SECTION
ABOUTCOMMON PURPOSE
Uncommon Thread
คู่หูผู้อยู่เบื้องหลัง Ausara Surface ได้ค้นพบเส้นทางในการหลอมรวมโลกแห่งโลหะและสิ่งทอเข้าด้วยกันในรูปแบบที่หลายคนคาดไม่ถึง
29 กุมภาพันธ์ 2567
หากถามถึงความทรงจำในวัยเด็กของจารุพัชร อาชวะสมิต คงมีการกล่าวถึงเครื่องจักรเย็บผ้าที่เธอเกือบทำพังไปจำนวนนับไม่ถ้วน การเติบโตในบ้านที่มียายเป็นช่างเย็บผ้าและทำงานให้กับซิงเกอร์ ทำให้บ้านของเธอเต็มไปด้วยจักรเย็บผ้าซิงเกอร์ที่นำเข้ามาขายในไทย และเด็กน้อยช่างสงสัยก็ได้เริ่มก้าวเข้าสู่วงการสิ่งทออย่างไม่รู้ตัว
“เรามักจะเดินดูรอบๆ เล่นแป้นเหยียบจักร แล้วก็ทำเข็มหักหมด ตอนนั้นเราเป็นเด็กซนมาก ช่วงเราอายุประมาณ 3 ขวบ ยายคงรู้สึกว่าพอกันที ก็เลยจับมานั่งตักแล้วก็สอนวิธีเย็บผ้าให้ นั่นคือจุดเริ่มต้นทั้งหมด” จารุพัชรเล่าถึงวัยเด็กของเธอพร้อมกับรอยยิ้ม
ไม่กี่ปีหลังจากนั้น จารุพัชรก็ได้รับบทเรียนเปลี่ยนชีวิตอีกบทโดยบังเอิญจากตัวการ์ตูนแมวสีขาวชื่อดังอย่างเฮลโล คิตตี้ ขณะรอแม่ผู้เป็นนักวิชาการโรคพืชที่เชี่ยวชาญด้านการทำวิจัยเกี่ยวกับถั่วเหลืองทำงานในห้องแล็บให้เสร็จในคืนหนึ่ง
“จำได้ว่าตอนนั้นเราเอาผ้าเช็ดหน้าเฮลโล คิตตี้สีแดงไปส่องกล้องจุลทรรศน์แล้วก็รู้สึกว้าวไปเลย เพราะมันขยายขนาดถึง 150 เท่าจนเห็นโครงสร้างในการถักทอทั้งหมด มันเป็นภาพที่สวยงามจนเรารู้สึกทันทีว่า เราจะเรียนการทอผ้าให้ได้” จารุพัชรย้อนรำลึกถึงจุดเริ่มต้นความสนใจ
ด้วยวัยเด็กของเธอที่แวดล้อมด้วยผืนผ้าและคนที่มีทักษะความชำนาญในด้านนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ความหลงใหลของจารุพัชรนั้นเกิดจากเส้นด้ายหลายเส้นที่ค่อยๆ ถูกถักทอร้อยเรียง ในช่วงปีแรกเริ่ม ก่อนเข้าสู่เส้นทางการศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อันเป็นช่วงเวลาที่จารุพัชรหมกตัวอยู่กับการออกแบบสิ่งทอ เซรามิก และเฟอร์นิเจอร์ที่คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ และได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านศิลปกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ตามด้วยการวิจัยด้านการออกแบบสิ่งทอที่ Central Saint Martins มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่างมากในกรุงลอนดอน
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ต่างแดน จารุพัชรยังคงติดต่อเพื่อนสนิทอย่างโชษณ ธาตวากร ผู้เป็นรุ่นน้องที่เรียนสาขาออกแบบมาด้วยกัน และเติบโตมาในครอบครัวและสังคมที่เปี่ยมความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน ในวัยเด็ก โชษณมักใช้เวลาหลายชั่วโมงไปกับการแยกชิ้นส่วนและประกอบข้าวของในบ้าน ไม่ก็ลองจุดไฟ หรือเล่นกับปฏิกิริยาทางเคมีอย่างเช่นการออกซิเดชั่นของผัก
“ตอนเด็กๆ มันไม่ได้มีอะไรให้เล่นมากนัก เวลาเล่นส่วนใหญ่จึงกลายเป็นการทดลองเรื่องนั้นเรื่องนี้ ครอบครัวของผมคอยสนับสนุนผมตลอด ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ปลื้มสักเท่าไรที่ผมเกือบจะเผาบ้านตัวเอง จนกระทั่งผมได้เรียนด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัย ผมถึงเข้าใจว่า สิ่งที่ผมทดลองผิดลองถูกมาตลอดนั้นคืออะไร” โชษณเล่า
จารุพัชรได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านสิ่งทออย่างเต็มที่ ในขณะที่โชษณใช้ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริม จนทำให้ทั้งสองคนเคี่ยวกรำชิ้นงานที่โดดเด่นไม่ซ้ำใครได้
