SECTION
ABOUTLIVING SPACE
The Modern Avatar
การหาจุดลงตัวระหว่างความเชื่อยุคเก่าและศิลปะแห่งยุคใหม่ย่อมเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อจำเป็นต้องแตะเรื่องความศรัทธา เพื่อนสมัยเรียนสองคนจึงได้ร่วมกันตั้งใจหาจุดสมดุลระหว่างสองยุค และกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อการรักษาสืบต่อไป
29 กุมภาพันธ์ 2567
เงาของตึกเก๋สูงระฟ้าพาดยาวลงมาเหนือวัดวาอารามต่างๆ รถสามล้อรุ่นเก่าเคลื่อนตัวบนถนนเดียวกับรถไฟฟ้าเทสลาหน้าตาล้ำสมัย กลิ่นควันจากรถเข็นขายอาหารลอยโชยมาปะทะกลิ่นจากจานของร้านอาหารหรูประดับดาวมิชลิน – ภาพวิถียุคเก่ากับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ดำเนินไปเคียงคู่กันไปนั้นกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ที่พบเห็นได้แม้ในมุมเล็กๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปในช่วงที่หัสวีร์ วิรัลสิริภักดิ์ ได้เริ่มตกแต่งบ้านและออฟฟิศหลังใหม่ของเขาเอง เขากลับเห็นว่าวิถียุคเก่ากับเทรนด์ยุคใหม่กลับหาจุดลงตัวได้ยากสำหรับเขา โดยเฉพาะเทวรูปที่ดูไม่ขัดตาในบ้านวัยเด็กของเขา แต่กลับดูไม่เข้ากับดีไซน์เรียบเกลี้ยงของบ้านหลังใหม่ จากความไม่ลงตัวที่เขาพบเจอในวันนั้น หัสวีร์ได้ชวนนันท์ธร พรกุลวัฒน์ เพื่อนสนิทที่คิดเห็นเช่นเดียวกันในเรื่องนี้ ให้ร่วมคิดค้นหาวิธีปรับรูปโฉมวัตถุมงคลให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ จนกระทั่งเกิดเป็น Karava แบรนด์วัตถุมงคลที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ศรัทธารุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญทั้งความเชื่อทางจิตใจและความงามทางสายตา
หัสวีร์และนันท์ธรเจอกันครั้งแรกที่ชมรมดนตรีขณะที่พวกเขาศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในปี 2017 พวกเขาได้ร่วมกันปลุกปั้น Harmenstone แบรนด์เครื่องประดับหินมงคลดีไซน์ทันสมัย และหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งคู่ได้ต่อยอดแนวความคิดเรื่องการแปลงโฉมวัตถุมงคลให้เข้ากับยุคสมัย โดยใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลและทดลองกว่า 2 ปี จนได้รูปเคารพพระพิฆเนศที่มีโฉมหน้าเรียบเท่ในแบบมินิมอล อันเป็นโมเดลนำร่องของแบรนด์คารวะ
“ในโลกที่ทุกอย่างก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วแบบไร้พรมแดน การปรับปรุงสิ่งเก่าให้ทันสมัยมีบทบาทสำคัญในการรักษาและต่อยอดงานศิลปะ เราจึงระมัดระวังและคิดเรื่องกระบวนการปรับปรุงนี้อย่างละเอียด เพื่อช่วยรักษาความเชื่อและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมให้ยังคงอยู่ ให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงและสนใจได้อย่างง่ายดาย” หัสวีร์อธิบายถึงความตั้งใจแรกเริ่ม ซึ่งเขาก็ได้เห็นผลลัพธ์ดั่งใจหวัง
การปรับปรุงสิ่งเก่าให้ทันสมัยมีบทบาทสำคัญในการรักษาและต่อยอดงานศิลปะ เราจึงระมัดระวังและคิดเรื่องกระบวนการปรับปรุงนี้อย่างละเอียด เพื่อช่วยรักษาความเชื่อและขนบธรรมเนียมดั้งเดิมให้ยังคงอยู่
ในเวลาไม่นาน แบรนด์คารวะก็ประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจของผู้มีจิตศรัทธาแทบทุกวัย ปัจจุบันแบรนด์คารวะมีหน้าร้านอยู่สองแห่งในกรุงเทพฯ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์และไอคอนสยาม พวกเขาผลิตงานจำนวนมากและเพิ่มตัวเลือกที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์คนในวงกว้างขึ้น แต่ยังคงรักษาความละเมียดในการสร้างสรรค์ โดยรูปเคารพที่ทำขึ้นมาจากเรซินหนึ่งองค์นั้นใช้เวลาราวๆ 12 ถึง 24 ชั่วโมงในการขึ้นรูป ขัดเงา และทาสี
ไอเท็มยอดนิยมของแบรนด์ในขณะนี้ยังคงเป็นรูปปั้นพระพิฆเนศรุ่นดั้งเดิม แต่ลูกค้าก็เริ่มให้ความสนใจการตีความใหม่ขององค์หนูมุสิกะพระพุทธเจ้า องค์ท้าวเวสสุวรรณ และพญานาคมากขึ้น และบางคนอาจมีคำสั่งพิเศษเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัวมากยิ่งขึ้น
“ลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มสนใจชิ้นงานของคารวะ ด้วยหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์และความละเอียดของงาน และต่อมาก็ใช้ความเชื่อส่วนบุคคลในการตัดสินใจและความเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ของเทพองค์ต่างๆ ว่าสามารถส่งเสริมชีวิตในแง่มุมใด บ้างก็มอบเป็นของขวัญวันเกิดให้คนใกล้ชิด เป็นเสมือนตัวแทนความหวังดีด้วยสิ่งที่เป็นมงคล” หัสวีร์เล่า
แม้ว่าที่ผ่านมา ชิ้นงานของแบรนด์คารวะมักถูกออกแบบให้เข้ากับภายในบ้านและสำนักงานเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้ทางแบรนด์กำลังก้าวไปสู่ความท้าทายใหม่ครั้งใหญ่ขึ้น อย่างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 หัสวีร์และนันท์ธรได้สร้างสรรค์รูปปั้นองค์พระพิฆเนศขนาด 2.9 เมตรที่ตั้งอยู่ชั่วคราวที่ลานกิจกรรมของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งผลงานนี้มีชื่อว่า ‘พระศรีสิทธายะ เหนือดวง’ เป็นรูปปั้นพระพิฆเนศขนาดใหญ่ที่หัสวีร์และนันท์ธรตั้งใจนำไปประดิษฐานไว้ที่เชียงใหม่ โดยหวังให้รูปเคารพองค์นี้กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัด
เราต้องค้นคว้าอย่างหนัก มีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา และฟังเสียงตอบรับจากกลุ่มคนผู้ศรัทธา เราต้องรักษาสมดุลให้ได้อย่างเหมาะสม พร้อมแสดงความเคารพถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาช้านาน
อย่างไรก็ตาม การหยิบเอาความเชื่อและสิ่งที่คนเคารพศรัทธามาช้านานมาตีความใหม่นั้นอาจเข้าไม่ถึงใจทุกคน ดังที่หัสวีร์เล่าว่า “หากเราออกแบบรูปเคารพให้มีรูปลักษณ์มินิมอลหรือร่วมสมัยมากเกินไป บางคนอาจดูไม่ออกหรือไม่ยอมรับว่าเป็นรูปตัวแทนขององค์เทพที่พวกเขาเคารพ จนอาจส่งผลต่อคุณค่าทางใจที่ลดลง เราจึงต้องระมัดระวังในทุกองค์ประกอบและสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าความเป็นต้นฉบับดั้งเดิมนั้นยังคงอยู่ในงานออกแบบใหม่ของพวกเราด้วยความเคารพ เราต้องค้นคว้าอย่างหนัก มีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา และฟังเสียงตอบรับจากกลุ่มคนผู้ศรัทธา เราต้องรักษาสมดุลให้ได้อย่างเหมาะสม พร้อมแสดงความเคารพถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาช้านาน ในขณะที่พยายามปรับรูปโฉมให้เข้ากับความต้องการของคนยุคปัจจุบัน”
สำหรับความท้าทายรูปแบบนี้ หัสวีร์และนันท์ธรไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องเผชิญหน้ากับโจทย์อันซับซ้อนของการตีความความเชื่อทางศาสนาอายุร่วมร้อยปีให้เข้ากับยุคสมัย เช่นเดียวกับบุคคลสำคัญในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาในยุโรป ศิลปินไทยน้อยใหญ่ล้วนเคยผ่านการตีความวัดวาอารามในรูปแบบเก่าของประเทศไทย เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างชิ้นงานแปลกใหม่ขึ้นมา ผลงานที่เกิดจากการตีความใหม่ที่รู้จักกันดี เช่นวัดร่องขุ่นของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ประยุกต์ศิลปะและเรื่องราวการเมืองยุคใหม่เข้าไปในงานออกแบบและจิตรกรรมฝาผนัง พิพิธภัณฑ์บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่นำเสนอประเด็นที่ท้าทายสังคมด้วยการนำเสนอภาพของความตายและเพศอย่างเปิดเผย ไปจนถึงผลงานของมณเฑียร บุญมา ศิลปินร่วมสมัยชื่อดังผู้ล่วงลับ ที่มักสร้างชิ้นงานที่ผสานความเชื่อและคำสอนทางพุทธศาสนา
“ชิ้นงานที่เกิดจากการผสานขนบธรรมเนียมเก่าเข้ากับความงามร่วมสมัยได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเราเป็นอย่างยิ่ง การเคารพอดีตพร้อมกับการเปิดรับอนาคตนั้นเป็นปรัชญาที่ตรงใจของเรา เป็นหัวใจหลักของสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่” หัสวีร์กล่าว
ชิ้นงานของคารวะนับได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันถึงความเป็นไปได้ของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมผ่านรูปโฉมที่ร่วมสมัย ดังที่องค์พระศรีสิทธายะ เหนือดวงนั้นจะไม่ได้รับความสนใจจนกลายเป็นว่าที่แลนด์มาร์คได้เพียงแค่รูปทรงที่เตะตาคนรุ่นใหม่ แต่ยังเป็นการส่งต่อคุณค่าแห่งความศรัทธาที่มีเรื่องราวยาวนานหลายศตวรรษ ซึ่งหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ผลงานของคารวะอาจไม่สามารถเป็นที่เลื่องลือในวงกว้างท่ามกลางการแก่งแย่งความสนใจอันมหาศาลของโลกปัจจุบัน ■