HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


เมื่อเศรษฐกิจไทยมาถึงจุดเปลี่ยน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
กรรมการผู้จัดการ
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์
บล.เกียรตินาคินภัทร

29 กุมภาพันธ์ 2567

ก่อนจะพูดถึงจุดเปลี่ยน ผมอยากลองมองย้อนกลับไปปี 2566 และ ฉายภาพว่าเรามองแนวโน้มของเศรษฐกิจปี 2567 อย่างไรกันบ้าง

เริ่มจากเศรษฐกิจโลกก่อน ก็ต้องยอมรับว่าปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ออกมาดีกว่าที่คาดค่อนข้างมาก ถ้าจำกันได้ช่วงต้นปี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ปัญหาสงครามที่ทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง

แต่กลายเป็นว่าเศรษฐกิจใหญ่ๆ ของโลก แข็งแกร่งกว่าที่หลายคนคาดเอาไว้ เศรษฐกิจยุโรปที่ถูกกระทบจากปัญหาราคาพลังงานหนักที่สุดกลับหลบเลี่ยง ไม่ถดถอยอย่างที่กังวลกัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่นึกว่าจะชะลอตัวกลับเร่งตัวขึ้น และโตได้ถึงร้อยละ 5 ในไตรมาสสามของปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาดีอย่างเห็นได้ชัด จากนโยบายการเงินที่ยังคงกระตุ้นต่อเนื่อง และ เศรษฐกิจจีนก็ยังพอไปได้เรื่อยๆ แม้มีปัญหารุมเร้ามากมาย

ตอนนี้ถ้ามองไปในปี 2567 มุมมองส่วนใหญ่น่าจะมองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า ‘soft landing’ คือเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ไม่ได้หยุดชะงักจนเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่น่าจะทยอยปรับลดลงทั่วโลก (ถ้าไม่มีอะไรมาช็อคเศรษฐกิจแรงๆ อีก) น่าจะทำให้ธนาคารกลางเริ่มสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาได้ และค่อนข้างชัดเจนว่าเราน่าจะผ่านจุดสูงสุดของวงจรดอกเบี้ยในรอบนี้ไปแล้ว แต่ดอกเบี้ยจะปรับลดลงได้ขนาดไหน ก็ยังต้องขึ้นกับพัฒนาการของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในระยะเวลาข้างหน้า

แต่เราอาจจะยังคงเห็นเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก แต่ละประเทศอาจจะมีแนวโน้มแตกต่างกันไป สหรัฐฯ ยังคงค่อนข้างดีจากโมเมนตัมของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผลักดันอย่างแข็งแกร่ง เศรษฐกิจยุโรปอาจจะแผ่วต่อเนื่อง

ในขณะที่จีน น่าจะเป็นจุดที่ต้องจับตามอง เพราะยังคงเลียแผลจากภาวะชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ทิ้งปัญหาหนี้ทั้งจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ก็มีโอกาสจะกลายเป็นซอมบี้ที่ใช้เวลาแก้ปัญหานานแบบญี่ปุ่น หรือระเบิดแรงๆ แบบที่เห็นในสหรัฐฯ แม้ตอนนี้หลายฝ่ายคิดว่ารัฐบาลจีนน่าจะ ‘เอาอยู่’ แต่ต้องจับตาดีๆ เพราะคงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล

เศรษฐกิจเราฟื้นได้เพราะการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติจากฐานที่ต่ำมาก แต่ถ้าไม่นับการท่องเที่ยว กลายเป็นว่า เราไม่ค่อยเห็นเครื่องจักรใหม่ๆ ของเศรษฐกิจไทย และเริ่มน่ากังวลว่าถ้าการท่องเที่ยวกลับไปเป็นปกติแล้ว เราจะโตต่อไปอย่างไร

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย

มองมาที่เศรษฐกิจไทยบ้าง ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ฟื้นตัวช้า ไม่ทั่วถึง และเปราะบางมาก นึกดูว่า ระดับของจีดีพีในไตรมาสสามปีที่แล้ว ยังไม่กลับไปเท่ากับระดับก่อนเกิดโควิดเลย แปลว่าเราถูกกระทบหนัก และฟื้นกลับมาค่อนข้างช้า เหมือนเราถูกตัดเงินเดือนไปสามปี ป่านนี้เงินเดือนยังไม่กลับไปที่เดิมเลย ในขณะที่รายจ่ายไม่ลดลงแน่ๆ ทำให้ปัญหาหนี้ของทั้งครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเรา

