HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ADVANCE NOTICE


For Art's Sake

บรรณาธิการ : ธนกร จ๋วงพานิช

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ‘ศิลปะ’ เป็นคำที่คนนิยมหรือรู้สึกดีด้วย แต่มักไม่เห็นประโยชน์

เพราะบทบาทของศิลปะ ดูเหมือนจะถูกวาดให้เป็นความเหลือเฟือ ที่สังคมต่างๆ จะมีก็ต่อเมื่อเสร็จภารกิจอัน ‘จำเป็น’ อื่นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการก่อร่างสร้างธุรกิจหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ

บ่อยครั้ง เรื่องของศิลปวัฒนธรรมจึงมักเป็นงบลงทุนก้อนสุดท้ายและเป็นงบที่ถูกตัดก้อนแรกของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากลองนึกสภาพสังคมที่ปราศจากศิลปะ เช่น โบสถ์ที่ปราศจากจิตรกรรมฝาผนัง วงการบันเทิงที่ปราศจากดนตรี วงการหนังสือที่ปราศจากวรรณกรรม หรือห้างร้านที่ขายแต่ปัจจัย 4 โล้นๆ ไม่ปรุงแต่งแล้ว ก็ไม่ยากที่เห็นว่า หากพรากศิลปะออกเสียอย่าง เศรษฐกิจและสังคมก็แทบไม่เหลืออะไร

เรื่อง Creative Economy ที่จะสร้างความร่ำรวยแตกต่างยิ่งไม่ต้องพูดถึง

โชคดีที่คนทำงานศิลปะ มักไม่ได้เอาเงินทองสนับสนุนเป็นตัวตั้ง มากเท่ากับความต้องการส่งมอบความคิดปรุงแต่งของตนให้ปรากฏ ดังที่แสดงในเรื่องราวของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ (‘The Master Stroke’) ผู้กล่าวว่าศิลปินทำงาน “เสมือนนกที่ร้องไพเราะกังวานหวาน มันไม่ได้ร้องเพื่อแลกข้าว หรือลูกไม้ไว้ยังชีพเป็นอาหาร ไม่ได้ร้องเพื่อให้คนได้ยินทั่วแล้วสรรเสริญเยินยก แต่มันร้องด้วยสัญชาติกำเนิด เพื่อความเบิกบานใจของมันเอง”

ดังนั้นแม้ในขณะที่ประเทศอาจไม่ได้หล่อเลี้ยงศิลปะ แต่ประเทศก็ยังมีศิลปะและศิลปินหล่อเลี้ยงมาโดยตลอด

Optimise ฉบับนี้จึงอยากนำเสนอเรื่องราว ‘เพื่อศิลป์’ หรือ For Art’s Sake ไม่ว่าจะโดยผ่านเรื่องราวของศิลปินโดยตรง อาทิ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อาจารย์องอาจ สาตรพันธุ์ (‘A Humble Statement’) หรือคุณก้อ-ณฐพล ศรีจอมขวัญ (‘Behind the Groove’) ตลอดจนผู้ที่ได้ใช้ศิลป์ในการสร้างสรรค์และประกอบอาชีวะ ไม่ว่าจะในวงการกาแฟ (‘A Roast Supreme’) หรือในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเชียงราย (‘The Hills Are Alive’) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรับรู้และตระหนักในคุณค่าของศิลปะที่สุดท้ายแล้วเป็นมากกว่าตัวศิลปะไปไกล

เราน่าจะเห็นร่วมกันได้ว่า ในมุมมองของประวัติศาสตร์อันยืนยาว ประเทศไทยคงมิได้เป็นที่ร่ำลือจดจำเพียงด้วยตัวเลขจีดีพีหรืออำนาจทางการทหาร แต่ด้วยเอกลักษณ์และตัวตนของเราในฐานะอารยธรรม ดังที่จอห์น รัสกิน นักวิจารณ์ศิลปะผู้ทรงอิทธิพลของยุควิคตอเรียนเคยกล่าวไว้ว่าชาติต่างๆ ย่อมถูกตัดสินโดยบัญชี 3 เล่ม บัญชีเล่มที่หนึ่งคือ บัญชีของสิ่งที่ได้ทำ เล่มที่สอง คือบัญชีของถ้อยคำที่ได้จดจาร และเล่มที่สามคือบัญชีของศิลปะที่ชาตินั้นๆ ได้สร้างสรรค์ขึ้น หากสุดท้ายแล้ว รัสกินบอกว่าบัญชีเล่มที่น่าเชื่อถือที่สุดคือบัญชีเล่มที่สาม โดยให้เหตุผลไว้อย่างจับใจว่า

“เพราะการกระทำมากแสนยาน่าเกรงขามของชาติอาจเป็นเพียงแค่ผลพวงของโชคชะตาชั่วครั้งชั่วคราว และถ้อยคำอันวิจิตรอาจเป็นเพียงผลงานของกุลบุตรเปี่ยมอัจฉริยภาพไม่กี่คนในชาติ มีเพียงศิลปะเท่านั้นที่เป็นสิ่งสะท้อนพรสวรรค์และความรู้สึกอันเป็นสามัญแห่งเผ่าพันธุ์”