SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Staying Afloat
ด้วยพื้นที่ตั้งซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อัมสเตอร์ดัมเป็นหนึ่งในเมืองที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมมากที่สุดในโลก และเมื่อการรับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่จะป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ จึงเกิดเป็นโครงการให้ผู้คนอยู่อาศัยบนผืนน้ำได้อย่างยั่งยืน
31 สิงหาคม 2567
เมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าพร้อมประชากรหนาแน่นอย่างกรุงเทพมหานครนั้นตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร ทั้งยังมีหลายส่วนที่เป็นพื้นที่หนองน้ำอันกว้างใหญ่และแม่น้ำลำคลองอันคดเคี้ยว กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่มีความเสี่ยงที่จะจมหายจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ ในปารีสได้ประมาณการว่าภายในปี 2070 เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในมหานครแห่งนี้อาจถูกน้ำท่วมแย่งพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนปัจจุบันได้ให้คำมั่นแล้วว่าจะจัดทำแผนเพื่อปกป้องเมืองจากอุทกภัยใหญ่ ในขณะที่สื่อมวลชนก็ร่วมประโคมปัญหานี้ในฐานะภัยที่อาจลบล้างเมืองออกจากแผนที่โลก
ห่างออกไปกว่า 9,000 กิโลเมตร กรุงอัมสเตอร์ดัมแห่งเนเธอร์แลนด์ก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กรุงเทพฯ เมืองแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านชาวประมงเก่าที่มีคลองหลายสายทอดผ่าน การป้องกันน้ำท่วมจึงแทบกลายเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรม อีกทั้งยิ่งไปกว่าเมืองอื่นๆ อัมสเตอร์ดัมตั้งอยู่ ‘ต่ำกว่า’ ระดับน้ำทะเล 2 เมตร ไม่ได้อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำ กระนั้น แทนที่จะพึ่งพาเพียงเขื่อนกั้นน้ำในฐานะป้อมปราการกันภัย รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ปรับแผนการรับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยจากแผนใหม่ที่บังคับใช้ช่วงปี 2007 นี่เอง เมืองต่างๆ ทั่วเนเธอร์แลนด์ รวมถึงอัมสเตอร์ดัม ได้เริ่มหันมาสร้างที่อยู่อาศัยบนผืนน้ำแทนแผ่นดิน
ซาชา กลาเซิล ผู้ร่วมก่อตั้ง Space&Matter บริษัทสถาปัตยกรรมในกรุงอัมสเตอร์ดัม กล่าวว่า “การใช้ชีวิตบนน้ำเป็นทางออกที่ดีในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้กลายเป็นภัยสำคัญ แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ปกป้องผู้คนจากภัยธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังปกป้องธรรมชาติเองด้วย”
แทนที่จะพึ่งพาเพียงเขื่อนกั้นน้ำในฐานะป้อมปราการกันภัย รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ปรับแผนการรับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมืองต่างๆ ทั่วเนเธอร์แลนด์ รวมถึงอัมสเตอร์ดัม ได้เริ่มหันมาสร้างที่อยู่อาศัยบนผืนน้ำแทนแผ่นดิน
นอกจากนี้ ซาชายังเป็นหนึ่งในผู้อยู่อาศัยของ Schoonschip หรือชุมชนบ้านบนน้ำ 46 หลังและผู้อยู่อาศัย 144 คน ซึ่งได้กลายมาเป็นต้นแบบระดับโลกด้านความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน และดึงดูดให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ผู้ร่างกฎหมายยุโรป นักวางผังเมือง หรือแม้แต่เจ้าชายแฮร์รีแห่งราชวงศ์อังกฤษเข้ามาเยี่ยมเยือนเพื่อศึกษาแนวทางอันแปลกใหม่โดยมีไกด์คอยให้ข้อมูล
