SECTION
ABOUTCOMMON PURPOSE
What’s in the News
ในขณะที่สื่อกระแสหลักในประเทศไทยมักถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณภาพและความโปร่งใสด้วยข้อจำกัดด้านเสรีภาพสื่อ นักข่าวคนหนึ่งกำลังปูเส้นทางของตัวเองสู่ความเป็นอิสระในการนำเสนอประเด็นที่สำคัญต่อปากท้องผู้คนอย่างแท้จริง
31 สิงหาคม 2567
หลังนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทยและคณะรัฐมนตรีสัญจรเดินทางไปเยือนจังหวัดพะเยาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลก็ได้ประกาศคำมั่นสัญญาทางเศรษฐกิจมากมาย รวมถึงงบประมาณ 300 ล้านบาทสำหรับโครงการพัฒนาพะเยาและพื้นใกล้เคียง ซึ่งอาจรวมถึงโครงการสนามบินแห่งใหม่ของประเทศไทย
การประกาศถึงโครงการพัฒนานี้ทำให้พะเยาได้เปลี่ยนจากเมืองรองนอกสายตากลายเป็นจุดสนใจในระดับประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมาพะเยาเป็นจังหวัดที่เสมือนว่าอยู่ใต้เงามืดของเพื่อนบ้านอย่างเชียงใหม่หรือเชียงรายที่ส่องแสงสว่างดึงดูดความสนใจจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ แม้พะเยาจะมีธรรมชาติอันงดงามไม่แพ้จังหวัดอื่น ทั้งยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจน จากการเป็นจังหวัดที่อยู่นอกกระแสมาเนิ่นนาน ชุมชนหลายแห่งในพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่หนักหนา โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงสิ่งจำเป็นอย่างเช่นน้ำสะอาด
หนึ่งในชุมชนเหล่านั้นคือบ้านเกิดของปิยะภรณ์ วงศ์เรือง สถานที่ที่ทำให้เปิยะภรณ์ค้นพบความปรารถนาของตนตั้งแต่อายุยังน้อย โดยท่ามกลางประสบการณ์ตรงถึงการต่อสู้ดิ้นรนเหล่านั้น ปิยะภรณ์ได้เติบโตขึ้นมาเป็นนักข่าวอาชีพและเป็นผู้ก่อตั้งสำนักข่าว Bangkok Tribune ที่ต้องการ ‘เชื่อมโยงและขยายเสียง’ ให้คนตัวเล็กในมุมเล็กๆ ของประเทศที่มีแต่ข่าวเน้นการเรียกเสียงฮือฮา
“ช่องว่างระหว่างการดิ้นรนเพื่อเรื่องพื้นฐานในหมู่บ้านของเรากับความเจริญของเมืองใหญ่ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากลึก หมู่บ้านของเราอยู่ติดกับกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย แต่เรากลับขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค เราต้องพึ่งพาบ่อน้ำที่ขุดเองและน้ำประปาที่ต่อท่อมาจากภูเขา มันชัดเจนว่าไม่สมเหตุสมผลเลย นอกจากเรื่องนี้ การเข้าถึงสิ่งจำเป็นอื่นๆ อย่างที่ดิน การศึกษา และสุขภาพก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเรา” ปิยะภรณ์เล่า
ชุมชนที่เธอเติบโตมานั้นขาดแคลนทั้งทรัพยากรทางการเงินและโอกาส ทำให้ปิยะภรณ์เข้าใจอย่างแจ่มชัดถึงความจริงอันโหดร้ายของครอบครัวและเพื่อนบ้านที่ต้องหาเลี้ยงชีพแบบให้พออยู่รอดแบบวันต่อวัน บางคนอาจก้มหน้ายอมรับสภาพความเป็นอยู่เช่นนี้เพราะมองว่าเป็น ‘เวรกรรม’ ของตน แต่ความยากลำบากได้จุดประกายให้ปิยะภรณ์มุ่งมั่นเผชิญหน้ากับความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างจากระบบที่ฝังรากอยู่ภายในสังคม และต้องการลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้
ความทะเยอทะยานนี้ได้ผลักดันให้ปิยะภรณ์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลายเป็นคนแรกในหมู่บ้านที่เข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ปิยะภรณ์เลือกเรียนด้านวารสารศาสตร์ เป็นการเตรียมเครื่องมือและเพิ่มพูนความรู้ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเส้นทางอาชีพของเธอในภายหลัง
