SECTION
ABOUTFULL FLAVOURS
One-Cook Broth
ความพิถีพิถันที่ซ่อนอยู่ในความเรียบง่ายของร้านเจ๊หมวยแจ่วฮ้อน ที่ทำให้คนชื่นชมจนบอกต่อ และยอมรอนับเดือนเพื่อได้ลิ้มรสอาหารจากทีมที่มีพ่อครัวเพียงคนเดียว
29 กุมภาพันธ์ 2567
ณ ซอยแจ้งวัฒนะ 43 มีอาคารแห่งหนึ่งที่เป็นเพียงห้องแถวขนาดมาตรฐานกับป้ายไฟลางๆ หากใครเพียงบังเอิญผ่านมา อาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่าที่นี่คือร้านอาหารที่ต้องจองโต๊ะข้ามเดือน -- ที่นี่คือสถานที่ตั้งของร้าน ‘เจ๊หมวยแจ่วฮ้อน’ ร้านอาหารอีสานที่เปิดมานานกว่าสามสิบปี แม้ภายนอกจะดูไม่มีอะไรพิเศษ แต่ทว่าเป็นร้านแจ่วฮ้อนที่นักชิมตั้งหน้าตั้งตารอวันที่จะถึงคิวที่พวกเขาได้มาลิ้มรส ซึ่งทั้งร้านมีเพียงสี่โต๊ะและมีพ่อครัวเพียงคนเดียว
เมื่อเปิดประตูเข้ามา จะพบกับหทัยนันท์ วรกิจชนะพันธุ์ เจ้าของนาม ‘เจ๊หมวย’, เอกศิษฏ์ วรกิจชนะพันธุ์ ผู้เป็นสามีและพ่อครัวประจำร้าน, ธิติพันธ์ วรกิจชนะพันธุ์ ผู้รับจองคิวและช่วยดูแลลูกค้าหลังเสร็จจากงานประจำ และปรียาวรรณ วรกิจชนะพันธุ์ ผู้เป็นลูกสาวช่วยกันสร้างสรรค์มื้อพิเศษภายในร้านที่ตกแต่งอย่างง่ายๆ แบบไร้พิธีรีตอง ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ก็เป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของเอกศิษฏ์เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ บาร์น้ำ หรือหิ้งพระ ด้วยมือคู่เดียวกันกับที่ใช้ปรุงอาหารและคัดสรรวัตถุดิบอันเลิศรส
อาหารส่วนใหญ่จะเป็นรสมือของเอกศิษฏ์และได้หทัยนันท์ช่วยปรุงส้มตำหรือหุงข้าว แต่ร้านถูกตั้งชื่อให้หทัยนันท์เป็นผู้ชูโรง เนื่องจากชื่อ ‘เจ๊หมวย’ นั้นเป็นที่รู้จักของคนในละแวกนี้มากกว่า โดยทั้งเอกศิษฏ์และหทัยนันท์มีพื้นเพมาจากอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนมด้วยกันทั้งคู่ จึงคุ้นเคยและรู้จักอาหารอีสานเป็นอย่างดี และในจังหวัดนครพนมเองมีชาวเวียดนามอาศัยอยู่หลายคน และได้นำวัฒนธรรมอาหารเวียดนามเข้ามาสู่พื้นที่ ซึ่งเอกศิษฏ์ก็นำอาหารสัญชาติต่างๆ ที่คุ้นเคยจากบ้านเกิดมาแต่งนิดเสริมหน่อย จนกลายเป็นเมนูใหม่ที่กลมกล่อม อย่างเช่นเมนูยำเนื้อญวนที่เขานำเนื้อน่องลายมายำใส่กะปิและมะเขือเปราะ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทานเฝอของชาวเวียดนามที่ต้องใส่กะปิลงไปด้วย
“เด็กๆ ผมชอบเข้าครัว ชอบสังเกต ชอบดู เมื่อก่อนที่ต่างจังหวัดมีงาน ทุกบ้านก็ต้องมาช่วยกันทำกับข้าว ผมชอบเข้าไปวุ่นวาย โดนผู้ใหญ่ไล่ยังไงก็ไม่ไป ก็คงจะได้เปรียบกว่าคนอื่นหน่อย เพราะได้คลุกคลีกับมันมาแต่เด็กๆ” เอกศิษฏ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นความหลงใหลในการทำอาหารตั้งแต่ยังเด็กที่จังหวัดนครพนม “รสมือกับรสที่เราชอบมันเป็นแบบนี้ พอทำแล้วเพื่อนชม ลูกค้าชม มันก็มีกำลังใจในการทำงาน”
ก่อนก้าวมาสู่การเป็นพ่อครัวเต็มตัว เอกศิษฏ์เคยเป็นข้าราชการมาก่อน และลาออกมาเปิดร้านอาหารอีสานที่นี่ตั้งแต่แรกเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นเขาเน้นขายลาบเป็ดหรือส้มตำทั่วไป จนกระทั่งเอกศิษฏ์และหทัยนันท์ได้ย้ายไปประเทศญี่ปุ่นชั่วคราว และได้เปิดร้านอาหารอีสานที่นั่นถึงสามปี แม้ทั้งคู่คาดการณ์ไว้ว่ากลุ่มลูกค้าหลักน่าจะเป็นคนไทยที่อาศัยในบริเวณนั้น แต่ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็ติดใจในรสมือของเอกศิษฏ์จนกลายเป็นลูกค้าประจำ เขาจึงรู้สึกมั่นใจในฝีมือยิ่งขึ้น เมื่อกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง เขาจึงตัดสินใจดำเนินธุรกิจร้านอาหารอีสานต่อ แต่เพิ่มกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ทั้งการเลือกเสิร์ฟข้าวญี่ปุ่น และมีอุเมะชูเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าดื่มแกล้มอาหารรสอบอุ่น
เราไม่ได้เน้นว่าจะต้องกำไรสูงสุดเท่านั้น สำหรับเรา มันมีอะไรมากกว่าแค่คิดเงินได้แพง ขยายร้านได้ใหญ่โต
“ตอนแรกผมก็ขายอาหารอีสานทั่วไปเหมือนเดิม จนวันหนึ่งผมพาเจ๊หมวยไปที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องแจ่วฮ้อนแล้วรู้สึกรสชาติไม่ค่อยโดนใจเรา ผมเลยบอกเจ๊หมวยว่าผมก็ทำแจ่วฮ้อนเป็น เดี๋ยวกลับกรุงเทพฯ ไปจะทำให้กิน ก็เลยทำกินกันเล่นๆ ที่ร้าน พอลูกค้าเห็นก็อยากสั่งด้วย เราก็ทำให้เขาลองด้วย และกลายเป็นว่าลูกค้าติดใจจนบอกกันปากต่อปาก ใครมาก็ถามหาแต่แจ่วฮ้อน” เอกศิษฏ์เล่าถึงที่มาของเมนูอันเลื่องชื่อของทางร้าน
จากการทำร้านเพียงสองคนโดยมีลูกค้าหลักเป็นคนที่อาศัยในบริเวณนั้น ลูกๆ ทั้งสองก็ได้มาช่วยทำเพจเฟซบุ๊กเพื่อเข้าถึงคนนอกพื้นที่ได้มากขึ้น และปรับหน้าร้านให้มีระบบระเบียบขึ้น ประกอบกับเสียงเลื่องลือแบบปากต่อปากถึงความพิเศษของทางร้าน ชื่อเจ๊หมวยแจ่วฮ้อนจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง
“หลังจากปรับร้านใหม่ให้เป็นร้านแจ่วฮ้อนก็บูมมาก เราก็ทำมาเรื่อยๆ ถึงจะมีช่วงที่ธุรกิจชะงัก แต่เราก็ไม่เคยปิดร้าน แม้จะมีลูกค้าแค่โต๊ะ สองโต๊ะก็ตาม ช่วงก่อนโควิดเรายังทำกันเอง ไม่มีลูกน้อง คุณแม่เป็นคนช่วยเก็บล้าง พอเรากับพี่ชายเรียนจบก็มาช่วยปรับปรุงร้าน ปรับราคา ทำให้เป็นระบบมากขึ้น ทำเพจเฟซบุ๊ก ลูกค้าที่อยู่ระแวกนี้ก็เริ่มเช็คอิน เกิดการบอกต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่าในเวลาต่อมา ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากที่ไกลๆ ทั้งนั้น และมีลูกค้าหน้าใหม่มาลองทานเรื่อยๆ เริ่มมียูทูปเบอร์และเพจรีวิวทั้งหลายมาทำคอนเทนต์ จนกระทั่งลูกค้าต้องจองคิวยาวเหยียดเพื่อแจ่วฮ้อนของที่นี่” ปรียาวรรณเล่า โดยในปัจจุบัน รีวิวของร้านเจ๊หมวยแจ่วฮ้อนเป็นเนื้อหาบนยูทูปที่มียอดผู้ชมหลักแสนในหลายช่อง และถึงเกือบสองล้านวิวในวิดีโอของช่องเสือร้องไห้ โดยเพจเฟสบุ๊กร้านก็มียอดผู้ติดตามกว่า 25,000 คนในเวลาไม่กี่ปี ซึ่งถือว่าเป็นยอดจำนวนมากสำหรับร้านเล็กๆ ที่ไม่ได้มีแผนการตลาดจริงจัง และอาจบ่งบอกได้ถึงจำนวนคนที่กลายเป็น ‘แฟน’ ของร้านแห่งนี้ ที่ไม่ใช่แค่มาลองตามกระแส แต่ต้องการที่จะกลับมาลิ้มรสอีกครั้ง
เนื่องด้วยพื้นที่และกำลังคนที่จำกัด เจ๊หมวยแจ่วฮ้อนจึงมีเพียงสี่โต๊ะเพื่อรองรับลูกค้า โดยมีป้ายติดบนกำแพงที่ขอลูกค้าไว้ว่า ‘พ่อครัวมีคนเดียว กรุณาสั่งพอดีทาน’ โดยเอกศิษฏ์เล่าถึงเบื้องหลังคำขอนี้ว่า “เมื่อก่อนเราไม่ได้รับจองล่วงหน้าด้วย เลยต้องทำไม่หยุดจนเจ็บมือไปหมดเพราะเมื่อก่อนเราก็สไลด์เนื้อด้วยมือ พอแขกเยอะเราก็ไม่ไหว มาคิดกันว่าต้องสั่งล่วงหน้าแล้ว ต้องเห็นออเดอร์ก่อน เพราะหลายๆ เมนูอย่างน้ำซุปก็ต้องปรุงหม้อต่อหม้อ ของย่างก็ต้องเตรียมนาน จะไปเร่งก็ไม่ได้ ลิ้นผมก็ต้องลอกหนังเองกับมือ ตัดส่วนที่เหนียวอย่างปลายลิ้นกับขอบออก ไม่อร่อยเราก็ไม่อยากเสิร์ฟให้ลูกค้าทาน”
แม้จำนวนลูกค้าที่เต็มใจรอต่อคิวเพื่อกินนั้น อาจเป็นเครื่องยืนยันว่าร้านแห่งนี้สามารถไปได้อีกไกล แต่ความคิดขยายร้านให้ใหญ่ขึ้นกลับไม่ใช่ทางออกที่ครอบครัวนี้ต้องการ เพราะหัวใจสำคัญของร้านอาหารคือทีมครัวที่รู้ใจกัน อย่างไรก็ตามที่ร้านแห่งนี้ แม้แต่คนในครอบครัวเองยังไม่อาจรู้ใจกันถึงขั้นลงมือปรุงอาหารแทนเอกศิษฏ์ได้ แม้ปรียาวรรณจะเคยเข้าไปช่วย ได้ลองชั่งตวงส่วนผสม แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่เหมือนที่คุณพ่อทำ รวมถึงเรื่องวัตถุดิบที่หายากอย่างเนื้อน่องลายและ ‘เนื้อดาวกระจาย’ ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์เด็ดของร้านที่ลูกค้าต้องสั่งจองล่วงหน้าก่อนมาทานเท่านั้น ก็ต้องพึ่งพาสายตาและประสบการณ์ของเอกศิษฏ์ในการเลือกสรรเพื่อรักษาคุณภาพ ‘ทีเด็ด’ ของทางร้าน
“ลูกค้าจะชอบถามว่าเนื้อดาวกระจายคือส่วนไหนกันแน่ และนี่คือความพิเศษของทางร้าน เนื้อเมนูนี้จะไม่ใช่เนื้อส่วนไหนเป็นพิเศษ เพียงแค่มีลายไขมันในแบบที่คุณพ่อต้องการ คือจะมีไขมันแทรกเหมือนดาวกระจาย เราเลยตั้งชื่อนี้ขึ้นมาเอง คุณพ่อเลือกเนื้อเก่งมาก ถ้าได้เนื้อวัวหรือหมูมาก้อนนึง คุณพ่อจะมาดูว่าตรงไหนนุ่ม ตรงไหนสวยมากกว่า และเลือกนำส่วนนั้นมาเสิร์ฟ เป็นงานที่ละเอียดมาก แม้จะฟังดูเหนื่อยที่ต้องตื่นแต่เช้ามาคัดเลือกและเตรียมของเองในทุกๆ วัน ทั้งยังปรุงเองจานต่อจาน แต่การทำร้านนี้เป็นความสุขของคุณพ่อคุณแม่ในแบบที่เหนื่อยยังไงก็คุ้มค่า” ปรียาวรรณอธิบาย
คุณภาพวัตถุดิบนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ใครที่เคยได้มาเยือนก็ล้วนประทับใจ จนหลายคนต้องประหลาดใจกับราคาที่ร้านตั้งไว้ และคิดว่าแม้มีราคาแพงกว่านี้ก็ยังถือว่าสมน้ำสมเนื้อ แต่ทว่าครอบครัวร้านเจ๊หมวยกลับไม่ได้หวังฉกฉวยประโยชน์จากชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มราคาให้สูงขึ้น
“จริงๆ ลูกค้าหลายคนก็บอกว่าปรับมาเป็นคอร์สไหม ทำแบบโอมากาเสะ ปรับราคาสูงไปเลย ให้เป็นลูกค้าที่มาทานเป็นอีกแบบนึง แต่คุณพ่อไม่ได้อยากทำแบบนั้น อยากให้ใครก็มาทานได้ เราไม่ได้เน้นว่าจะต้องกำไรสูงสุดเท่านั้น สำหรับเรา มันมีอะไรมากกว่าแค่คิดเงินได้แพง ขยายร้านได้ใหญ่โต” ปรียาวรรณอธิบาย
แม้ทางครอบครัวจะไม่เลือกลงทุนตกแต่งหน้าร้านใหม่หรือขยับขยายเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ความ ‘บ้านๆ’ ของร้านนี้กลับกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว เพราะบ้านหลังนี้มีความอบอุ่นจากสมาชิกครอบครัว ที่สื่อออกมาผ่านรสมือ รอยยิ้มพิมพ์ใจ และวัตถุดิบที่ถูกคัดสรรและปรุงแต่งอย่างใส่ใจ แม้ลูกค้าอาจต้องรอคิวนานนับเดือนเพื่อสิ่งที่ดูธรรมดา แต่ทุกคนต่างเต็มใจรอคอยที่จะสัมผัสความพิเศษที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าของที่แห่งนี้ ■