HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Community Spirits

กลุ่มจิตอาสาต่างช่วยกันพัฒนาต่อยอดโครงการสุดสร้างสรรค์มากมายเพื่อช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศไทยที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 และไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งนอกตัวเมืองสระบุรี คนขายผลไม้ยื่นถุงมะม่วงเสียบไม้ให้ครอบครัวที่กำลังกักตัวอยู่บนชั้นสองของตึกแถวโดยไม่คิดเงิน พ่อค้าแม่ค้าอาหารแผงลอยมอบอาหารปรุงสำเร็จแก่ผู้ยากไร้ในพื้นที่ที่จัดไว้ของตลาดรวมทรัพย์ อโศกมนตรี ใจกลางกรุงเทพฯ และชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันแจกจ่ายน้ำขวดและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแก่ผู้สัญจรไปมาหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือตัวอย่างของการแสดงความเอื้อเฟื้อและน้ำใจที่คนทั่วไปมีให้แก่กันท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ช่วยให้หลายชุมชนผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดตลอดสองปีที่ผ่านมาได้ ยิ่งกว่านั้น งานจิตอาสาเพื่อชุมชนหลายแห่งยังได้พัฒนาต่อยอดไปเป็นโครงการเพื่อสังคมที่มีระบบระเบียบมากขึ้น กล่าวได้ว่าวิกฤตโควิด-19 คือปัจจัยที่ผลักดันให้คนจำนวนมากตั้งแต่คนธรรมดา หน่วยงานการกุศล หรือภาคธุรกิจต่างๆ มาร่วมกันคิดและทำโครงการสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในชุมชน

การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้จุดประกายความหวังให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่หน่วยงานของภาครัฐยังไม่สามารถรับมือกับผลกระทบของโรคระบาดได้ดี ดังเช่นช่วงที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของประเทศเพิ่มสูงขึ้นแตะ 20,000 กว่าคนต่อวัน จนโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งมีคนไข้โรคโควิด-19 เข้ารักษามากถึงเกือบระดับสูงสุดที่แต่ละแห่งจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้

นอกจากนี้แล้ว มาตรการล็อกดาวน์และการควบคุมกิจการต่างๆ ของรัฐบาลยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และกลุ่มผู้ค้าต่างๆ ด้วย แม้รัฐบาลจะออกมาตรการเยียวยากรณีว่างงานและโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ซึ่งรัฐช่วยออกเงินให้ครึ่งหนึ่งในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการ

ถ้าจะมีเรื่องดีเกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้แล้ว หนึ่งในเรื่องนั้นก็คือการเข้ามาช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนโดยเหล่าจิตอาสาหรือองค์กรเพื่อสังคม ดังเช่น ‘โครงการปันอิ่ม’

ปันอิ่มเป็นโครงการเพื่อสังคมที่ริเริ่มโดยปาริชาต มั่นสกุล และณชา อนันต์โชติกุล ทั้งคู่เข้าศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในสหรัฐอเมริกาพร้อมกัน แต่ความจริงแล้วปาริชาตซึ่งเรียนด้านนิติศาสตร์ กับณชาซึ่งเรียนเศรษฐศาสตร์ ยังไม่ได้สนิทสนมกันเป็นพิเศษในสมัยเรียน ทั้งคู่เพิ่งจะเริ่มเป็นเพื่อนสนิทกันจริงๆ หลังกลับมาประเทศไทยจากการมีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ ‘ต้องการสร้างความแตกต่าง แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ก็ตาม’

“ตอนนั้นเราทั้งคู่เพิ่งกลับไทย พอเห็นผลกระทบที่โควิด-19 มีต่อร้านอาหารในชุมชน หรือครอบครัวที่รายได้น้อย พวกเราก็รู้สึกไม่สบายใจมาก ปาริชาตเป็นคนคิดไอเดียขึ้นหลังเห็นแคมเปญของสตาร์บัคส์ที่ให้ลูกค้าซื้อกาแฟหนึ่งแก้วเพื่อให้ลูกค้าคนต่อไป จะได้กระตุ้นให้คนเกิดพลังบวกในการแบ่งปันความสุขให้แก่ผู้อื่น” ณชาอธิบายที่มาของโครงการ