หลังจากได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านสิ่งแวดล้อมในนิวซีแลนด์ ปิยะภรณ์ได้กลับมาไทยและทำงานกับเดอะ เนชั่นอยู่สี่ปี ก่อนย้ายไปทำงานที่บางกอกโพสต์ราวสิบปี ตลอดช่วงเวลานั้น เธอได้นำเสนอประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเมืองสู่สายตาผู้อ่าน เป็นจุดเริ่มต้นให้ปิยะภรณ์ได้ส่องแสงไปยังปัญหาสังคมไทยและสิ่งแวดล้อมที่มักถูกละเลย บทบาทต่อมาของเธอในฐานะบรรณาธิการข่าวการเมืองที่เดอะ เนชั่นอีกครั้งในระหว่างปี 2015-2020 ยิ่งตอกย้ำความตั้งใจของเธอต่อประเด็นเหล่านี้ ท่ามกลางฉากหลังของประเทศที่มีความขัดแย้งด้านสังคมและการเมือง
หมู่บ้านของเราอยู่ติดกับกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย แต่เรากลับขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค เราต้องพึ่งพาบ่อน้ำที่ขุดเองและน้ำประปาที่ต่อท่อมาจากภูเขา มันชัดเจนว่าไม่สมเหตุสมผลเลย
“เราต้องการนำเสนอประเด็นที่ถูกมองข้ามเหล่านี้ให้เป็นที่สนใจมากขึ้น อยากเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองและความเหลื่อมล้ำของบ้านเรา ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้สื่อสารและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอีกด้วย เพราะหากยังมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่มีส่วนร่วมทางการเมืองได้ หรือผู้คนไม่เข้าใจถึงการโอบรับความแตกต่าง ชุมชนเล็กๆ จะเรียกร้องสิทธิในการใช้ทรัพยากรส่วนรวมได้ยาก นี่คือเรื่องที่สั่นคลอนพื้นฐานของประชาธิปไตยที่คนไม่ค่อยสังเกตเห็น” ปิยะภรณ์อธิบายถึงความตั้งใจของตน
ปิยะภรณ์มองว่า สื่อหลักในประเทศไทยยังขาดศักยภาพในการสื่อสารถึงปัญหาสำคัญและสนับสนุนความเปลี่ยนแปลง เพราะสื่อกระแสหลักมักโฟกัสเพียงเรื่องเล่าด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่มีพาดหัวข่าวน่าตกใจ แต่ไม่ค่อยกล่าวถึงประเด็นเชิงโครงสร้างที่น่าเป็นห่วงของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากนัก ทำให้ขอบเขตของวาทกรรมสาธารณะจำกัด วงจรแห่งการละเลยปัญหาจึงดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ แม้ยังมีปัญหาจำนวนมากที่จำเป็นต้องถูกแก้ไขอย่างเร่งด่วน
“ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีทำให้วงการสื่อสารมวลชนอ่อนแอลงอย่างมาก ผู้คนต้องแข่งขันกันมากขึ้น แต่มีรายได้ลดลง ส่งผลให้หลักการสำคัญของอาชีพนี้ที่ว่า ข่าวไม่ควรมีไว้เพื่อขาย แทบไม่สามารถใช้ในยุคสมัยนี้ได้อีกต่อไป” ปิยะภรณ์กล่าว
ปิยะภรณ์ทำให้เห็นสิ่งที่ความจริงผู้คนก็สังเกตได้อยู่กับตาตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในโซเชียลมีเดีย ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปนั้นทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงเงินจากการโฆษณา ทั้งยังเกิดตลาดผู้ซื้อ ‘คอนเทนต์’ ที่เอาจริงๆ ก็สามารถกลายเป็นการโฆษณาแบบแนบเนียนได้ นอกจากนี้ การสร้างพื้นที่สื่อยังกลายเป็นเรื่องง่ายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพียงมีเว็บไซต์หรือเพจโซเชียลมีเดียก็แต่งตั้งตนเองเป็นสื่อได้แล้ว ความง่ายนี้สร้างภาพลวงตาของการเป็นสื่อ ทั้งที่หลักจริยธรรมด้านเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสอันเป็นหัวใจของความไว้วางใจและเชื่อถือได้กลับไม่ใช่เรื่องที่สื่อให้ความใส่ใจอย่างเคร่งครัดอย่างในอดีต
