HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


The Tiny Trend

กระแส ‘บ้านหลังเล็ก’ กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก ด้วยขนาดกะทัดรัดที่มอบความสะดวก มีราคาไม่แพง และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าบ้านทั่วไปอย่างชัดเจน

30 พฤศจิกายน 2566

ในแวดวงการออกแบบบ้านและแวดวงผู้อยู่อาศัยนั้น มีการปฏิวัติเล็กๆ ปะทุขึ้นในช่วงห้าปีที่ผ่านมา นั่นคือ การใช้ชีวิตในพื้นที่เล็กๆ อย่างคล่องตัวและใช้เงินน้อยลง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นกระแส ‘บ้านหลังเล็ก’(tiny house movement) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้แฮชแท็ก #tinyhouse บนอินสตาแกรมมากกว่า 3.4 ล้านครั้งเพื่อร่วมกันแบ่งปันภาพของบ้านขนาดเล็กราวกับเป็นตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมด้วยการตกแต่งภายในที่มีสไตล์และทันสมัย และมักจะตั้งอยู่ห่างไกลชุมชนใหญ่หรืออยู่กลางป่า

กระแสความนิยมที่แผ่กระจายขึ้นเรื่อยๆ นี้ยังส่งผลให้มีสารคดีเกี่ยวกับบ้านหลังเล็กเกิดขึ้นหลายเรื่อง รวมถึง Tiny House Nation บนเน็ตฟลิกซ์ที่นำเสนอเรื่องราวของสถาปนิกหลายคนที่ออกแบบบ้านจิ๋ว (ไม่เกิน 43 ตร.ม.) ให้ใช้พื้นที่ที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่าที่สุด ส่วนในประเทศไทยเอง ยูทูปเบอร์ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบชื่อดังอย่างแก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุลได้นำเสนอคอนเทนต์เรื่องบ้านห้องชุดสำเร็จรูปหลังเล็กเพิ่มเติมจากเนื้อหาปกติที่เขาโฟกัสที่บ้านหรูบนเนื้อที่ขนาดใหญ่

ในวิดีโอหนึ่ง ธนเวทย์มองดูรถเครนค่อยๆ เคลื่อนย้ายบ้านทรงเดียวกับตู้คอนเทนเนอร์เพื่อติดตั้งลงในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้และมีวิศวกรมาประเมินความปลอดภัยแล้วเรียบร้อย บ้านประเภทนี้มีชื่อเรียกว่า ‘prefabricated home’ เป็นบ้านที่แต่ละชิ้นส่วนถูกสร้างสำเร็จรูปมาจากโรงงาน ก่อนที่จะประกอบเข้ากัน แล้วนำไปติดตั้งบนที่ที่ต้องการ

“ปกติใช้เวลาติดตั้งนานแค่ไหน” ธนเวทย์ถามหนึ่งในผู้ก่อตั้งอิสรา ลิฟวิ่ง ขณะที่บ้านกำลังจะถูกยกลงมาติดตั้ง

“ไม่เกิน 10 นาที” คือคำตอบที่เขาได้รับ ไม่นานหลังจากนั้น บ้านหลังเล็กหน้าตาเรียบเท่ห์ก็อยู่บนผืนดิน พร้อมให้ทีมงานมาเก็บรายละเอียดต่อ บ้านหลังนี้เป็นงานของอิสรา ลิฟวิ่ง บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมที่เชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านไซส์กะทัดรัดมาเกือบทศวรรษ นับตั้งแต่เริ่มต้นงานด้านนี้ บริษัทได้ติดตั้งบ้านมาแล้วราว 1,150 หลังทั่วประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่เจ้าของคาเฟ่ขนาดเล็ก ผู้ที่ต้องการเพิ่มเนื้อที่ใช้สอยให้กับบ้านหลังที่อาศัยอยู่ปัจจุบัน ไปจนถึงเจ้าของบ้านมือใหม่ที่มีงบประมาณจำกัดและชอบความคล่องตัวของบ้านประเภทนี้

สิ่งที่ทำให้บ้านโมดูลาร์กำลังจะเป็นเทรนในอนาคตก็คือ มันสามารถเคลื่อนย้ายได้หากวันหนึ่งคุณจำเป็นหรือต้องการที่จะย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตสงบเงียบที่ต่างจังหวัด คุณก็ไม่จำเป็นต้องมาลงประกาศขายบ้าน

แม้การติดตั้งจะใช้เวลาเพียงน้อยนิด แต่กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาราว 45 วันถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนกับจำนวนที่ต้องการแต่ช่วงเวลานี้ได้รวมถึงขั้นตอนการให้คำปรึกษาการออกแบบให้ตรงกับความต้องการเฉพาะคนและขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่งเวลาที่ใช้รวมกันยังน้อยกว่าการสร้างบ้านทั่วไปที่ใช้เวลานานหลายปีอยู่มากโข นอกจากนี้ บ้านหลังเล็กยังมีราคาถูกกว่ามาก โดยค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ราว 250,000 - 450,000 บาทต่อหลัง ทั้งยังมาพร้อมกับระบบทำความเย็น ระบบไฟ ระบบไฟฟ้า และระบบประปาในตัว หลังจากปรึกษากับสถาปนิกของบริษัทแล้ว ลูกค้าจะเลือกแบบจากที่มีดีไซน์อยู่แล้วและสร้างขึ้นที่โรงงาน ก่อนที่จะจัดส่งไปยังพื้นที่ที่ต้องการ