ผู้มาเยี่ยมเยือนจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่คล้ายอยู่ในภาพยนต์ไซไฟ โดยแตกต่างจากเรือบ้านที่ดูอึดอัดและมีเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดที่เรียงรายอยู่ตามลำคลองของเมืองอัมสเตอร์ดัมอยู่แล้ว บ้านลอยน้ำในชอนชคิปดูเก๋ไก๋และอยู่สบายไม่ต่างจากบ้านในย่านผู้มีอันจะกิน
ที่ชอนชคิป มีหลายอย่างที่ทำให้ผู้มาเยือนตกตะลึง ไม่ว่าจะเป็นสวนลอยน้ำอันเขียวชอุ่มพร้อมผักและผลไม้สะพรั่งจนมีนกน้ำประจำถิ่นบินวนมาจิกกินอาหารที่สวน ศูนย์กลางชุมชนที่มีแผนภาพสถาปัตยกรรมลอยน้ำ บ้านเรือนสไตล์อินดัสเทรียลชิค หม้อต้มน้ำด้วยแสงอาทิตย์ และระบบจัดการน้ำที่สามารถแปลงน้ำเสียให้กลายเป็นอาหารสำหรับพืชในสวนได้ ชุมชนแห่งนี้ขับเคลื่อนโดยพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บรวมรวมจากแผงโซลาร์เซลล์เกือบ 500 แผงทั่วหลังคาชุมชนและปั๊มความร้อน 30 ตัวที่ถูกติดตั้งใต้ผืนน้ำ พลังงานที่ผลิตได้จะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ใต้บ้านแต่ละหลัง และหมู่บ้านก็ผลิตพลังงานได้มากมายจนต้องขายคืนให้กับรัฐบาล ชุมชนทั้งหมดถูกเชื่อมต่อกันด้วยท่าเทียบเรือที่ออกแบบโดยบริษัทของซาชา
“เราเห็นว่าการแบ่งปันแนวคิดด้านสังคมและความยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็นและน่าตื่นเต้นเพราะอาจช่วยให้พวกเขาพัฒนาความรู้และทักษะได้” มาร์ยัน เดอ โบล๊ก ผู้ริเริ่มโครงการชอนชคิป ซึ่งเป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนร้อยเปอร์เซ็นต์ ได้อธิบาย “เราได้เรียนรู้จากผู้อื่น จึงยินดีต้อนรับทุกคนที่ต้องการเรียนรู้จากเราด้วยเช่นกัน”
แม้จะมีการออกแบบที่ทันสมัยและฟังก์ชันที่น่าประทับใจ แต่ตัวบ้านเองกลับไม่ได้ไฮเทคกว่าบ้านทั่วไปนัก โครงสร้างต่างๆ ถูกยึดเข้าด้วยกันด้วยคอนกรีตรีไซเคิลแบบกันน้ำ และตัวอาคารถูกยึดไว้กับที่ด้วยพื้นดินใต้ท้องทะเลสาบ ทั้งยังใช้วิธีรักษาสมดุลของตัวบ้านแบบเรียบง่าย หากผู้อยู่อาศัยนำของมีน้ำหนักอย่างเปียโนเข้ามาในบ้าน ก็จะมีอิฐคอยถ่วงน้ำหนักในฝั่งตรงข้ามของวัตถุนั้น
ชอนชคิปเป็นทั้งโครงการด้านความยั่งยืนและนวัตกรรมทางสังคม ในช่วงเริ่มต้นโครงการเมื่อกว่าทศวรรษที่แล้ว มาร์ยันได้ให้สมาชิกชุมชนลงนามในแถลงการณ์ที่บังคับให้พวกเขาตกแต่งบ้านด้วยวัสดุที่ยั่งยืนอย่างไม้ไผ่หรือผ้ากระสอบ นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการว่าทุกคนในชุมชนจะใช้ชีวิตอยู่ ‘ร่วมกัน’ โดยพวกเขาจะให้เพื่อนบ้านยืมรถจักรยาน รถยนต์ สิ่งของต่างๆ หรือให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ผ่านการติดต่อกันในกลุ่มวอตส์แอปป์ของชุมชน เรียกได้ว่าเป็นชุมชนที่ต่างครัวเรือนเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกันอย่างแท้จริง สังเกตได้จากข้อเท็จจริงว่า พวกเขาแทบไม่ได้ปิดม่านเลย และมีชอนชคิปคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นเชฟคอยเสิร์ฟอาหารเย็นให้ชุมชนในทุกคืนวันอังคาร
นับตั้งแต่ชอนชคิปถูกก่อสร้างขึ้นมา รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ก็ได้นำแนวคิดเรื่องชุมชนลอยน้ำมาใช้เพิ่มขึ้น ถึงขั้นจัดประเภทใหม่ว่าเป็น ‘อสังหาริมทรัพย์’ (immovable house) อย่างเป็นทางการ ซึ่งเรือบ้านทั่วไปไม่ได้รับสถานะนั้น
เมื่อสื่อเริ่มกระจายเรื่องราวของชอนชคิปไปสู่สายตาประเทศอื่นๆ สถาปนิกของสเปซแอนด์แมทเทอร์ก็ได้ส่งต่อความรู้ให้คนในวงกว้างขึ้นพร้อมๆ กับสถาปนิกชาวดัตช์ที่ได้เริ่มสร้างชุมชนแบบที่คล้ายกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนก็ได้มองเห็นเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น นิวยอร์ก โฮจิมินห์ ลอนดอน นิวออร์ลีนส์ และกรุงเทพฯ ว่าเป็นเมืองที่พร้อมและเหมาะสมแล้วกับโครงการสถาปัตยกรรมแบบใหม่เช่นนี้ ■