การเติบโตอย่างมหาศาลของโซเชียลมีเดียได้แย่งเงินโฆษณาจากบริษัทสื่อหลัก ไปสู่บริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก ซึ่งมีรายได้จากโฆษณาเป็นสัดส่วนถึงสองในสามในประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ทำให้มองเห็นได้ไม่ยากถึงสาเหตุที่บริษัทสื่อต้องดิ้นรนหารายได้มาเติมเต็มส่วนที่ถูกแบ่งแย่งไป
การถือกำเนิดขึ้นของเนื้อหาประเภท Branded Content ได้เข้ามาช่วยถ่วงดุลของการโฆษณาผ่านสื่อ โดยบริษัทสื่อจะผลิตและเผยแพร่เนื้อหาแบรนเด็ดคอนเทนต์ตามที่ถูกว่าจ้างโดยบริษัทอื่นบนเว็บไซต์ของสื่อเจ้านั้นเอง แต่จะระบุให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นคอนเทนต์ที่ ‘มีสปอนเซอร์’ อย่างไรก็ตาม ผู้ลงโฆษณาจำนวนไม่น้อยกลับต้องการลบการเปิดเผยเช่นนี้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของตนถูกทำขึ้นภายใต้การว่าจ้าง มีคอนเทนต์จำนวนมากที่เชียร์แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจนออกนอกหน้า แต่กลับไม่ได้มีการแสดงว่าเป็นคอนเทนต์ที่แบรนด์ว่าจ้างมา โดยเฉพาะในสื่อธุรกิจและไลฟ์สไตล์ ในขณะที่บริษัทสื่อที่ไม่ยอมให้มีการอำพรางเช่นนี้ก็ถูกแรงกดดันจากเอเจนซี่โฆษณาที่จะยอมจ่ายเงินให้กับสื่อที่ยอมเท่านั้น
หากยังมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่มีส่วนร่วมทางการเมืองได้ หรือผู้คนไม่เข้าใจถึงการโอบรับความแตกต่าง ชุมชนเล็กๆ จะเรียกร้องสิทธิในการใช้ทรัพยากรส่วนรวมได้ยาก นี่คือเรื่องที่สั่นคลอนพื้นฐานของประชาธิปไตยที่คนไม่ค่อยสังเกตเห็น
บ่อยครั้งผู้รับสารไม่ได้สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ พวกเขามักอ่านหรือรับชมคอนเทนต์และเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและโปร่งใสในทันที ในขณะที่ Reuters Institute for the Study of Journalism ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สำนักข่าวเอกชนส่วนใหญ่ของไทย ‘เซนเซอร์ตัวเอง’ มากกว่าสื่อที่อื่นทั่วไป และการขาดเสรีภาพเช่นนี้อาจดับอนาคตของสื่อคุณภาพหรือนักข่าวผู้มีอุดมการณ์แรงกล้าไปได้เลยทีเดียว รายงานหนึ่งในปี 2022 ของสถาบันรอยเตอร์สเพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์กระทั่งบรรยายถึงลักษณะของสื่อไทยว่าเป็น “สื่อที่กล้าๆ กลัวๆ ที่จะวิจารณ์กลุ่มผู้มีอำนาจ”
เมื่อผิดหวังจากภาพฝันที่วาดไว้ในการทำงานด้านสื่อ ปิยะภรณ์จึงเล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างสื่อรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้หัวข้อสำคัญที่ถูกซุกไว้ใต้พรมนั้นได้รับความสนใจมากขึ้น พร้อมกับความพยายามสนับสนุนให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบออกมาต่อสู้เพื่อตัวเองด้วย เธอเน้นย้ำว่าการสื่อสารมวลชนเป็นบริการสาธารณะมากกว่าสินค้าเชิงพาณิชย์ จึงพยายามสร้างโมเดลใหม่ที่มุ่งเน้นเรื่องความลึกของข้อมูล การโอบรับความแตกต่าง และผลกระทบเชิงบวก ให้เป็นสิ่งที่มาก่อนผลกำไร
การริเริ่มของบางกอก ทริบูน ถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแวดวงสื่อไทย โดยกิจการเพื่อสังคมที่เป็นอิสระแห่งนี้ได้เปิดตัวพร้อมพันธกิจในการนำเสนอประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา และนโยบายสาธารณะอย่างเจาะลึก ซึ่งมักถูกมองข้ามละเลยจากสื่อกระแสหลัก ทั้งยังมีการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณ ประกอบกับทีมงานหลักที่เสริมกำลังด้วยฟรีแลนซ์ พาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์ กับเงินทุนและการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์, ศูนย์พูลิตเซอร์ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม โมเดลการทำงานร่วมกันนี้ได้หลอมรวมมุมมองและความเชี่ยวชาญที่หลากหลายเข้าด้วยกัน ทำให้บางกอก ทริบูนสามารถบอกเล่าประเด็นต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง
หนึ่งในเรื่องราวที่สำคัญที่สุดที่บางกอก ทริบูน ได้กล่าวถึงจนถึงปัจจุบันคือการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับความซับซ้อนด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิรัฐศาสตร์ จากการตรวจสอบและรายงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน บางกอก ทริบูนได้แสดงให้เห็นถึงการละเลยในเรื่องที่สำคัญยิ่งยวดอย่างกระบวนการปรึกษาหน่วยงานในพื้นที่หรือการคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนท้องถิ่น การรายงานข่าวนี้ช่วยขยายประเด็นสำคัญอันเคยเงียบกริบไปสู่ผู้ชมในวงกว้าง และกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงถึงแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ บางกอก ทริบูนยังได้ขยายขอบเขตไปเจาะลึกเรื่องการปฏิรูปการเกษตรและสิทธิในที่ดิน การอนุรักษ์ป่าไม้ การจัดการน้ำ และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย อย่าง Dialogue Forum ของเว็บไซต์ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกัน ในขณะที่รายงานเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าและความหลากหลายทางชีวภาพที่ถดถอยลงเรื่อยๆ ยิ่งช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อย่างบ้านเกิดของปิยะภรณ์
เช่นเดียวกับสื่อส่วนใหญ่ในปัจจุบัน บางกอก ทริบูนก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญด้านการเงิน ในช่วงปีที่ผ่านมา สื่อแห่งนี้ยังคงพึ่งพาเงินสนับสนุนเป็นหลักเพื่อให้อยู่รอด ในขณะเดียวกัน โมเดลการสนับสนุนจากสาธารณะแบบสำนักข่าวระดับโลกอย่างเดอะ การ์เดียนและมองกาเบย์ก็ยังสร้างรายได้ไม่มากนัก
มันมักจะวนกลับมาสู่คำถามเดิมๆ ที่ว่าเราจะทำให้สื่อนี้อยู่รอดได้อย่างไร เราไม่เคยคาดหวังว่าเราจะกลายเป็นสื่อขนาดใหญ่ แต่ก็ยังต้องเดินหน้าต่ออย่างยั่งยืนให้สำเร็จ ซึ่งเราเชื่อว่าการสนับสนุนจากสาธารณชนจะช่วยให้เราอยู่รอดได้
“มันมักจะวนกลับมาสู่คำถามเดิมๆ ที่ว่าเราจะทำให้สื่อนี้อยู่รอดได้อย่างไร เราพยายามมองโลกในแง่ดีและก็เชื่อครึ่งหนึ่งว่าเรายังไปต่อแบบนี้ได้ เราไม่เคยคาดหวังว่าเราจะกลายเป็นสื่อขนาดใหญ่ แต่ก็ยังต้องเดินหน้าต่ออย่างยั่งยืนให้สำเร็จ ซึ่งเราเชื่อว่าการสนับสนุนจากสาธารณชนจะช่วยให้เราอยู่รอดได้ในระยะยาว หากงานของคุณเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ สาธารณชนก็อาจช่วยสนับสนุนคุณเป็นการตอบแทน แต่น่าเสียดายที่โมเดลนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก”
ยิ่งไปกว่านั้น อัลกอริธึมโซเชียลมีเดีย กับบทบาทของเอไอกับเจเนเรทีฟเอไอที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อนได้เร่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการสื่อ ผ่านการหล่อหลอมพฤติกรรมการบริโภคข้อมูลข่าวสารของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก ยูทูป และติ๊กต๊อก ล้วนเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สามารถเห็นได้จากรายงานล่าสุดของสถาบันรอยเตอร์สที่ระบุว่าคนไทยใช้งานติ๊กต๊อกเพื่อการอัปเดตข่าวสารมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ยุคดิจิทัลได้ก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นแหล่งข่าวหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่วัดผลการมีส่วนร่วมของผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การเลือกตั้งในปี 2023 ที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นแหล่งข่าวหลักอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปิยะภรณ์ยังกังวลถึงหลักคุณธรรมของสื่อรูปแบบใหม่นี้