หลังจบจากมหาวิทยาลัยด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ในสาขาเซรามิกและสิ่งทอ โชษณได้รับโอกาสที่ดีมากในการเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้ทำงานร่วมกับอเล็กซานเดอร์ ลามอนท์ ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษที่มีเวิร์กช็อปในกรุงเทพฯ เขาจึงมีโอกาสออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ไฟ และของตกแต่งภายในโดยใช้วัสดุหายาก เมื่อจารุพัชรกลับมาอยู่เมืองไทยและเริ่มงานสอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โชษณก็ได้ชวนจารุพัชรมาทำงานร่วมกันในโปรเจกต์ของลามอนท์ และนั่นคือช่วงที่เมล็ดพันธุ์ของไอเดียธุรกิจล้ำสมัยของทั้งคู่ได้ถูกบ่มเพาะและรอวันเบ่งบาน
“โชษณมองเห็นช่องว่างทางการตลาดสำหรับสินค้าผ้าทอในแนวดิ่ง (vertical textile) ที่เรายังไม่เห็นว่ามีใครทำในไทย เขาพูดว่านี่เป็นโอกาสใหญ่นะ มาลองดูกัน จากนั้นเราสองคนก็เริ่มทดลองกับวัสดุหลายแบบ ส่วนตัวเราเองเคยศึกษาเรื่องการทอโลหะตั้งแต่ตอนเรียนที่เซ็นทรัล แซงต์มาร์ติน และเคยทำเครื่องแต่งกายจากทองแดงมาแล้ว โชษณเลยนำทองแดงคุณภาพสูงจากวิศวกรที่เขาทำงานด้วยมาใช้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของอุสรา เซอร์เฟส” จารุพัชรเล่าถึงที่มาของธุรกิจที่ทั้งสองคนทำร่วมกัน
ทั้งคู่ต้องพบกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเริ่ม โดยอุปสรรคแรกที่เจอคือ การหาโรงงานทอผ้าในช่วงของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญมาก แต่โรงงานทอผ้าส่วนใหญ่เลือกที่จะรับงานจากคู่ค้าที่สั่งผลิตคราวละ 50,000 หลาขึ้นไป ในขณะที่อุสรา เซอร์เฟสต้องการเพียง 5-10 หลาต่อหนึ่งการผลิต ประกอบกับอุปสรรคอื่นๆ ที่ทับถมจนทั้งคู่เกือบท้อ จนกระทั่งโชคเริ่มเข้าข้างจารุพัชรและโชษณ เมื่อบริษัทผลิตเสื้อผ้ากีฬาขนาดใหญ่สองแห่งได้ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเป็นเวียดนาม ทำให้โรงงานทอผ้าในประเทศมีกำลังการผลิตเกินกว่าความต้องการในตลาดมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์
“อยู่ดีๆ เครื่องทอผ้าจำนวนมากมายในโรงงานก็ถูกตั้งทิ้งไว้เฉยๆ ไม่มีใครใช้งาน โรงทอผ้าทั้งหลายจึงหันมารับงานเรา และทุ่มเทเวลาในการทำงานกับเรา ถ้าไม่ใช่เพราะโชคช่วยเราไว้ ทั้งหมดนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น” จารุพัชรกล่าว
ในปีแรกของอุสรา เซอร์เฟส โชษณไม่ละความพยายามที่จะชักชวนคนในแวดวงเดียวกันให้มาร่วมลงทุนและตั้งบริษัทด้วย แต่หลังจากถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง ทั้งคู่จึงเลือกที่จะก้าวต่อไปด้วยตัวเอง จนถึงวันนี้ อุสรา เซอร์เฟสก็ยังคงนำทัพโดยจารุพัชรและโชษณที่เป็นตัวหลัก พ่วงด้วยทีมช่างทอทีมเล็กๆ ที่ทำงานอย่างทุ่มเทเต็มกำลัง
ทักษะที่แตกต่างแต่เสริมกันของทั้งคู่เป็นกุญแจความสำเร็จของอุสรา เซอร์เฟส นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2013 จารุพัชรได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านสิ่งทออย่างเต็มที่ ในขณะที่โชษณใช้ความถนัดด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริม จนทำให้ทั้งสองคนเคี่ยวกรำชิ้นงานที่โดดเด่นไม่ซ้ำใครได้ โดยมุ่งเน้นการผลิตผ้าทอเส้นใยโลหะเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผนัง ม่านกันแดด ฉากกั้นห้อง และประติมากรรมแบบแขวน