นอกจากการประหยัดเวลากับค่าใช้จ่ายแล้วบทความหนึ่งบนเว็บไซต์ของอิสรา ลิฟวิ่ง ได้อธิบายไว้ว่า “สิ่งที่ทำให้บ้านโมดูลาร์กำลังจะเป็นเทรนในอนาคตก็คือ มันสามารถเคลื่อนย้ายได้ หากวันหนึ่งคุณจำเป็นหรือต้องการที่จะย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตสงบเงียบที่ต่างจังหวัด คุณก็ไม่จำเป็นต้องมาลงประกาศขายบ้าน ซึ่งกว่าจะขายออกก็นานจนท้อ แต่ถ้าบ้านสำเร็จรูปนั้นสามารถย้ายไปยังที่ดินใหม่ได้เลยทันที”

ผู้เล่นรายใหญ่ขึ้นเริ่มก้าวเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดนี้เช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ พานาโซนิคได้เซ็นสัญญากับสยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนลในการผลิตบ้านโมดูลาร์ ซึ่งคล้ายกับบ้านแบบที่อิสรา ลิฟวิ่งทำอยู่ ซึ่งในปีที่ผ่านมา พานาโซนิคก็ได้เปิดตัวบ้านโมดูลาร์ที่พร้อมใช้งานเป็นที่เรียบร้อย

รากเหง้าของกระแสบ้านหลังเล็กอาจเริ่มต้นจากแนวคิดของนักธรรมชาตินิยมและกวีอย่างเฮนรี เดวิด ธอโร เจ้าของงานเขียนชื่อก้องโลกอย่าง Walden ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1854 หนังสือเล่มนี้ได้สำรวจการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ โดยหลายทศวรรษหลังจากนั้นเจย์ ชาเฟอร์ เจ้าของฉายา ‘เจ้าพ่อบ้านจิ๋ว’ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทรนด์บ้านหลังเล็กเมื่อเขาสร้างบ้านติดล้อขนาดกะทัดรัด และเขียนหนังสือ The Small House Book ในปี 1999

เทรนด์บ้านหลังเล็กนี้เริ่มโด่งดังในวงกว้างพร้อมกระแสมินิมอลและการทิ้งของที่ไม่จำเป็น ซึ่งเข้ามาช่วยถ่วงดุลกับวิถีชีวิตบริโภคนิยมและการใช้จ่ายที่มากเกินจำเป็น

เทรนด์บ้านหลังเล็กนี้เริ่มโด่งดังในวงกว้างพร้อมกระแสมินิมอลและการทิ้งของที่ไม่จำเป็นซึ่งเข้ามาช่วยถ่วงดุลกับวิถีชีวิตบริโภคนิยมและการใช้จ่ายที่มากเกินจำเป็น สำหรับหลายๆ คนแล้ว กระแสความ ‘น้อย’ นี้คือการเพิ่มพื้นที่ว่างด้วยการมีสิ่งต่างๆ ให้น้อยลง ในแบบที่บ้านหลังใหญ่โตที่ต้องการตัวช่วยอำนวยความสะดวกเยอะอาจทำไม่ได้

อีลอน มัสก์ ก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเทรนด์นี้เขาได้โพสต์บนทวิตเตอร์ (X ในปัจจุบัน) บ่อยๆ เกี่ยวกับบ้านจิ๋วในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส ที่เขาเช่าไว้ในช่วงที่เขาทำโปรเจกต์ SpaceX ข้อความหนึ่งที่เขาเคยโพสต์ไว้ใน X ก็คือ “การอยู่บ้านเล็กๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่นและสบายใจมากกว่า”

เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเกี่ยวกับบ้านหลังเล็ก ด้วยความที่บ้านหลังเล็กใช้วัสดุก่อสร้างน้อยกว่าบ้านทั่วไปและใช้พลังงานน้อยกว่าบ้านทั่วไปราว 70% ซึ่งการใช้พลังงานมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งเช่นกัน อิสรา ลิฟวิ่งได้กล่าวถึงบ้านของทางบริษัทฯ ว่าลดสารพิษและการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้เป็นจำนวนมาก ต่างจากพื้นที่ก่อสร้างแบบทั่วไป บ้านเหล่านี้สามารถติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงงานลม เอื้อให้เจ้าของบ้านสามารถใช้ชีวิตแบบที่ไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าได้

ในขณะที่กระแสบ้านหลังเล็กกำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลก และธุรกิจเฉพาะทางอย่างอิสราลิฟวิ่ง ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า กระแสนี้จะกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ของบ้านในอนาคตได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายคนก็เชื่อว่า กระแสนี้จะกลายเป็นกระแสหลักได้ในที่สุด คล้ายกับที่โคดี้ ซานเชซนักลงทุน VC ได้เขียนไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Forbes เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า

“ในอนาคต เราอาจจะไม่ถามกันแล้วว่า ‘ผู้รับเหมาเจ้าไหนสร้างบ้านหลังนี้?’ แต่เปลี่ยนเป็นถามว่า ‘บ้านหลังนี้มาจากโรงงานไหน?’”