​​วิกฤตโควิด-19 คือปัจจัยที่ผลักดันให้คนจำนวนมากตั้งแต่คนธรรมดา หน่วยงานการกุศล หรือภาคธุรกิจต่างๆ มาร่วมกันคิดและทำโครงการสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในชุมชน

ในช่วงแรก ปันอิ่มดำเนินโครงการด้วยการมอบเงินบริจาคให้แก่ร้านอาหารในชุมชนต่างๆ เพื่อให้ร้านเหล่านี้สามารถนำอาหารที่ปรุงขึ้นไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 แบบฟรีๆ วิธีการนี้ทำให้ร้านอาหารยังคงมีรายได้ ส่วนคนที่เดือดร้อนก็มีอาหารไว้กินอิ่มท้อง แต่เมื่อสถานการณ์การติดเชื้อในกรุงเทพฯ เริ่มรุนแรงขึ้น ปาริชาตและณชาจึงเปลี่ยนมาเป็นการนำส่งอาหารแบบเดลิเวอรีจากร้านที่เข้าร่วมโครงการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องกักตัวในชุมชน

นอกจากปันอิ่มแล้ว ยังมีกลุ่มจิตอาสาอื่นๆ อีกที่ช่วยบริจาคอาหารและข้าวของเครื่องใช้ให้แก่ชุมชนในช่วงวิกฤตโรคระบาด ตัวอย่างเช่น เกร็ก เเลงก์ เจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารเม็กซิกันชื่อดัง Sunrise Tacos เกร็กเริ่มโครงการจัดหาอาหารให้แก่ชุมชนคลองเตยตั้งแต่รัฐบาลเริ่มมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรก และร่วมมือกับฟริโซ โปลเดอร์วาร์ท นักธุรกิจชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ก่อตั้งมูลนิธิแบงค็อก คอมมูนิตี้ เฮลป์ (Bangkok Community Help Foundation)

มูลนิธิของทั้งคู่ได้ดำเนินงานด้านบรรเทาทุกข์หลายโครงการ เช่น การปรับปรุงที่พักอาศัยซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม และการให้ความช่วยเหลือด้านการตรวจหาเชื้อกับบริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั่วกรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้พวกเขาเพิ่งจัดบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้แก่คนในชุมชนรวมกว่า 2,000 คน จัดหาเตียงอีก 300 เตียง ให้โรงพยาบาลสนามในโกดังสเตเดียมที่ชุมชนคลองเตย และติดตั้งระบบโทรเวชกรรมไว้สี่มุมในโรงพยาบาลสนามเพื่อให้คนไข้ใช้โทรคุยปรึกษาแพทย์เรื่องอาการเจ็บป่วยของตนเอง

ด้วยพลังของกลุ่มอาสาสมัคร ร่วมกับการบริจาคจากคนหลากหลายเชื้อชาติในประเทศไทย ทำให้มูลนิธิแบงค็อก คอมมูนิตี้ เฮลป์ สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมของตัวเองไปพร้อมกับโน้มน้าวให้หน่วยราชการส่วนท้องถิ่นของกลุ่มเทพฯ เข้ามาช่วยเหลือมูลนิธิในการขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมชุมชนคลองเตยซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองหลวง ผลคือทางมูลนิธิสามารถให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนได้รวมกันกว่า 80,000 คน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ทั่วประเทศไทยก็คือความไม่เป็นระบบของกลุ่มอาสาสมัคร แม้ว่าผู้มีจิตอาสามากมายพร้อมที่จะเสียสละเวลา เงิน และแรงกายแรงใจในการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดระบบการรักษาที่ดีก็ตาม กลุ่มอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละกลุ่มต่างดำเนินการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพียงเฉพาะด้านเท่านั้น เช่น อาหารสำหรับผู้ที่ต้องกักตัวในบ้าน ชุดปฐมพยาบาล หรือถังออกซิเจน แต่ความจริงแล้ว ผู้ป่วยกลับต้องการความช่วยเหลือแบบองค์รวมที่ไม่เพียงตอบสนองความต้องการตามปัจจัยสี่ แต่ยังรวมถึงการรักษาชีวิตให้รอดจากอาการป่วยของโรคระบาดด้วย

สิ่งที่น่าประทับใจคือการได้เห็นคนไทยผูกพันและเป็นห่วงเป็นใยกัน พวกเขาเริ่มจากสังเกตสถานการณ์รอบๆ บ้านหรือในย่านของตัวเองแล้วลงมือให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน

“มันเป็นเรื่องน่าปวดหัวมากๆ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ คือมันมีคอลเซ็นเตอร์เยอะเกินไป หรือกลุ่มในโซเชียลมีเดียก็มีหลายกลุ่มให้ติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือแต่ละอย่าง แล้วคนที่รอคิวรับความช่วยเหลือก็มีไม่น้อย หลายคนต้องรอคิวนานมาก” ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Jitasa.care แพลตฟอร์มออนไลน์ของจิตอาสาไทยเพื่อสนับสนุนข้อมูลและให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 แสดงความเห็น

“มันดูซับซ้อนไปหมดในมุมของผู้ป่วย แล้วความต้องการของพวกเขาเองก็ซับซ้อน เพราะจริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือแค่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” ดร.อนุชิต กล่าวเสริม

ดร.อนุชิต ร่วมกับกลุ่มเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน และคนที่เพิ่งรู้จักกันเป็นครั้งแรกอีกบางส่วน นำความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมศาสตร์ มาจัดตั้งระบบการทำงานให้ Jitasa.care เป็นแผนที่ออนไลน์ที่สามารถตอบโต้ข้อมูลกับผู้ใช้ได้ แผนที่บนเว็บไซต์สามารถให้ข้อมูลและอัปเดตความต้องการช่วยเหลือของผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเริ่มแรกได้ช่วยกลุ่มอาสาสมัครและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในการหาสถานที่สำหรับการทำพิธีฌาปนกิจ เนื่องจากความกลัวที่มีต่อโรคระบาดนี้กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้ในช่วงเวลาที่มีการระบาดมีวัดเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในกรุงเทพฯ ที่รับเผาศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยากจนแทบเป็นไปไม่ได้สำหรับญาติๆ ในการหาสถานที่สำหรับทำพิธีทางศาสนาให้สมาชิกในครอบครัวได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ แอปพลิเคชันนี้จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยการแจ้งพิกัดวัดที่เปิดรับเผาศพและช่วยดำเนินการจนสำเร็จ

“หลังจากนั้นเราก็คิดขึ้นมาได้ว่ายังมีผู้เดือดร้อนและอาสาสมัครอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้ในเรื่องอื่นๆด้วย อย่างการจัดส่งยา อาหาร หรือชุดปฐมพยาบาล ยังมีคนไทยที่มีน้ำใจอีกมากมายที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น” ดร.อนุชิตกล่าว

Jitasa.care โฉมใหม่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดระลอกรุนแรงที่สุด ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักและมีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจนเกือบเต็มในหลายๆ แห่ง ในครั้งนี้แพลตฟอร์มได้รับการปรับปรุงให้ดีและครอบคลุมยิ่งขึ้นเพื่อประสานกลุ่มอาสาสมัครให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นถังออกซิเจนไปจนถึงอาหาร ในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการแต่ไม่อาจหาได้จากช่องทางอื่นๆ

วิธีการใช้งานแพลตฟอร์มนี้คือให้ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือเปิดแผนที่ในระบบขึ้นมาแล้วคลิกที่ปุ่ม ‘ขอความช่วยเหลือ’ หลังจากนั้นระบบจะแสดงตำแหน่งที่อยู่ ความช่วยเหลือที่ต้องการ และสถานะการรักษาของผู้ป่วย ให้กลุ่มอาสาสมัครได้เห็นและเข้าช่วยเหลือด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามที่สามารถทำได้ ณ ขณะนั้น ภายในสัปดาห์แรกหลังเปิดให้ใช้บริการ มีอาสาสมัครลงทะเบียนในระบบถึง 10,000 คน และยอดการเข้าใช้งานในเว็บไซต์เคยพุ่งสูงสุดเกิน 1 ล้านครั้งต่อวัน ซึ่งอาสาสมัครที่เข้าร่วมหลายๆ คนไม่ได้ร่วมงานกับกลุ่มจิตอาสาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานด้านนี้ด้วยซ้ำ ปรากฏการณ์นี้สร้างความประหลาดใจแก่ทีมงานจิตอาสาดูแลไทยอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่คิดว่าแพลตฟอร์มนี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่สามารถเชื่อมโยงคนจากหลายๆ พื้นที่ให้รวมตัวกันเป็นชุมชนได้ในช่วงเวลาที่ประเทศยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่ง ดร.อนุชิตมองว่าสิ่งนี้เป็นอุปนิสัยที่โดดเด่นของคนไทย

“สิ่งที่น่าประทับใจคือการได้เห็นคนไทยผูกพันและเป็นห่วงเป็นใยกัน พวกเขาเริ่มจากสังเกตสถานการณ์รอบๆ บ้านหรือในย่านของตัวเองแล้วลงมือให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน หลายครั้งที่คนเหล่านี้เข้ามาในระบบ Jitasa.care เพื่อตรวจเช็กชุมชนรอบบ้านของตัวเอง หลังพบว่า ‘คนใกล้บ้านฉันกลุ่มนี้อาจจะต้องการอาหารก็ได้นะ’ พวกเขาก็จะออกไปดำเนินการช่วยเหลือทันที” ดร.อนุชิตกล่าว

‘เส้นด้าย’ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มจิตอาสา ซึ่งก่อตั้งโดยคริส โปตระนันทน์ และกลุ่มอาสาสมัครจำนวนหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์แบบเดียวกันและใช้แพลตฟอร์มของ Jitasa.care ในการขับเคลื่อนโครงการของตัวเอง อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะใช้ระบบแผนที่และเทคโนโลยีดาวเทียมของ Jitasa.care ทีมงานเส้นด้ายสามารถรวมกลุ่มอาสาสมัครได้แล้วมากมาย โดยแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะด้านแตกต่างกันไป ตั้งแต่แพทย์ คนขับรถ หรือข้าราชการ ซึ่งทุกสาขาวิชาชีพนี้ช่วยเหลือกันเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของผู้ป่วยโควิด-19

โครงการนี้ได้กระแสตอบรับอย่างท้วมท้น ในวันแรกมีผู้ป่วยถึง 10 คนที่ติดต่อขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธาณสุขได้หรือไม่มีญาติคอยดูแล หลังจากนั้นจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม กลุ่มเส้นด้ายได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านทั้งทางโทรศัพท์และกลุ่มที่ตั้งในเฟซบุ๊กเป็นจำนวนหลายพันครั้งต่อวันเลยทีเดียว

ในสถานการณ์ปกติ มีองค์กรจิตอาสาให้ความช่วยเหลือชุมชนที่เข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ อยู่แล้วมากมายทั่วประเทศไทย แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มองค์กรเหล่านี้จึงต้องหาวิธีปรับตัวเพื่อให้ความช่วยเหลือทุกความต้องการได้ทันท่วงที

มูลนิธิกระจกเงา เป็นองค์กรพัฒนาสังคมที่รู้จักในไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยทำงานในประเด็นการต่อต้านการค้ามนุษย์ การสนับสนุนด้านการศึกษาด้วยการบริจาคคอมพิวเตอร์และหนังสือ รวมถึงการบริจาคเสื้อผ้าให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

‘โครงการผู้ป่วยข้างถนน’ เป็นตัวอย่างโครงการของมูลนิธิกระจกเงาที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาดได้เป็นอย่างดี โดยให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลแก่คนไร้บ้านและผู้ป่วยจิตเวช ในขณะเดียวกัน ‘โครงการจ้างวานข้า’ ก็จัดอบรมทักษะพื้นฐาน เช่น การทำความสะอาดบ้าน แก่คนไร้บ้านเพื่อให้พวกเขานำไปใช้ในการทำงานเพื่อสร้างรายได้แก่ตัวเองต่อไป

สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ทำงานด้านสังคมมาอย่างยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือชุมชนวัยรุ่นต่างๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2517 โดยมีชัย วีระไวทยะ อดีตนักการเมืองและนักกิจกรรม ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยช่วงหนึ่งว่า ‘มิสเตอร์ถุงยาง’ จากการรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการคุมกำเนิดอันโด่งดัง โครงการล่าสุดขององค์กรนี้คือการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนในหลายๆ โรงเรียน เช่น โรงเรียนไม้ไผ่ จังหวัดบุรีรัมย์

“นักเรียนในโรงเรียนนี้อุทิศเวลาของตัวเองแลกกับการศึกษา เมื่อนักเรียนไม่มีภาระเรื่องค่าเล่าเรียนและค่าอาหารกลางวัน พวกเขาก็จะมีแรงกระตุ้นในการทำงานเพื่อตอบแทนสังคม” ธนัช เต็งอำนวย ผู้ประสานงานของโรงเรียน อธิบาย

ในระหว่างที่รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตและเข้าเรียนในโรงเรียนได้เหมือนช่วงเวลาปกติ อย่างไรก็ตามโชคดีที่ส่วนหนึ่งของพื้นที่ 100 ไร่ของโรงเรียนแห่งนี้ประกอบไปด้วยสวนและไร่ผักผลไม้

“เราคุยกับนักเรียนว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเหลือคนในหมู่บ้านรอบโรงเรียน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากลูกหลานหรือญาติๆ ในตัวเมือง แต่เนื่องจากหลายคนตกงาน จึงไม่มีเงินส่งมาให้คนในหมู่บ้านเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา” ธนัชเสริม

ดังนั้น กลุ่มนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้จึงหันมาสนใจแนวคิดการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน ด้วยการระดมทุนกันนำเงินไปปลูกกล้วยและมะรุม เพื่อเป็นอาหารและแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ในขณะเดียวกันก็สร้างโครงการ ‘ยิ่งให้ ยิ่งได้’ เพื่อแจกจ่ายพืชผัก หน้ากากอนามัย และผลิตภัณฑ์เจลทำความสะอาดไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง อีกทั้งเปิดระดมทุนเพื่อนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์แล้วนำไปมอบให้โรงพยาบาลในชุมชน ซึ่งโครงการเหล่านี้นำไปสู่แนวคิดสุดสร้างสรรค์ในการขนส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ

“นักเรียนบางคนมีใบอนุญาตการบินโดรน เราจึงให้พวกเขานำมาประยุกต์ใช้ในการส่งสินค้าไปยังหมู่บ้านต่างๆ แต่ครูหลายๆ คนก็ยังต้องขับรถตามโดรนไปด้วย เพื่อดูให้แน่ใจว่าไม่มีอุปสรรคใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างขนส่ง” ธนัชอธิบายอย่างติดตลกเกี่ยวกับไอเดียนี้ให้ฟัง

“แต่มันก็ทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของกิจการและภูมิใจกับโครงการที่ตัวเองทำ”

แม้จนถึงตอนนี้จะยังไม่มีใครรู้ชัดว่าวิกฤตโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด แต่เมื่อมองลงไปในระดับชุมชนหลายแห่งของไทยแล้วก็นับว่ามีเรื่องน่าชื่นใจให้พบเห็น คนในชุมชนต่างพยายามปรับตัวไม่ใช่แค่ให้มีชีวิตรอด แต่หลายแห่งสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดีกว่าเก่า ซึ่งต้องขอบคุณองค์กรและโครงการจิตอาสาต่างๆ ที่ได้ช่วยกันมอบความหวังและบรรเทาความเดือดร้อนให้คนที่ต้องการจริงๆ

ภาพของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมนี่เองคือภาพที่งดงาม เป็นสิ่งสะท้อนว่าการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันแบ่งปันและเกื้อกูลให้กันนั้นมีความหมายและสำคัญต่อการสร้างสังคมที่ดีสำหรับทุกคนเพียงใด