“เรามีแพลตฟอร์มสื่อมากมายแล้ว แต่ยังมีคำถามต่อคุณภาพและปัญหาอีกหลายอย่าง” ปิยะภรณ์กล่าว พร้อมเน้นเพิ่มถึงความจำเป็นที่นักข่าวต้องหลุดพ้นจากข้อจำกัดในที่ทำงานให้ได้ และมีส่วนร่วมกับสาธารณชนโดยตรงเพื่อการนำเสนอข่าวที่เข้มข้นและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
แต่วงการสื่อไทยก็ยังมีแสงสว่างแห่งความหวังให้พอชุ่มชื่นใจบ้าง จากรายงาน Thailand Media Landscape 2023-2024 บ่งบอกว่าบริษัทสื่อล้วนตระหนักถึงความจำเป็นในการเผยแพร่ข่าวสารในช่องทางที่เพิ่มขึ้น เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อดั้งเดิมที่เคยเป็นสื่อหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สู่ช่องทางออนไลน์อย่างเต็มตัว ในขณะที่สื่ออิสระก็ผุดขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้พอมองเห็นโอกาสสู่แวดวงสื่อที่ยืดหยุ่นและหลากหลายได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ปิยะภรณ์ได้สังเกตเห็นว่านักข่าวอายุน้อยในไทยให้ความสนใจกับปัญหาสำคัญระดับโลกและระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นสัญญานแห่งความหวังของอนาคตวงการสื่อที่สดใส พวกเขาพร้อมและกล้าเจาะลึกประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศหรือความไม่เท่าเทียมทางสังคม ถือว่าเป็นต้นกล้าแห่งวงการสื่อที่มีการสืบสวนเรื่องราวจริงจังและสร้างผลกระทบมากขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ศักยภาพนี้เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายในอุตสาหกรรมสื่อก็เป็นปัจจัยจำเป็น
“พวกเราต้องการสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ แม้ว่าเราไม่สามารถแทนที่สื่อกระแสหลักได้ แต่การที่เรานำเสนอทางเลือกเพิ่มให้ผู้คนได้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราสามารถมีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” ปิยะภรณ์กล่าวเสริม และพูดถึงแวดวงสื่อปัจจุบันที่ไม่เพียงแต่ปรับตัวได้ดี แต่ยังเติบโตได้ท่ามกลางความซับซ้อนของยุคดิจิทัลได้อีกด้วย ทิศทางของสื่อยุคใหม่หลายแห่งยังช่วยสร้างเสริมวัฒนธรรมการรายงานข่าวเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน และมอบข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่พวกเขาอย่างแท้จริง
การเดินทางของปิยะภรณ์จากการเติบโตท่ามกลางความเหลื่อมล้ำมาสู่การก่อตั้งกระบอกเสียงชื่อบางกอก ทริบูน เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของพลังของสื่อในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามของปิยะภรณ์ไม่ได้หยุดเพียงการเปล่งเสียงแทนคนตัวเล็ก แต่ยังมุ่งส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อมวลชนในประเทศไทย แม้ปัญหาที่ฝังรากลึกจะไม่หายไปในเร็ววัน แต่ความตั้งใจของปิยะภรณ์ก็เป็นสัญญาณถึงอนาคตอันสดใสของวงการสื่อที่จะช่วยมอบพลังให้สังคมได้มากขึ้น เพื่อการฝ่าฟันปัญหาสำคัญแม้ว่ามันจะไม่ได้ปรากฏบนพาดหัวข่าวใหญ่หรือกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย ■