมทริกซ์มากกว่าที่คิด”

Essentials


Fitbit Versa 2

ราคาประมาณ 8,500 บาท

fitbit.com/th/versa

Garmin The MARQ Collection

ราคา 55,990 - 92,990 บาท

garmin.co.th/minisite/marq

Levi’s Trucker Jacket with Jacquard by Google

ราคาประมาณ 6,500 บาท

atap.google.com/jacquard

Saint Laurent Cit-e Backpack

ราคาประมาณ 32,500 บาท

bit.ly/2VgQAnS