และที่สำคัญคือช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจเราฟื้นได้เพราะการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติจากฐานที่ต่ำมาก แต่ถ้าไม่นับการท่องเที่ยว กลายเป็นว่า เราไม่ค่อยเห็นเครื่องจักรใหม่ๆ ของเศรษฐกิจไทย และเริ่มน่ากังวลว่าถ้าการท่องเที่ยวกลับไปเป็นปกติแล้ว เราจะโตต่อไปอย่างไร

แต่สำหรับปี 2567 ผมยังมองว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังพอโตได้ แต่มาจากแรงส่งภายนอกทั้งสิ้น ในขณะที่เริ่มมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มแผ่วลงเรื่อยๆ

แรงส่งที่สำคัญมีสามตัว คือ การท่องเที่ยว การส่งออก และการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ

แม้ว่าการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว และอาจจะน่าผิดหวังไปบ้างในปีที่ผ่านมา แต่ผมก็ยังคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่อาจจะหวังให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับไปก่อนเกิดโควิดยังไม่ได้ โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ออกมานอกประเทศน้อยลง และเริ่มมีทัศนคติต่อการมาประเทศไทยที่เปลี่ยนไป แม้ว่าน่าจะเพิ่มขึ้น แต่คงกลับไปบูมเหมือนก่อนเกิดโควิดไม่ได้ง่ายๆ

ส่วนการส่งออกที่ปีก่อนติดลบมาเกือบตลอดทั้งปี จากทั้งฐานที่สูงในปีก่อนหน้า และการชะลอตัวของการบริโภคสินค้าในเศรษฐกิจใหญ่ น่าจะเริ่มกลับมาบวกได้เล็กๆ ตามการฟื้นตัวของการผลิต และการบริโภคสินค้าทั่วโลก แต่ต้องติดตามดูเรื่องความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะเราเริ่มเห็นสินค้าส่งออกสำคัญหลายชนิดน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่เจอปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจนอาจจะกระทบความสามารถในการแข่งขันของเราได้ หากเราไม่มีการลงทุนเพิ่ม หรือตามเทคโนโลยีให้ทัน

เศรษฐกิจที่โตช้าจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา โอกาสในเศรษฐกิจที่มีน้อยลงจะทำให้การเคลื่อนย้ายทางสังคมและเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ยากขึ้น

ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต เป็นความหวังสำคัญของการใช้จ่ายในประเทศ ที่น่าจะสร้างแรงส่งต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ที่น่ากังวลสองสามเรื่องคือ หนึ่ง ผลกระทบต่อสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงิน จากการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมมูลค่ามหาศาล สอง ผลกระทบต่อระดับหนี้สาธารณะ ที่แม้จะอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ แต่ก็มีผลต่อต้นทุนค่าเสียโอกาส ในการใช้เงินก้อนนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ในอนาคต และ สาม ความไม่แน่นอนของตัวนโยบายเอง ที่อาจจะไม่ผ่านการพิจารณาของสภา หรืออาจจะถูกตั้งคำถามจากองค์กรอิสระว่า “มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายหรือไม่

ความไม่แน่นอนนี้ อาจจะมีผลต่อการวางแผนการบริโภค การใช้จ่าย การลงทุน และอาจมีผลไปถึงตลาดการเงินและนโยบายการเงิน จนกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจได้เลย

มองไปข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของเศรษฐกิจที่กำลังโตช้าลง และปัญหาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเจอในวันนี้ อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว เรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจมีความสำคัญมากขึ้น และถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เศรษฐกิจกำลังมีแนวโน้มโตช้าลงเรื่อยๆ ตามความท้าทายเชิงโครงสร้างที่เรากำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มโครงสร้างประชากร ที่มีประชากรวัยทำงานน้อยลง ความสามารถในการแข่งขันที่กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก ปัญหาเรื่องคุณภาพของการศึกษาและแรงงาน และการขาดการลงทุนมาอย่างยาวนาน

เศรษฐกิจที่โตช้าจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา โอกาสในเศรษฐกิจที่มีน้อยลงจะทำให้การเคลื่อนย้ายทางสังคมและเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ยากขึ้น ปัญหาหนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสังคมก็จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราคงต้องคุยกันหนักขึ้นว่า ถึงเวลาที่เราต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อจัดการกับปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งปัญหาหลายอย่างต้องการการเปลี่ยนแปลงที่กระทบคนจำนวนมาก และไม่ง่ายนักทั้งทางการเมือง และการลงมือปฏิบัติ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราคงมองเห็นว่าเรากำลังเดินไปสู่จุดไหน

เริ่มระดมสมอง และเริ่มคุยกันถึงทางออกกันดีไหมครับ