พวกเขาได้ร่วมกันขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของผ้าทอโลหะ แปลงโฉมวัสดุที่พบเห็นได้ทั่วไปให้กลายเป็นศิลปะชิ้นพิเศษ สู่การมีส่วนร่วมในการช่วยแบ่งเบาภาระของสิ่งแวดล้อม
หลังจากที่ทั้งสองคนทำตัวอย่างงานชุดแรกเสร็จไม่นาน พวกเขาก็ได้รับคำสั่งซื้อจาก PIA บริษัทตกแต่งภายในชื่อดังของไทย และต่อมาไม่กี่เดือน งานของจารุพัชรและโชษณก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของล็อบบี้และห้องของแอชตัน สีลม ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นหนึ่งในโครงการคอนโดมิเนียมที่แพงที่สุดในประเทศ
“ในช่วงนั้น เราทั้งคู่ก็สงสัยเหมือนกันว่าคนทั่วไปจะมองชิ้นงานที่แหวกแนวจากขนบทั่วไปของเราอย่างไร แต่กลายเป็นว่าลูกค้าเจ้าแรกๆ ก็ให้ความเชื่อมั่นมาก จนบางครั้งเรายังคิดว่าลูกค้าก็ใจกล้าบ้าบิ่นไม่ใช่เล่นๆ” จารุพัชรเล่าถึงความรู้สึกในช่วงแรกเริ่ม
เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งคู่ก็ถึงช่วงขาขึ้นอย่างเต็มตัว มีลูกค้าที่หลากหลายขึ้น ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคาร์เทียร์หรือจิม ทอมป์สัน ไปจนถึงกลุ่มธุรกิจโรงแรมหรูอย่างโรสวูด, โฟร์ ซีซั่นส์, แชงกรี-ลา และ เดอะ สแตรนด์ ที่รับงานดีไซน์อันแปลกใหม่ของพวกเขามาเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่ง และทั้งจารุพัชรและโชษณยังคงมุ่งมั่นในการขยายขอบเขตของตัวเองอย่างต่อเนื่อง
วิธีสร้างสรรค์ชิ้นงานที่แตกต่างและโดดเด่นของอุสรา เซอร์เฟส ปรากฏให้เห็นในงานสองประเภทหลัก คือ งานประติมากรรมลอยตัวและแผงตกแต่งผนัง โดยประติมากรรมลอยตัวเป็นการใช้ผ้าทอจากโลหะที่ให้ความเงางาม แวววาว และดูหรูหรา พร้อมน้ำหนักที่เบา ทำให้ติดตั้งได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างเสริมเพื่อช่วยพยุง เป็นการผสมผสานอย่างงดงามระหว่างสุนทรียภาพและการใช้งาน ในส่วนของแผงตกแต่งผนัง พวกเขาใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของผ้าทอจากโลหะที่สามารถดัดเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ ผสานกับการเคลือบเงา ดัดรูปทรงอย่างประณีตจนออกมาเป็นชิ้นงานตกแต่งผนังที่มีกลิ่นอายคล้ายศิลปะโอริกามิ
โชษณใส่ใจอย่างมากกับเรื่องกระบวนการสร้างชิ้นงานอย่างละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเรื่องเทคนิคการทำพาติน่าหรือการเคลือบผิวโลหะ โดยอยู่บนพื้นฐานของ ‘ความแท้จริงและธรรมชาติของวัสดุ’ เขาคอยระมัดระวังเรื่องความสมดุลของกระบวนการต่างๆ จนได้ผลลัพธ์เป็นสเปกตรัมหลากสีที่เกิดจากกระบวนการทางเคมีและความร้อน
“ชิ้นงานของเรามีส่วนผสมของวิทยาศาสตร์ครึ่งหนึ่งและของศิลปะอีกครึ่งหนึ่ง และเราก็ทำหน้าที่เป็นทั้งนักเคมีและศิลปินในการสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงาม” โชษณกล่าว
วิธีการที่แตกต่างเพียงเล็กน้อยกลับเป็นสิ่งที่สร้างจุดเด่นให้กับอุสรา เซอร์เฟส โดยโชษณได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของแบรนด์ใหญ่ในอเมริกาและยุโรปที่เริ่มผลิตสินค้าด้วยตัวเองน้อยลง ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ แบรนด์เหล่านี้ให้ความสำคัญกับการประดิษฐ์สินค้าและคอนเซ็ปต์ใหม่ และมักได้รับอิทธิพลจากงานดีไซน์แบบฝรั่งเศส แต่ในปัจจุบัน แบรนด์ต่างๆ ผันจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าด้วยตัวเอง มาสร้างเพียงตัวอย่างสินค้า และส่งให้โรงงานในจีน อินเดีย หรือเม็กซิโกเป็นผู้ผลิต ซึ่งโชษณเห็นว่า การจ้างผลิตทำให้สินค้าออกมาเหมือนๆ กัน จนความมีเอกลักษณ์เริ่มหดหาย ทั้งๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมออกแบบ ซ้ำด้วยช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่จีนเกิดปัญหาด้านการผลิตอันเนื่องมาจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ยิ่งต้องดิ้นรนกับการจำกัดต้นทุนการผลิต
วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อหลายด้านของธุรกิจ ในช่วงที่โลกจำเป็นต้องหยุดนิ่ง จารุพัชรมีเวลาเหลือเฟือในการนั่งคิดกับตัวเอง เธอเดินทางจากกรุงเทพฯ มาพักใจที่หัวหิน และจารุพัชรเดินเล่นริมหาดในยามเย็นเป็นประจำเพื่อหาความสบายใจ แต่กลับต้องขุ่นหมองเมื่อเห็นเศษขยะที่กระจายบนชายหาดที่ทอดยาวอย่างไม่ขาดสาย
“พอเราเห็นว่าคลื่นทุกลูกที่ซัดมายังชายฝั่งนั้นได้พาพลาสติกและเศษขยะอื่นๆ ขึ้นมาด้วยทุกครั้ง ตอนนั้นเรารู้สึกสงสารท้องทะเล และอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อดูแลโลกของเราอย่างจริงจัง” จารุพัชรเล่าถึงการตัดสินใจมุ่งหน้าสู่ธุรกิจรักษ์โลกอย่างเต็มตัว
แม้ว่าชิ้นงานของอุสรา เซอร์เฟสนั้นมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เนื่องด้วยวัตถุดิบหลักที่เป็นโลหะที่สามารถรีไซเคิลได้เกือบทั้งหมด ทั้งยังเน้นการใช้พาติน่าแทนการใช้สารย้อมสี แต่อุสรา เซอร์เฟสก็ได้ก้าวสู่ความยั่งยืนไปอีกขั้นด้วยเน้นใช้วัสดุและกระบวนการที่ยั่งยืนในการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะขยะที่เกิดจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีปริมาณมากในประเทศไทย อย่างเช่นเปลือกข้าวโพด ซึ่งมักไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้อีก แม้แต่การใช้เป็นอาหารสัตว์ก็ตาม ก็จะถูกนำมารีดจนแบน จากนั้นจึงผสมผงโลหะเข้าไป สร้างเป็นวัสดุที่ขึ้นรูปได้ชิ้นใหม่เพื่อใช้งานต่อ ไม่ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองขยะ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนยิ่งขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเพียงการตัดสินใจภายในบริษัทเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอบโจทย์ความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ซึ่งจารุพัชรได้เล่าว่า แบรนด์หรูและโรงแรมห้าดาวที่เคยลังเลในการโฆษณาว่าของที่ใช้ทำขึ้นจากวัสดุรีไซเคิล กลับกลายเป็นชูเรื่องนี้ให้ผู้คนได้รับรู้อย่างทั่วถึง
“เราโชคดีเพราะว่าเราทำงานกับแบรนด์หรูเป็นส่วนใหญ่ และพวกเขาพร้อมจ่ายเพิ่มเพื่อกระบวนการที่รักษ์โลกมากขึ้น แต่แบรนด์ในตลาดมวลชน (mass market) อาจยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ วัสดุรีไซเคิลยังสู้วัสดุผลิตสดใหม่อย่างพลาสติกไม่ได้ เราจึงต้องสู้กับความเสียเปรียบนี้ด้วยการประหยัดจากขนาด (economies of scale)”
เด็กซนสองคนที่เล่นและทดลองสิ่งต่างๆ อย่างไร้จุดหมาย ได้เดินทางตามความอยากรู้อยากเห็น จนกลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นอันโดดเด่นในแวดวงออกแบบไทย พร้อมจุดหมายที่ไปไกลกว่าแค่การพาธุรกิจให้เติบโต พวกเขาได้ร่วมกันขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของผ้าทอโลหะ แปลงโฉมวัสดุที่พบเห็นได้ทั่วไปให้กลายเป็นศิลปะชิ้นพิเศษ สู่การมีส่วนร่วมในการช่วยแบ่งเบาภาระของสิ่งแวดล้อม ที่ทั้งจารุพัชรและโชษณยังคงให้ความสำคัญต่อไป ■